ภาพรวมเศรษฐกิจเม็กซิโกกับผลกระทบของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2008-2009ประเทศเม็กซิโก เป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ OECD และเป็นเศรษฐกิจอันอับที่ 13 ของโลก โดยมีผลผลิตแห่งชาติรวม 1,134 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5 เท่าของผลผลิตรวมของไทย) และมีรายได้ต่อหัวสูงสุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา แต่เศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโกพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ นั่นคือ ร้อยละ 90 ของการส่งออก และถึงแม้ว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจเม็กซิโกจะได้พัฒนาพื้นฐานให้เข้มแข็งขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์การเงินของเม็กซิโกในปี 1994-5 พื้นฐานเศรษฐกิจของเม็กซิโกยังมีจุดอ่อนหลายประการอื่น ๆ อันได้แก่
- การพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบเป็นรายได้สำคัญของงบประมาณแผ่นดิน การผันผวนของค่าน้ำมันได้มีผลทำให้รัฐบาลเม็กซิโกประเมินรายได้และงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผิดพลาดไปในปีที่ผ่านมา
- แหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศอันดับสองของเม็กซิโก ได้แก่ เงินส่งกลับจากต่างประเทศจากแรงงานที่ไปทำงานในสหรัฐฯ ย่อมลดลงในปริมาณมากเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซา
- ค่าเงินของเม็กซิโกยังคงมีความอ่อนไหวต่อภาวะตลาดอย่างสูง ถึงแม้ว่าจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ อันเป็นผลให้ค่าเงินเปโซมีมูลค่าลดลงเกือบหนึ่งส่วนสามของมูลค่าเดิม โดยในช่วงปลายปี 2008 อัตราแลกเปลี่ยนตกจากที่เคยแลกได้ 11-12 เปโซต่อเหรียญฯ เป็น 15 เปโซต่อเหรียญฯ
- ผลกระทบของการระบาดไข้หวัดหมู N1H1 โดยมีการประเมินผลเสียหายจากการปิดธุรกิจร้านอาหารและหน่วยงานรัฐบาลระยะเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงเดือนเมษายน 2009 รวมทั้งผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยว ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เศรษฐกิจเม็กซิโกจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารกลางของเม็กซิโกคาดว่า เศรษฐกิจของเม็กซิโกจะหดตัวในปี 2009 ประมาณร้อยละ 5.8 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่เม็กซิโกประสบวิกฤตการณ์การเงิน tequila crisis ในปี 1995 ซึ่งในปีนั้น เศรษฐกิจได้หดตัวสูงสุดที่อัตราร้อยละ 6 ทั้งนี้ หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ลงความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของเม็กซิโกคงจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนไตรมาสที่สองของปี 2010
โอกาสการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 569 ล้านคน ผ่านการเจาะตลาดสำคัญของเม็กซิโก 109 ล้านคนโดยที่เม็กซิโกได้พัฒนาเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดต่อการค้าและการลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากมีอุดมการณ์ส่งเสริมการค้าเสรีอย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลประธานาธิบดี Zedillo ได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (NAFTA) กับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ โดยบริษัทต่างชาติระดับโลกสำคญ ๆ จากสหรัฐฯ ยุโรป อเมริกาใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีฐานการผลิตการค้าในประเทศเม็กซิโกเม็กซิโก
วิกฤตการณ์การเงินครั้งนี้ น่าจะส่งผลผลักดันให้รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องค้นหาตลาดการส่งออกและนำเข้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐบาลของไทยและเม็กซิโก ควรเป็นฝ่ายนำภาคเอกชน ให้มีการกระจายตลาด ผลักดันให้ขยายปริมาณการค้าระหว่างไทยและเม็กซิโก และการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน โดยนอกจากการส่งเสริมการค้าเพียงอย่างเดียว ควรแสวงหานักลงทุนเม็กซิกันไปลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการชี้แนะให้นักลงทุนไทยที่พอมีกำลังอาจพิจารณาเข้าซึ้อกิจกรรมของเม็กซิโก (merger & acquisition) เพื่อปูฐานการผลิตเพื่อเจาะเข้าตลาดได้ทั้ง ตลาดสหรัฐฯ 300 ล้าน ตลาดเม็กซิโก 109 ล้าน และตลาดละตินอเมริกาอีก 569 ล้านคน
