Google Website Translator

Friday, July 30, 2010

Thai company (Lenso) exhibit at Automechanika Mexico

บริษัท Lenso ออกงานแสดงสินค้า Automechanika Mexico


บริษัท Lenso Wheel Co. Ltd ผู้ผลิตล้อแม็กซ์ไทย ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Paace Automechanika Mexico ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฏาคม 2553 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ งานแสดงสินค้าดังกล่าวเป็นงานแสดงสำหรับสินค้า after market สำหรับรถยนต์ จัดโดยบริษัท Messe Frankfurt เป็นครั้งที่ 12 มีบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมงานทั้งหมด 660 บริษัท ที่มาจากกว่า 20 ประเทศ มีพื้นที่ของงานแสดงฯ รวม 9,600 ตารางเมตร เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ในงานฯ เป็นของบริษัทเม็กซิกัน และมีส่วนหนึ่งที่จัดให้เป็นบริเวณผู้แสดงสินค้าจากประเทศจีน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้แสดงจากประเทศไต้หวัน นอกจากนี้แล้ว มีบริษัทที่เข้าร่วมการแสดงสินค้าที่มาจากประเทศอาร์เจนตินา บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอร์มัน ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี มาเลเซีย ปานามา โปแลนด์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สเปน ไทย ตุรกี สหรัฐฯ และอังกฤษ

บริษัท Lenso เป็นผู้ผลิตล้อแม็กซ์ประเภทอัลลูมิเนียมอัลลอยด์ ยี่ห้อที่นำตลาดในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2533 และมีการส่งออกล้อแม็กซ์ไปประเทศต่าง ๆ ประมาณ 60 กว่าประเทศ ปริมาณการขายทั่วโลกประมาณ 400,000 วงต่อปี

การมาแสดงสินค้าของ Lenso ในงานแสดง Automechanika ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อโฆษณายี่ห้อ Lenso และเพื่อการค้นหาตัวแทนจำหน่ายในเม็กซิโก ได้มีธุรกิจเม็กซิกันทั้งรายใหญ่และรายย่อนแสดงความสนใจในตัวสินค้ามากพอสมควร และเป็นที่สังเกตว่า ยี่ห้อ Lenso เป็นที่รู้จักของคนที่มาสอบถามโดยมีความเข้าใจกันว่า สินค้าดังกล่าวมีการขายในเม็กซิโกแล้ว

บริษัท Lenso ไม่ได้ประสบปัญหาการส่งสินค้ามาออกงานหรือเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้างาน หรือเกี่ยวกับการจัดบูท แต่เมื่อถึงเวลาการสิ้นสุดงาน พบปัญหาการนำสินค้าออกจากงาน เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้รับแจ้งจากผู้จัดล่วงหน้าว่า ไม่สามารถทิ้งชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการไว้ในเม็กซิโก ทั้งนี้ บริษัท Lenso ไม่ต้องการส่งชั้นที่ได้มาประกอบติดตั้งเป็นตู้โชว์เพื่อโชว์ล้อแม็กซ์ในงาน ผู้จัดงานงานแสดงฯ ได้แจ้งว่าจะต้องมีการเสียภาษีสำหรับรายการทุกชิ้นที่จะไม่มีการ re-export รวมทั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการทำลายอีกด้วย

ผู้จัดงาน Paace Automechanika ได้แถลงข่าวในการเปิดงานแสดงฯว่า ผู้จัดงานฯมีความประสงค์จะรณรงค์การปราบการปลอมแปลงสินค้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากได้มีผลการศึกษาที่แสดงว่า ร้อยละ 5 ของตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ในเม็กซิโก มีการขายสินค้าปลอมแปลง สินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ปลอมแปงกันมากได้แก่ ปั้มน้ำ คลัช และเพลา เป็นต้น มีการนำเข้ามาจากจีนเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนมาจากประเทศฟิลิปินส์ สินค้าปลอมแปลงจะขายถูกกว่าของจริงราว ๆ ครึ่งหนึ่งของราคาของแท้ แต่มักจะไม่มีความคงทนเท่ากับของแท้ การปลอมแปลงสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ได้สร้างความสูญเสียเฉพาะกับผู้ผลิตอย่างเดียว แต่มีผลกระทบต่อธุรกิจร้านซ่อมรถยนต์รายย่อย ๆ ในเม็กซิโก ซึ่งมีประมาณ 40,000 ราย และเป็นภาคธุรกิจที่จ้างงานประมาณ 60,000 คน ผู้จัดงานแสดงสินค้ฯ ได้เปิดจุดบริการรับคำร้องและให้คำแนะนำด้านกฏหมายภายเพื่อต่อต้านการปลอมแปลงสินค้าในงาน หากมีการแจ้งว่าผู้ออกงานรายใดได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของสินค้า สามารถแจ้งคำร้องได้ ผู้จัดงานฯ จะดำเนินการในขั้นแรกห้ามธุรกิจนั้น ๆ เข้าร่วมงานแสดงฯ ต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า การขายสินค้าปลอมแปลงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเจาะจงสำหรับภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์อย่างเดียว แต่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาสินค้าปลอมแปลงหรือตลาดมืดเช่นกัน มีภาคอื่น ๆ ที่มีปัญหาการปลอมแปลงสินค้าใหญ่ คือภาคสิ่งทอ เครื่องหนังหรือกระเป่ายี่ห้อ แว่นตา ภาคการผลิตพลาสติก การจำหน่ายวีดีโอและดีวีดีภาพยนตร์ เป็นต้น

