Google Website Translator

Friday, March 25, 2011

Country Profile: El Salvador 2011

ข้อมูลเศรษฐกิจเอลซัลวาดอร์

เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศที่เล็กที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศกัวเตมาลา และมีชายแดนฝั่งตะวันออกติดกับฮอนดูรัส ทางด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ประมาณ 21,041 ตารางกิโลเมตร เกือบเท่ากับขนาดพื้นที่ของประเทศอิสราเอล แต่ขนาดของเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาคอเมริกากลาง และมีรายได้ต่อหัวในระดับประมาณสองส่วนสามของรายได้ต่อหัวของประเทศคอสตาริกาและปานามา หรือสองเท่าของรายได้ต่อหัวของประเทศนิคารากัว


1.2 ชื่อเป็นทางการ  สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ (ภาษาสเปน:República de El Salvador)
1.3 เมืองหลวง  กรุงซันซัลวาดอร์ (San Salvador)
1.4 ขนาดพื้นที่  21,041 ตารางกิโลเมตร
1.5 ประชากร  6 ล้านคน (2010)
1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ  พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนใต้ดิน น้ำมัน และพื้นที่เพาะปลูก
1.7 ประวัติศาสตร์

ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้รับประกาศอิสรภาพจากสเปนในปี ค.ศ. 1821 และจากสหรัฐอเมริกากลางในปี ค.ศ. 1839  เชื้อชาติ แบ่งเป็นเมสติโซ (เชื้อสายผสมสเปน-พื้นเมือง) ร้อยละ 90 ผิวขาวร้อยละ 9 อเมรินเดียนร้อยละ 1 ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 57 นิกายโปรแตสแตน์ ร้อยละ 21 ภาษา ภาษาสเปน

1.8 ระบอบการปกครอง

เอลซัลวาดอร์มีการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย และได้รับเอกราชจากประเทศสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1821 ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2009 ได้แก่ นาย Mauricio FUNES Cartagena มีวาระการดำรงตำแหน่งเทอมละ 5 ปี พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค FMLN ที่มีสมาชิกสภาจำนวน 35 คน และพรรค ARENA สมาชิกสภา 32 คน โดยรัฐสภาที่นั่งตัวแทนรวม 84 ที่นั่ง มีการเลือกสมาชิกรัฐสภาใหม่ทุก 3 ปี

เอลซัลวาดอร์มีปัญหาความมั่งคงทางการเมืองเป็นระยะเวลานานมาก โดยได้มีสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 12 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1980-1992 เป็นการสู้รบระหว่างอำนาจฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลมาแต่ดั้งเดิมซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ กับตัวแทนกลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเป็นพรรค FMLN สงครามกลางเมืองดังกล่าวได้ยุติลงโดยความตกลงยุติสงครามระหว่างสองฝ่าย ที่มีการลงนามยุติสงครามในวิหาร Chapultapec ในเม็กซิโก

1.9 ระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

มีเส้นทางถนนจำนวน 10,886 กิโลเมตร ทางรถไฟจำนวน 283 กิโลเมตร แม่น้ำสำคัญได้แก่ แม่น้ำ Lempa ซึ่งใช้เดินเรือขนาดเล็กได้ แม่น้ำเล็มป้ามีต้นกำเนิดในประเทศกัวเตมาลา และไหลผ่านประเทศเอลซัลวาดอร์ออกไปสู่มหาสมุทรแอ็ทแลนติกทางฮอนดูรัส ความยาวรวมทั้งสิ้น 442 กิโลเมตร เอลซัลวาดอร์มีสนามบินรวม 65 แห่ง โดยมีสนามบินระหว่างประเทศชื่อ Cuscatlan International Airport (รับผู้โดยสารได้ประมาณ 2 ล้านคน) อยู่ที่กรุง San Salvador สายการบินแห่งชาติ คือ สายการบิน TACA และมีท่าเรือที่สำคัญฝั่งแปซิฟิกฝั่งเดียวที่ท่าเรือ Acajutla และท่า Puerto Cutuco

2. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจโดยทั่วไป
2.1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเอลซัลวาดอร์