ตลาดหลายขนาด กลุ่มผู้บริโภคสินค้าที่หลากหลาย
ประเทศเม็กซิโกมีประชากรจำนวน 109 ล้านคน มีรัฐและเมืองที่เป็นศูนย์กลางอุตสหากรรมหลายแห่ง และรายได้ของประชากร มีความแตกต่างกันมาก ขนาดมีเศรษฐีเงินพันล้านเหรียญฯ หลายคน ในขณะที่มีคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอการยังชีพเป็นหลายสิบล้านคน การเจาะตลาดเม็กซิโกจึงควรคำนึงการหาตลาดเป้าหมายที่เหมาะสม โดยมีการวางแผนการตลาดที่แตกต่างกันสำหรับ
- ตลาดใหญ่ประเภทบริษัทข้ามชาติ ซึ่งสามารถทำการค้ากับบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศและมีเครือข่ายที่ประเทศไทย เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย
- ตลาดที่ต้องเข้าร่วมกับผู้ที่มีอำนาจผูกขาดหรือต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจตลาดสูง เช่น กลุ่มธุรกิจ Carso ของนาย Carlos Slim
- ตลาดชนชั้นกลาง ทั้งที่มีรายได้สูงกลุ่มหนึ่ง กับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่สามารถวางขายสินค้าได้ตามห้างสรรพสินค้า กับร้านค้าบูติก
- และ ตลาดผู้มีรายได้น้อยแต่ขายได้ปริมาณมาก ที่มีเครือข่ายการวางตลาดในหมู่ธุรกิจขนาดย่อย ซึ่งมีโครงการสนันสนุนของรัฐบาลรองรับที่เรียกว่า PyMEs
การท่องเที่ยวเม็กซิโก ตลาดที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับผู้นำตลาดการท่องเที่ยวกลุ่มละตินอเมริกา นั่นคือ ประเทศสเปน
ภาคการท่องเที่ยวของเม็กซิโก เป็นภาคที่นำเข้ารายได้ต่างประเทศเป็นอันดับสามของประเทศรองจากน้ำมันและเงินส่งกลับจากต่างประเทศ และเป็นภาคการผลิตที่มีส่วนแบ่งเป็นร้อยละ 8 ของผลผลิตรวมประชาชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีประมาณ 20 ล้านคน โดยมีอัตราขยายตัวประมาณปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันดับ 10 ของโลก
รัฐบาลของเม็กซิโกได้เริ่มแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เมื่อปี 1973 โดยการแต่งตั้งกองทุน FONATUR (www.fonatur.gob.mx) ซึ่งดำเนินกิจการในลักษณะรัฐวิสาหกิจ ที่ได้มีบทบาทในการพัฒนาเขตท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเม็กซิโก เช่น ฝั่งชายทะเล Cancún, Los Cabos, Ixtapa, Loreto และอ่าว Huatulco ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงกับ FONATUR โดยองค์กรดังกล่าวสามารถจัดหาแหล่งลงทุนให้กับนักลงทุนในต้นทุนต่ำที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเม็กซิโก
นอกจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวเม็กซิโกได้แก่ บริษัทการบินภายในประเทศสำคัญสองบริษัท คือ Mexicana และ Aeroméxico และบริษัทผู้ที่ครอบครองเครือข่ายโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโก อันได้แก่ Grupo Posadas ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนเม็กซิกันที่มีเครือโรงแรมที่มีชื่อว่า Fiesta Americana และกลุ่ม Sol Meliá ของประเทศสเปน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศสเปนเป็นผู้ลงทุนสำคัญในภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ เท่านั้น
ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเม็กซิโก จึ่งเป็นภาคที่น่าสนใจสำหรับการขยายความร่วมมือ และการลงทุน เนื่องจากเป็นภาคที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ และหน่วยงานที่เป็นตัวกลางเอื้ออำนวยความสะดวกในการลงทุนดังกล่าวข้างต้น โดยมีศักยภาพเป็นสะพานเชื่อมไปยังตลาดการท่องเที่ยวของสเปนและกลุ่มละตินอเมริกาทั้งหมด
สินค้าไทยที่มีศักยภาพเจาะเข้าตลาดเม็กซิโกได้เพิ่มขึ้น
- ตลาดการส่งออกข้าวหอมมะลิ ไปยังประเทศเม็กซิโก ยังพอมีช่องทางขยายตัวได้อีกมาก ถึงแม้ว่าเม็กซิโกจะมีความสามารถในการผลิดข้าวได้เอง และนิยมการบริโภคข้าวแบบ American Long Grain ที่แข็งกว่าข้าวหอมมะลิ และลักษณะการปรุงแต่งอาหารเม็กซิกันจะเหมาะกับข้าว long grain มากกว่า แต่รสนิยมของชนชั้นกลาง ที่ได้เดินทางไปต่างประเทศเริ่มมีรสนิยมการบริโภคใหม่ ๆ เห็นได้จากการที่ร้านอาหาร ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และเปรู ได้รับความนิยมสูงในขณะนี้