เมื่อได้ทำการสอบถามผู้ที่เข้าและชมบูทของ Lenso ในงานแสดงฯ ปรากฏว่ามีผู้ที่รู้จักล้อแม็กซ์ Lenso ค่อนข้างกว้างขวาง และมีหลายรายที่ตอบว่า ได้เคยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว โดยไม่รู้ว่าสินค้านี้ไม่มีการขายในเม็กซิโกมาเป็นเวลาสองปีแล้ว จึงคาดว่าสินค้าล้อแม็กซ์ที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นของ Lenso ที่ขายกันอยู่ในตลาดเม็กซิโกในปัจจุบันคงเป็นสินค้าปลอมแปลงเป็นส่วนใหญ่

บริษัท Lenso ได้แจ้งว่า เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ได้มอบให้บริษัท Wheels and Tires Distributor ในสหรัฐฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งในสหรัฐฯ และเม็กซิโก แต่ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวได้นำแบบสินค้าไปทำสินค้าปลอมมาจากประเทศจีนแล้วนำมาอ้างขายในชื่อ Lenso จึงได้หยุดการส่งสินค้าให้กับบริษัทดังกล่าว แต่บริษัทนี้ยังคงขายล้อแม็กซ์ในชื่อ Lenso ต่อไป

บริษัท Lenso มีลูกค้าสำคัญในเม็กซิโกอีกหนึ่งรายคือ บริษัท CWC ซึ่งอยู่ที่เมือง Monterrey ในภาคเหนือของเม็กซิโก ซึ่งสั่งล้อจาก Lenso เพื่อทำการขายในยี่ห้อของบริษัทดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า Nano โดยบริษัทดังกล่าวได้สร้างตลาดให้กับยี่ห้อของตนติดตลาดแล้ว จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนจำหน่ายยี่ห้อ Lenso ได้

เมื่อทำการค้นหาโดย google mexico (ใช้คำค้น rines lenso) แล้วได้พบว่ามีร้านหรือเวปไซท์ที่ประกาศขายล้อแม็กซ์ยี่ห้อ Lenso ในเม็กซิโกจำนวนมาก โดยพบว่ามีร้านตกแต่งรถอย่างน้อยหนึ่งร้านที่ประกาศขายล้อแม็กซ์ยี่ห้อ Lensoในร้านอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งได้แก่
http://www.nipponpower.com.mx/foro/showthread.php?t=76119 และมีการประกาศขายล้อแม็กซ์ Lenso ผ่านเว็ปไซท์จำนวนมาก เช่น

http://www.carworldcenter.com.mx/ (ราคาขาย 11,000 เปโซ สำหรับขนาด 18 นิ้ว มีการขายหลายขนาด)
http://listado.mercadolibre.com.mx/Rines-18-Katana-LENSO-NINJA (ราคาล้อแม็กซ์ Lenso ใช้แล้ว ราคา 1,700/2,700 เปโซต่อล้อ)
 (ขายพร้อมล้อยาง ชุดละ 17,000 เปโซ)

หน่วยงานและหน้าเวปที่เกี่ยวข้อง:

Messe Frankfurt Mexico S. de R.L. de C.V.
Leibnitz # 162 Col. Anzures 
11590 Mexico D.F.
Tel.:      +52 (55) 5545 4488 
Fax.:     +52 (55) 5545 0947
E-Mail: info@mexico.messefrankfurt.com
Web:    http://www.paaceautomechanika.com/

Lenso Wheel Co. Ltd.
111/1 Moo 9 Wellgrow Industrial Estate,
Bangna-Trad Road, KM 36, Bangwua, Bangpakong,
Chachoengsoa 24180 Thailand
Tel: (+66) 38-571-700-2
http://www.lensowheel.com/
http://www.indicadorautomotriz.com.mx/fabricaweb/?p=2508
http://www.portalautomotriz.com/