การขยายตัวของเศรษฐกิจเอลซัลวาดอร์ในสองสามปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ในปี ค.ศ. 2009 เศรษฐกิจประเทศเอลซัลวาดอร์ได้หดตัวลงประมาณร้อยละ 3 แต่ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2011 จะมีฟื้นตัวและมีโอกาสขยายตัวได้ในอัตราระหว่างร้อยละ 2-3 รายได้ที่สำคัญของเอลซัลวาดอร์มาจากการรับโอนเงินจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญเท่ากับรายได้จากการส่งออกของประเทศ โดยประมาณหนึ่งในสามคนของประชากรในประเทศเอลซาวาดอร์พึ่งพารายได้จากเงินโอนจากญาติๆ ในต่างประเทศโดยส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ เงินโอนจากต่างประเทศของเอลซัลวาดอร์มีมูลค่าระหว่าง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เป็นมูลค่าเงินส่งกลับที่สูงกว่ามูลค่าเงินโอนกลับของประเทศในกลุ่มละตินอเมริกากลางอื่น ๆ

สรุปข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจ

2.2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

เอลซัลวาดอร์มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เอลซัลวาดอร์ได้ปรับใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลประจำประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001

2.3 โครงสร้างการผลิตภายในประเทศคอสตาริกา

ภาคบริการมีสัดส่วนความสำคัญในผลผลิตแห่งชาติร้อยละ 59.9 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 29.1 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 11

2.4 ข้อมูลด้านการลงทุนในประเทศ

ในปี ค.ศ. 2009 การลงทุนโดยภาครัฐมีมูลค่ารวม 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการลงทุนในต่างประเทศมูลค่า 333 พันล้านเหรียญฯ รัฐบาลใหม่ของประเทศเอลซัลวาดอร์มีแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายแผนงานที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ในนามกองทุนเพื่อศตวรรษใหม่ (Fomilenio) โดยในขั้นแรกจะมีการพิจารณาออกกฏหมายใหม่เพื่อกำหนดให้รัฐบาลสามารถร่วมทุนกับภาคเอกชนในลักษณะ Public Private Partnership โดยโครงการแรกที่จะได้รับการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือ La Unión ซึ่งจะทดแทนท่าเรือ Acajutla และจะมีความสามารถรับสินค้าได้เป็นสองเท่าของท่าเรือเก่า ทั้งนี้ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์กำลังแสวงหาผู้ร่วมทุนเพื่อการบริหารท่าเรือใหม่ดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว ล้วนแต่ต้องการร่วมลงทุนจากภาคเอกชนหรือต่างชาติ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า การประปา และการขยายเส้นทางเดินรถ และการขนส่ง ในปีงบประมาณ 2011 ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 79 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการยกระดับการบริหารบริการน้ำประปา โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนร่วมมือการพัฒนาของประเทศสเปน (AECI) ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2011 จะมีการเปิดประมูลเพื่อรับการออกแบบโครงการบริหารสาธารณูปโภคสำหรับเขตเมืองหลวงในกรุงซันซัลวาดอร์ โดยโครงการดังกล่าวจะได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคาร Inter-American Development Bank นอกจากนี้แล้ว กองทุนเพื่อการรักษาถนน (Fovial) จะทำการลงทุนเพื่อปรับปรุงถนนเส้นทางรวมทั้งสิ้น 6,544 กิโลเมตร

รัฐบาลของเอลซาวาดอร์มีแผนงานส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยจะส่งเสริมพัฒนาการท่องเที่ยว การเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าและลอจิสติกสำหรับภูมิภาคอเมริกากลาง โดยได้มีการเปิดเสรีรับการลงทุนจากภาคเอกชนและต่างชาติในภาคการสื่อสาร การบริการไฟฟ้า การเงิน และภาคกองทุนบำนาญ

3. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของเอลซัลวาดอร์
3.1 ภาพรวมสถานการณ์ทางการค้าของประเทศเอลซัลวาดอร์

ในปี ค.ศ. 2009 เอลซัลวาดอร์ได้ขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 321 ล้านเหรียญ โดยมูลค่าการส่งออกรวมในปี ค.ศ. 2009 มีมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้า 6.7 พันล้านเหรียญฯ ประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ สัดส่วนความสำคัญทางการค้าร้อยละ 43.9 รองลงมาได้แก่ ประเทศกัวเตมาลา สัดส่วนร้อยละ13.9 ฮอนดูรัส ร้อยละ13.2 และประเทศนิคารากัว ร้อยละ 5.7 ส่วนแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 29.8 เม็กซิโก ร้อยละ 10.3 กัวเตมาลา ร้อยละ 9.7 จีน ร้อยละ 4.5 และฮอนดูรัส ร้อยละ 4.4