อุปสรรคที่ต้องฝั่นฝ่าสำหรับตลาดข้าวไทย ได้แก่ มาตรฐานสุขลักษณะที่กำหนดให้มีการรมควันฆ่าแมลงและมอดถึง 2 ครั้ง อันเป็นผลทำให้ผู้นำเข้าข้าวสหรัฐฯได้เปรียบกว่า และผลกำไรเป็นของผู้นำเข้าสหรัฐฯ มากกว่าผู้นำเข้าเม็กซิโกโดยตรง ดังนั้น ผู้ส่งออกข้าวไทยมายังตลาดข้าวเม็กซิโก จึงควรได้รับการกระตุ้นให้เห็นศักยภาพของตลาดเม็กซิโกเป็นพิเศษ และควรได้รับการชี้แนะและความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการส่งออกในการแสวงหาผู้ที่สนใจตลาดข้าวเม็กซิโกอย่างใกล้ชิด
- การส่งออกผลิตภัณฒ์อาหาร รวมทั้งการบรรจุภัณฑ์ มีลู่ทางการขยายตลาดใหม่ โดยประเทศเม็กซิโกไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเปิดการค้าเสรี ได้ละเลยการลงทุนในภาคการเกษตร อุตสหากรรมการเกษตร การเพาะปลูกผักและผลไม้ ล้วนแต่ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง เป็นผลให้เกษตรกรรายเล็กค่อย ๆ หายตัวไป ภาคการเกษตรจึงเป็นภาคที่เหมาะกับการลงโดยพ่อค้านักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์การตลาดที่กว้างขวางที่ประสงค์จะหาตลาดใหม่
ในเขต Yucatán และ Chiapas ซึ่งเป็นภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก มีลักษณะภูมิอากาศเหมือนประเทศไทย มีศักยภาพการผลิตผักและผลไม้ ได้ทั้งเพื่อส่งขายในตลาดภายในที่ค่อยข้างใหญ่ของเม็กซิโก และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสำคัญสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิทางภาษีตามเขตการค้าเสรี NAFTA และเพื่อเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางที่มีชายแดนเชื่อมโยงได้ทางถนน อันได้แก่ ประเทศกัวเตมาลา เอลซาวาดอร์ คอสต้าริกา ฮอนดูรัส นิคารากัว ปานามา และเบลิซ อีกทั้ง สามารถเป็นหัวหอกการเจาะเข้าตลาดอเมริกาใต้ ที่มีความสัมพันธ์ที่มีวัฒนธรรม รสนิยมใกล้ชิดกับของเม็กซิโก เนื่องจากใช้ภาษาเสปนร่วมกัน มีความตกลงการค้าร่วมกันหลายรูปแบบ
- ภาคสินค้าอื่น ๆ ที่ศักยภาพสำหรับการส่งออก หรือร่วมลงทุนระหว่างไทยและเม็กซิโก ได้แก่ ภาคการสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติ รวมทั้งการบริการอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ซ ภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่และเครื่องยนต์ สำหรับรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดย่อม รวมทั้ง เครื่องจักรระดับกลาง เช่นเครื่องจักรการเกษตร เครื่องจักาสิ่งทอ เครื่องจักรอุตสาหกรรมพลาสติก ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ มีผลทำให้ผู้ที่ไม่สามารถแข่งขันได้เริ่มขายโรงงาน จึงมีโอกาสการเข้าซื้อกิจกรรมที่ดำเนินงานมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นวิธีลัดในการเข้าหาลูกค้า ซึ่งธุรกิจเดิมมีอยู่แล้ว การลงทุนไม่ต้องเริ่มต้นจากการก่อสร้างโรงงานใหม่
- กิจการขนาดกลางและย่อม รวมทั้งแฟรนไชส์ เป็นตลาดที่น่าใจโดยในขั้นแรก น่าจะมีตัวแทนไทยมาร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในเม็กซิโก เช่น งานแสดงเครื่องเขียน (stationary) เครื่องเรือน และงานแสดงสินค้าของขวัญ
ปัญหาอุปสรรคต่อการเจาะตลาด
ในระดับความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ยังขาดความสัมพันธ์อันความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับเม็กซิโก ยกตัวอย่างเช่น การขาดความตกลงการเก็บภาษีซ้อน การไม่มีการเปิดช่องทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับเม็กซิโก ไม่มีหอการค้าทวิภาคี ผู้แทนการค้าไทยมองข้างการเดินทางมาประเทศเม็กซิโกทั้ง ๆ ที่เป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับและสำคัญสำหรับสหรัฐฯ
ในระดับธุระกิจ ปัญหาหลัก คืออุปสรรคด้านภาษา เนื่องจากประเทศเม็กซิโกใช้ภาษาเสปนิซเป็นหลัก การกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยมีความสนใจระดมหาบุคคลากรที่ความถนัดด้านภาษาเสปนนิซ จะเป็นการวางรากฐานการเข้าถึงตลาดใหญ่ที่นับวันจะเพิ่มความสำคัญในอนาคต แม้กระทั่งประเทศจีนเอง ก็เข้ามาหาช่องทางธุรกิจในประเทศเม็กซิโกและกลุ่มละตินอมเริกา นักธุรกิจไทยจึงอาจเกาะหลังธุรกิจจีนเข้าตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงนี้ได้
อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่ กฏระเบียบที่สลับซับซ้อนและหลายหลายที่ต้องสร้างความคุ้นเคยใหม่ สร้างความจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเม็กซิกัน หรือต้องจ้างบริษัทเม็กซิกันเป็นตัวกลางการค้าการลงทุน ในทั้งในระดับธุรกิจไหญ่ เพื่อให้มีผลทางการเมือง และในระดับธุรกิจขนาดกลางและย่อมเพื่อเข้าตลาดได้อย่างกว้างขวาง