Wednesday, July 21, 2010

Pescamar

งานแสดงสินค้าอาหารทะเล Pescamar


งานแสดงสินค้าอาหารทะเล Pescamar ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ที่อาคาร World Trade Center กรุงเม็กซิโก เป็นงานที่ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐของเม็กซิโก (Consejo Mexicano de Promoción de los Productos Pesqueros y Acuícolas - COMEPESCA) โดยได้จัดควบคู่กันในพื้นที่เดียวกันกับงานแสดง Expo Restaurantes 2010 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เน้นเผยแพร่สินค้าให้กับธุรกิจร้านอาหารและบริการเกี่ยวกับอาหารอื่น ๆ

งานแสดงสินค้า Pescamar จัดงานมาตั้งแต่ปี 2550 และเป็นงานที่สนับสนุนให้ธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายปลีก ซุปเปอร์มาร็เก็ต และโรงแรม เพื่อเอื้ออำนวยการสั่งซื้อสินค้าอาหารทะเลได้โดยตรงกับผู้ผลิตหรือผู้ขายส่งสินค้าอาหารทะเล และได้มีผลให้มีการสั่งซื้อสินค้าอาหารทะเลในปีที่ผ่าน ๆ มาแล้วรวม 12,571 ตัน มูลค่าประมาณ 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดสินค้าอาหารทะเลในเม็กซิโกมีมูลค่ารวมประมาณ 120,000 ตันต่อปี โดยแบ่งเป็นตลาดกุ้งมูลค่า 40,000 ตัน และตลาดปลา 80,000 ตันโดยประมาณ

ในปี 2553 นี้ ผู้จัดงานแสดง Pescamar คาดว่าจะมีการสั่งซื้ออาหารทะเลในงานแสดงฯ เพิ่มขึ้นอีก 3.5 ตัน โดยมีผู้เข้าร่วมฝ่ายเสนอขายสินค้าอาหารทะเลรวมทั้งสิ้น 30 องค์กร และมีสถาบันตัวแทนฝ่ายผู้ซื้อรวม 70 แห่ง ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตและโรงแรม

นอกจากผู้เข้าร่วมงานที่เป็นภาคธุรกิจแล้ว ตัวแทนพาณิชย์ของสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ได้เข้าชมงานแสดงฯ มีประเทศแคนาดา ฮ่องกง สหรัฐฯ สเปน อาร์เจนตินา อังกฤษ ฝรั่งเศษและไทยเข้าร่วมงานในปีนี้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอาหารทะเลและแนะนำสินค้าใหม่ ๆ ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเม็กซิกันสามารถติดต่อช่องทางการค้าระหว่างประเทศได้อีกด้วย

นอกจากการเปิดช่องทางการค้าในสินค้าอาหารทะเลให้แก่ผู้ซื้อและผู้ผลิตแล้ว งานแสดงสินค้า Pescamar ยังเป็นเวทีที่ให้การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเกี่ยวกับ การวางกลยุทธการตลาด การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับราคาและสภาพตลาดสินค้าอาหารทะเล แนะนำวิธีการติดต่อทางธุรกิจ การจัดการเกี่ยวกับเอกสารการค้า การวางแผนระบบลอจิซ์สติก และการบริหารการจัดจำหน่ายที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับสินค้าอาหารทะเล

ตลาดสินค้าอาหารทะเลในเม็กซิโก

รัฐบาลเม็กซิโกกำลงส่งเสริมการรณรงค์เพื่อลดความอ้วน (obesity) และเพิ่มคุณภาพอาหารในโรงเรียน โดยการส่งเสริมให้มีการรับประทานอาหารทะเลแทนเนื้อสัตว์และของทานเล่นที่ขาดคุณภาพ เช่น มันทอด (potato chips) ทั้งนี้ หน่วยงานส่งเสริมการประมง (Comision Nacional de Aguacultura y Pesca – CONAPESCA) ของกระทรวงการเกษตรและประมงของเม็กซิโก (SAGARPA) กำลังศึกษากรณีของประเทศเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ที่มีสินค้าอาหารว่างที่เป็นอาหารทะเล เช่น ปลากรอบรสชาติต่าง ๆ และเนื่องจากเม็กซิโกมีการผลิตปลาหมึกได้ประมาณปีละ 110 ตัน จึงมีความสนใจที่จะพัฒนาสินค้าอาหารว่างประเภทใหม่จากปลาหมึก เช่น ปลาหมึกกรอบรสหวาน ปลาหมึกกรอบเปรี้ยวหวาน หรือปลาหมึกกรอบรสเผ็ด ในแพ็คเก็จจิ้งที่คล้ายคลึงกับมันฝรั่งทอด เพื่อกระตุ้นให้เด็กวัยเรียนมีความสนใจเลือกทานสินค้าดังกล่าวแทนมันฝรั่งทอด สินค้าอีกตัวหนึ่งที่เม็กซิโกอาจจะพัฒนาขึ้นมาเป็นอาหารว่างใหม่ ได้แก่ ปลาซาร์ดีน ซึ่งมีราคาถูกกว่า เนื้อ หมูหรือไก่ ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปแบบของปลาซาร์ดีนอบปิ้ง ขนมปังใส้ปลาซาร์ดีน หรือใส้กรอกปลาซาร์ดีน

เม็กซิโกมีตลาดขายส่งสินค้าอาหารทะเลสำคัญ 2 แห่ง คือ ตลาด La Nueva Viga ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ และตลาด Mercado del Mar ในเมือง Zapopan รัฐ Jalisco โดยตลาด Mercado del Mar รับขายส่งสินค้าประมงจากทะเลแปซิฟิกฝั่งตะวันตก เช่น Sonora, Sinaloa และ Baja California มีการขายประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตประมงของเม็กซิโก

ส่วนตลาดสินค้าอาหารทะเลที่สำคัญที่สุดของเม็กซิโก La Nueva Viga เป็นตลาดขายส่งอาหารทะเลอันดับสองของโลก (ในขนาดปริาณที่ขาย) รองจากตลาด Tsukiji ของโตเกียว มีการลำเลียงปลาและสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ ที่จับได้ในอ่าวเม็กซิโก รวมทั้งสินค้าประมงที่นำเข้ามาผ่านท่าเรือฝั่งชายทะเลด้านตะวันออก เช่น จากรัฐ Vera Cruz และรัฐ Tamaulipas ส่งมาขายในตลาด Nueva Viga ถึง 2,000 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 60 ของผลผลิตประมงทั้งหมด เป็นปลาสดประมาณ 500 ตัน และปลาแช่แข็งประมาณ 1,500 ตัน ประเภทของสินค้าประมงภายในประเทศที่ขายมีถึง 300 ประเภท และสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเภทมีประมาณ 100 ประเภท ตลาด La Nueva Viga เปิดรับสินค้าและทำการค้าขายตั้งแต่ 4 โมงเข้า (4 am) และมีพื้นที่การใช้สอยรวม 90,000 ตารางเมตร มีโกดังเพื่อการขายส่ง 202 โกดัง โกดังเพื่อผู้ขายปลีก 55 โกดัง ร้านค้าขายปลีกอีก 165 ร้าน และผู้ที่เดินทางมาซื้อสินค้าทะเลในตลาดนี้มีจำนวนประมาณ 15,000-20,000 รายต่อวัน

ชาวเม็กซิกันมีประเพณีประจำปีที่งดการทานเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ยกเว้นปลา เพื่อการฉลองสัปดาห์ Holy Week ก่อนเทศกาล Easter ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุก ๆ ปี และเมื่อต้นปีนี้ ตลาด La Nueva Viga ขายปลาได้ประมาณ 2,000-2,500 ตันต่อวันในช่วงดังกล่าว การบริโภคอาหารทะเลต่อหัวของชาวเม็กซิกันเท่ากับ 10 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ได้เพิ่มขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมาจาก 7 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี และอาหารทะเลที่นิยมได้แก่ ปลาซาร์ดีน กุ้ง ปลาหมึก (calamar/squid) และปลานิล (ชื่อท้องถิ่น คือ mojarra)

หน่วยงาน CONAPESCA กำลังพิจารณาโครงการการเปิดศุนย์จำหนายอาหารทะเลเพิ่มขึ้นในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยคาดว่าจะมีการเปิดศูนย์การขายส่งใหม่อีกสามแห่งในขั้นแรก ที่รัฐ Baja California, Cancun และ Monterrey เนื่องจากเป็นเขตที่มีความต้องการสินค้าอาหารทะเลในปริมาณมากอยู่แล้ว นอกจากนี้แล้ว ยังมีความสนใจส่งเสริมให้มีจุดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลภายในศูนย์การค้าต่าง ๆ ให้มีช่องทางการจำหน่ายอาหารทะเลให้ใกล้ผู้บริโภคให้มากที่สุด

ขอแนะนำผู้นำเข้าและจัดจำหย่ายสินค้าอาหารทะเล:
El Mar Congelado
Sales: (55) 5614 9032, (55) 5614 7183

เวปไซท์ที่เกี่ยวข้อง:http://www.pescamar.com.mx/ques.html

Tuesday, July 20, 2010

Mexico Competitiveness

ต้นทุนการผลิตในเม็กซิโกเริ่มมีความแข่งขันเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตในประเทศจีนแพงขึ้น

สำนักข่าว Associated Press ได้รายงานเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2553 ว่า ค่าแรงโดยทั่วไปในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันจากพนักงานโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (Shenzhen) ได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อขอเพิ่มค่าแรงโดยการหยุดพักงานในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

ค่าแรงงานในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เมื่อรัฐบาลจีนได้ออกกฏหมายควบคุมการทำสัญญาแรงงาน และพนักงานโรงงานได้เริ่มเรียกร้องสิทธิตามกฏหมายดังกล่าว บริษัทต่างชาติที่ได้ประสบปัญหาการหยุดพักงานที่เป็นข่าวในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาได้แก่ บริษัท Foxconn Technology ของไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิต iPhone และ iPad ที่มีพนักงานโรงงานฆ่าตัวตามไปหลายคน ได้เพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานเป็นหนึ่งเท่าของค่าแรงงานขั้นต่ำ รวมทั้งกำลังวางแผนที่จะสร้างฐานการผลิตใหม่ในมณฑล Henan นอกจากนี้แล้ว บริษัทฮอนด้าและบริษัทโตโยต้าก็ได้เพิ่มค่าจ้างเมื่อพนักงานโรงงานได้รวมตัวกันหยุดงาน ส่วนบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนให้แก่ฮอนด้าได้ย้ายโรงงานไปในพื้นที่อื่น เช่น Henan, Hunan และJiangxi

ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ค่าของสกุลเงินหยวนที่เพิ่มขึ้น และค่าที่ดิน น้ำ พลังงาน และการขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ต่อการให้สิทธิประโยชน์แก่การลงทุนต่างชาติโดยปกติ แต่เริ่มเน้นการให้สิทธิประโยชน์แก่การลงทุนด้านไฮเทคแทน ล้วนมีผลลดข้อได้เปรียบสำหรับการผลิตในต้นทุนที่ต่ำในประเทศจีน จึงลดแรงจูงใจสำคัญที่บริษัทต่างชาติได้ไปลงทุนหรือสั่งการผลิตสินค้าที่ประเทศจีน บริษัทเหล่านี้จึงเริ่มพิจารณาการย้ายโรงงานไปยังเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่ลึกเข้าไป เช่นในภาคตะวันตกของประเทศจีน หรือพิจารณาย้ายการผลิตไปยังประเทศมีเริ่มมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับจีนแต่ให้ความสะดวกอย่างอื่นหรือสิทธิพิเศษที่ดีกว่าประเทศจีน รวมทั้งการพิจารณาย้ายฐานการผลิตกลับไปยังถิ่นฐานดั้งเดิมในสหรัฐฯ เป็นต้น

ที่ปรึกษาด้านการลงทุนต่าง ๆ ได้ให้ความเห็นว่า หากต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของต้นทุนเดิม จะทำให้ต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ เทียบเท่ากับการผลิตในจีน ยกตัวอย่างเช่น ในการผลิตสิ่งพิมพ์ ต้นทุนการผลิตในจีนเท่ากับ 44-45 เซ็นต์สำหรับการพิมพ์ และต้องเสียต้นทุนการส่งทางเรืออีก 3 เซ็นต์ เทียบกับต้นทุนการพิมพ์ในสหรัฐฯ ที่สามารถพิมพ์ได้ในราคา 65-68 เซ็นต์แต่ไม่ต้องรอคอยการจัดส่ง

นอกจากนี้แล้ว บริษัทที่ผลิตสินค้าที่เน้นการวิจัย เช่น สินค้าเภสัช สินค้าไบโอเทค ได้เริ่มพิจารณาการผลิตในประเทศอื่นที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าประเทศจีน ส่วนบริษัทผู้ผลิตของเล่น สินค้าเบ็ดเตล็ด และรองเท้าราคาถูกได้ย้ายการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และเขมรแล้ว

บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ได้ทำการสำรวจบริษัทต่าง ๆ ที่ได้ปรับโครงสร้างบริษัทไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และพบว่าเมื่อรวมปัจจัยต่าง ๆ แล้ว การผลิตในประเทศจีนแพงกว่าการผลิตในประเทศเม็กซิโก อินเดีย เวียดนาม รัสเซีย และโรมันเนีย ทั้งนี้ ประเทศเม็กซิโกมีข้อได้เปรียบในฐานะที่เป็นภาคความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และแคนาดา รวมทั้งมีต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า

แหล่งข่าว: http://finance.yahoo.com/news/Companies-brace-for-end-of-apf-2437567795.html?x=0

Tuesday, July 13, 2010

Panama Basic Indicators

ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศปานามา

ข้อมูลทั่วไป

ประเทศปานามาได้รับเอกราชจากประเทศสเปนในปี คศ. 1826 และได้รวมประเทศกับประเทศโคลัมเบีย เอควาดอร์และเวเนซูเอลาเป็นสาธารณรัฐแห่งโคลัมเบีย ซึ่งได้สลายสถานะในปี คศ. 1830 แต่ประเทศปานามายังคงเป็นส่วนหนึ่งของโคลัมเบีย ซึ่งต่อมาด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ได้รับอิสระสามารถแยกตัวออกจากโคลัมเบียได้ในปี คศ. 1903 แต่ในขณะเดียวกันได้ลงนามความตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อการสร้างช่องเดินเรือปานามา โดยมอบสิทธิที่ดินเรียบสองชายฝั่งช่องเดินเรือให้แก่สหรัฐฯ จนกระทั่งปี คศ. 1999 สหรัฐฯ ได้คืนสิทธิทั้งที่ดินและช่องเดินเรือปานามาให้แก่ประเทศปานามา และในปี คศ. 2006 รัฐบาลปานามาได้เริ่มโครงการลงทุนเพื่อขยายความสามารถในการขนถ่ายของทางเดินเรือปานามาเพื่ออำนวยการผ่านของรือเดินทะเลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กำหนดจะเสร็จสิ้นในปี คศ. 2014-2015

ประเทศปานามามีประชากรจำนวน 3.4 ล้านคน จำนวนแรงงาน 1.4 ล้านคน และปริมาณพื้นที่ 75,420 ตารางเมตร (ใกล้เคียงกับประเทศไอร์แลนด์ ใหญ่กว่าสิวสเซอร์แลนด์)

ประธานาธิบดีของปานามา นาย Ricardo MARTINELLI Berrocal ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 มีวาระการครองตำแหน่ง 5 ปี พรรคการเมืองที่สำคัญ ๆ มี 3 พรรค และมีการแบ่งพื้นที่การปกครองเป็น 11 จังหวัด และพื้นที่พิเศษ 1 แห่ง


ข้อมูลเศรษฐกิจประเทศปานามา

ในปี 2552 ปานามามีผลผลิตรวมของประเทศมูลค่า 40.32 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 11,900 เหรียญฯ แต่มีประชากรยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานการยังชีพขั้นนต่ำประมาณร้อยละ 29 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 ร้อยละ 2.4 และอัตราเงินเฟ้อในปีเดียวกันร้อยละ 2.4

ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่สุดของปานามา ได้แก่ ภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณสามในสี่ของผลผลิตรวมของประเทศ โดยธุรกิจบริการที่สำคัญ ได้แก่ บริการคลองเดินเรือปานามา บริการธนาคาร บริการเขตพื้นที่การค้าพิเศษปลอดภาษีคอโลน (Colon Free Trade Zone) บรบริการประกันภัย บริการการท่าขนถ่ายคอนเทเนอร์ บริการทะเบียนเรือ บริการท่องเที่ยว

ปานามาเป็นประเทศที่มีเรือพาณิชย์เดินทะเลจดทะเบียนในประเทศเป็นอันดับหนึ่งของโลก จำนวนทั้งหมด 6,323 ลำ โดยเป็นเรือพาณิชย์ชาติ 5,394 ลำ ซึ่งในจำนวนนั้น มีเรือเดินทะเลของไทยจำนวน 10 ลำ ของสิงคโปร์ 100 ลำ อินโดนีเซีย 31 ลำ เวียดนาม 30 ลำ มาเลเซีย 12 ฟิลิปปินส์ 7 ฮ่องกง 130 ลำ จีน 532 ลำ และ ญี่ปุ่น 2335

ภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญรองลงมาได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนในผลผลิตรวมประมาณร้อยละ 18 โดยมีกิจกรรมอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้าง การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การผลิตซีเม็นต์และวัสดุก่อสร้าง และการกลั่นน้ำตาล

ภาคเกษตรมีสัดส่วนในผลผลิตรวมร้อยละ 15 มีสินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ กล้วย ข้าว ข้าวโพด กาแฟ น้ำตาล ผัก ปศุสัตว์ และ กุ้ง

สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ปานามาได้มีการส่งออกในปี 2552 มูลค่า 10.9 พันล้านเหรียญฯ และการนำเข้ามูลค่า 12.9 พันล้านเหรียญมีสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ กล้วย กุ้ง น้ำตาล กาแฟ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยในปี 2551 มีประเทศเป้าหมายการส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯ ร้อยละ 39.2 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 10.7 คอสตาริการ้อยละ 5.8 สวีเดนร้อยละ 5.4% อังกฤษร้อยละ 5.4 สเปนร้อยละ 5 ไต้หวันร้อยละ 4.3 และประเทศจีนร้อยละ 4.1

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าอาหาร สินค้าบริโภค และเคมีภัณฑ์ โดยในปี 2551 มีประเทศแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 29.6 ประเทศคอสตาริการ้อยละ 5 ประเทศจีนร้อยละ 5 และประเทศญี่ปุ่นร้อยละ Japan 4.2

Condom production, Mexico

การผลิตถุงยางอานามัยในเม็กซิโก

บริษัทผู้ผลิตถุงยางอานมัย Thai Nipppon Rubber Industry ได้เดินทางมาพบกับ นาย Jorge Mena ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Meu Desafio, S.A. de C.V. ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายถุงยางอานามัยและ lubricant ให้กับบริษัท Profilatex ผู้ผลิตถุงยางอานามัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของเม็กซิโก รวมทั้งเป็นผู้นำเข้าถุงยางอานามัยจากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น

บริษัท Thai Nippon Rubber ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เป็นผู้ผลิตถุงยางอานามัย OEM ในระดับโลกที่สำคัญ ได้ขยายโรงงานผลิตถุงยางฯ แห่งที่สองในเขตนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองเมื่อปี 2552 และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตถุงยางฯ ในปี 2553 เป็น 1,400 ล้านชิ้นต่อปี มีความสนใจขยายการส่งออกมายังภูมิภาคละตินอเมริกาโดยมีเป้าหมายการเจาะตลาดเม็กซิโกในขั้นแรกก่อน
การจำหน่ายถุงยางอานามัยในเม็กซิโก เป็นตลาดที่มีโอกาสการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการใช้ถุงยางอานามัยในเม็กซิโดยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุมาจากความเคร่งในความเชื่อถือของศาสนาแคธอลิก ที่ค่อนข้างจะคัดค้านการคุมกำเนิด แต่ในปีหลัง ๆ ได้เริ่มมีการขยายตัวการจำหน่ายถุงยางอานามัยในอัตราที่ดี ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีผลมาจากโครงการรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์

ตลาดถุงยางอานามัยในเม็กซิโกสามารถแบ่งแยกเป็น ตลาดของภาคบริการสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโกและองค์การบริการสวัสดิภาพสังคม (IMSS) จะรับประมูลซื้อจากโรงงานผู้ผลิตเม็กซิกันที่มีอยู่สองรายเท่านั้น ส่วนตลาดภาคเอกชนตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายยาทั่วไป รวมทั้งร้านเซ็กซ์ช็อปรายย่อย ๆ จะทำการสั่งซื้อถุงยางอานามัยผ่านตัวแทนจำหน่ายถุงยางฯ หรือผลิตภัณฑ์แพทย์ที่มีอยู่หลากหลายบริษัท แต่ละกลุ่มหรือร้านค้าจะมีตัวแทนจำหน่ายที่แตกต่างกันออกไป ยี่ห้อถุงยางอานามัยที่เป็นที่รู้จักในตลาดภาคเอกชน ได้แก่ ยี่ห้อ Trojan ของสหรัฐฯ ยี่ห้อ Sico จากเยอรมัน และยี่ห้อ Durex ของอังกฤษ ในปี 2550 ยอดขายถุงยางอานามัยภายในประเทศเม็กซิโก มีมูลค่าจำหน่ายประมาณ 432 ล้านเปโซ โดยยี่ห้อ Sico มีสัดส่วนกาครองตลาดประมาณร้อยละ 45-50 และยี่ห้อ Durex มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10

ภาวะการผลิตถุงยางอานามัยในเม็กซิโก

บริษัทที่จำหน่ายถุงยางอานามัยที่สำคัญที่สุดในเม็กซิโกได้แก่บริษัท Protección SICO S.A. de C.V. ซึ่งก่อตั้งในปี 2534 เป็นการร่วมลงทุนกับบริษัท CPR จากประเทศเยอรมัน ถุงยางอามัยในกลุ่มยี่ห้อของ Sico มีสัดส่วนการครองตลาดประมาณร้อยละ 45-50 ของตลาดถุงยางอานามัยภายในประเทศเม็กซิโก

บริษัท Profilatex เป็นบริษัทผู้ผลิตเม็กซิกัน ที่ทำการประมูลขายถุงยางอานามัยหลากหลายยี่ห้อให้กับภาครัฐที่ประสบความสำเร็จมาก ก่อตั้งเมื่อปี 2534 โดยการร่วมลงทุนกับบริษัทเกาหลี มีความสามารถในการผลิตถุงยางอานามัยเท่ากับ 144 ล้านชิ้นต่อปี และมีส่วนแบ่งการครองตลาดประมาณร้อยละ 15 การขายเป็นการขายผ่านโดยผ่านหน่วยงานการส่งเสริมสุขภาพสาธารณะของรัญ และมีการขายถุงยางอานามัยกว่า 10 ยี่ห้อ รวมทั้งมีการส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ อีก 8 แห่ง อันได้แก่ ประเทศเปรู ชิลี บราซิล เวเนซูเอลา ไฮติ สเปน ปานามา และอาร์เจนตินา

บริษัท Trenkes เป็นผู้ผลิตถุงยางอานามัยเม็กซิกันที่สำคัญอีกรายหนึ่ง แต่ได้ประสบปัญหาด้านคุณภาพ และได้ถูกสั่งถอนออกจากตลาดภาครัฐบาล เมื่อปี 2549

การนำเข้าและส่งออก

ประมาณร้อยละ 75 ของถุงยางอานามัยที่จำหน่ายในเม็กซิโกมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2552 เม็กซิโกได้นำเข้าถุงยางอานามัยมูลค่ารวม 4.919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศเยอรมันเป็นอันดับแรก มูลค่า 1.799 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เที่ยบเท่ากับร้อยละ 37 ของการนำเข้าทั้งหมด แหล่งนำเข้าอันดับสองได้แก่ สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 0.913 ล้านเหรียญฯ คาดว่า เป็นการนำเข้าของยี่ห้อ Trojan เป็นส่วนใหญ่ โดยในปีหลัง ๆ ได้มีรายงานข่าวว่า ยี่ห้อ United Colors of Benetton เริ่มมีการขยายตัวเข้าสู่ตลาดเม็กซิโกได้มากขึ้น และแหล่งนำเข้าอันดับสามและสี่ ได้แก่ ประเทศอินเดียและไทย มูลค่าการนำเข้า 0.648 และ 0.582 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ โดยคาดว่าเป็นการนำเข้าของยี่ห้อ Durex

ประเทศเม็กซิโกมีการส่งออกถุงยางอานามัยมูลค่า 4.146 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552

Thursday, July 1, 2010

Exclusive Thai-inspired spa (Banyan Tree Resort) invests in Mexico

เครือโรงแรม Banyan Tree เปิดโครงการลงทุนบริการสปาและรีสอร์ทสองแห่งในเม็กซิโก



ผู้จัดการรีสอร์ทที่ Cabo Marques-Acapulco ในเครื่อโรงแรม Banyan Tree นาย David Cayuela ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเม็กซิกัน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 เกี่ยวกับการเปิดตัวโครงการลงทุนในด้านบริการรีสอร์ทและสปาสองแห่งของเครือโรงแรม Banyan Tree ในเม็กซิโก โดยกล่าวว่า เครือโรงแรม Banyan Tree เป็นเครือข่ายบริการด้านรีสอร์ทและสปาที่มีฐานะการแข่งขันที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2537 โดยเริ่มกิจการที่ภูเก็ต ประเทศไทย และในปัจจุบันได้กระจายทำเลที่ตั้งไปได้ 5 ทวีปแล้ว และได้ขยายมาที่เม็กซิโกเมื่อปีกว่าที่ผ่านมา โดยการเปิดรีสอร์ทแห่งแรกในฝั่งทะเลแคริเบียน ในพื้นที่ Mayakoba แถบชายหาด Riviera Maya รัฐ Quitana Roo และแห่งที่สองในชายฝั่งแปซิฟิกที่ Cabo Marques รัฐ Acapulco

การเลือกเปิดกิจการในเม็กซิโกสองแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายบริการของเครือข่าย Banyan Tree มายังภูมิภาคอเมริกา ทั้งนี้ ในขึ้นแรกได้เริ่มวางแผนที่จะเปิดบริการด้านรีสอร์ทและสปาทั้งหมด 5 แห่งในเม็กซิโก แต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2551 เป็นเหตุสำคัญทำให้ต้องปล่อยทำเลที่ตั้งอื่น ๆ ไป แต่คาดว่าอาจจะมีการเปิดรีสอร์ทเพิ่มได้อีกสองแห่ง ในพื้นที่ไร่องุ่นของกลุ่มผลิตไวน์ Monte Xanic ใน Valle de Guadalupe รัฐ Baja California ในปี 2556 และในพื้นที่อ่าว Bahia de Chamela ที่รัฐ Jalisco ในปี 2557

รีสอร์ท Banyan Tree Cabo Marques ได้รับการลงทุนจำนวน 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้มีการสร้างวิลล่าที่มีสระว่ายน้ำส่วนตัวในแต่ละเรือน 47 เรือน ราคาห้องพักระหว่าง 600-800 เหรียญสหรัฐฯ มีบริการห้องอาหาร 5 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นร้านอาหารไทยที่มีชื่อว่า Saffron และมีบริการสปาที่ให้บริการในสูตรของ Banyan Tree โดยผู้ให้บริการที่ได้รับการฝึกอบรมพิเศษจากโรงเรียนการฝึกบริการสปาในเครือ Banyan Tree ในประเทศไทย รวมทั้งรับบริการการจัดงานแต่งงานหรืองานประชุม และมีแพ็กเก็จสำหรับคู่สมรสใหม่ด้วย

ส่วนรีสอร์ท Banyan Tree Mayakoba ในชายหาด Riviera Mayaได้รับการลงทุนจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีวิลล่าทั้งหมด 130 เรือน ลักษณะบริการในสุตรของ Banyan Tree เช่นเดียวกันกับที่ Cabo Marques รีสอร์ททั้งสองแห่งมีเป้าหมายลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงจากสหรัฐฯ และเม็กซิโกที่ต้องการบริการคุณภาพสูง

แหล่งข่าว:
http://www.eluniversal.com.mx/finanzas/79630.html
http://www.cancunprimerealty.com/real-estate-developments/banyan-tree-residences.php
http://www.rivieramayakoba.com/
http://www.banyantree.com/es/cabomarques/overview
http://www.cabomarques.com/menu_inicio.htm