3.2 ประเทศคู่ค้าสำคัญด้านการนำเข้า/ส่งออก

ในปี ค.ศ. 2010 เอลซัลวาดอร์มีมูลค่าการส่งออกรวม 4.377 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกในปี 2009 ร้อยละ 15 คู่ค้าการส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 43.8 กัวเตมาลา ร้อยละ 13.9 ฮอนดูรัส ร้อยละ 13.2 และนิคารากัว ร้อยละ 5.7 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ กาแฟ น้ำตาล เสื้อผ้าและสิ่งทอ ทองคำ เอธอนอล สารเคมี ไฟฟ้า เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก

การนำเข้าในปี 2010 มีมูลค่า 7.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 10 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 29.8 เม็กซิโก ร้อยละ 10.3 กัวเตมาลา ร้อยละ 9.7 จีน ร้อยละ 4.5 และฮอนดูรัส ร้อยละ 4.4สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค สินค้าทุน เชื้อเพลิง น้ำมัน อาหาร และไฟฟ้า

3.3 นโยบาย/มาตรการทางการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

เอลซัลวาดอร์เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 13 สำหรับค่าเฉลี่ยอัตราภาษีนำเข้า MFN มีอัตราร้อยละ 6.3 โดยทั่วไป สำหรับสินค้าเกษตรมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 12.9 ไม่มีการห้ามการนำเข้า แต่ยังคงมีข้อกำหนดใบอนุญาติการนำเข้าสำหรับสินค้าที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นอัตราต่อความมั่นคง สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม มีการควบคุมการนำเข้าน้ำตาลเป็นพิศษเพื่อป้อมกันผู้ผลิตภายในประเทศ และมีการส่งเสริมการส่งออกโดยการคืนภาษีร้อยละ 6 ของมูลค่า f.o.b รวมทั้งการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับการผลิตในเขตการค้าเสรี (free trade zone)

3.4 ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ

เอลซัลวาดอร์เข้าร่วมเป็นภาคีองค์การค้าโลกในปี ค.ศ. 1995 เป็นสมาชิกความตกลงด้านศุลกากรในกลุ่มตลาดกลางอเมริกากลาง (CACM) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 และมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีในระดับพหุภาคีภายใต้กรอบของความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ (CAFTA) ซึ่งเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศในกลุ่มอเมริกากลางประเทศแรกที่ให้สัตยาบันสำหรับความตกลงดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 2006 ความตกลงเขตการค้าเสรีคาฟต้าได้ส่งเสริมให้เอลซัลวาดอร์เพิ่มการส่งออกสินค้าด้านอาหารแปรรูป น้ำตาล เอธานอล ไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งได้มีผลกระตุ้นการลงทุนในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากคาฟต้า ซึ่งรวมเขตการค้าเสรีกับสาธารณรัฐโดมินิกันแล้ว เอลซัลวาดอร์ยังมีความตกลงเขตการค้าเสรี North Triangle (กับโคลัมเบีย ปี 2007 และเม็กซิโก ปี 2000) ความตกลงเขตการค้าเสรีกลุ่มอเมริกากลางกับชีลี (1999) และกับปานามา (2002)

ในระดับทวิภาคี เอลซัลวาดอร์มีความตกลงการค้าเสรีกับไต้หวัน (2007) อีกทั้งกำลังทำการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับแคนาดา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้แล้ว มีความตกลงให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศ เวเนซูเอล่า (1986) โคลัมเบีย (1984) และปานามา (1970)

4. ข้อมูลทางการค้ากับประเทศไทย
4.1 ภาพรวมสถานการณ์/ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย

ไทยและเอลซัลวาดอร์สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1987 โดยเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเม็กซานติอาโกเป็นเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์อีกตำแหน่งหนึ่ง และนาย Ricardo Moran Ferracuti เป็นกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำ สาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์

4.2 มูลค่าการค้าของไทยกับเอลซัลวาดอร์

ในปี ค.ศ. 2010 การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับเอลซัลวาดอร์มีมูลค่ารวม 39.642 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 107 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ปรียบดุลการค้า 36.705 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังเอลซัลวาดอร์ในปี 2010 มูลค่า 38.175 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 เทียบเท่ากับร้อยละ 157 การนำเข้าจากเอลซัลวาดอร์ในปี 2010 มีมูลค่า 1.467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2009 ร้อยละ 66

4.3 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์ และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเอลซัลวาดอร์

สินค้าที่ไทยส่งออกไปเอลซัลวาดอร์ คือ รถยนต์และรถบรรทุก แผ่นเหล็ก เส้นยาง และรองเท้า ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเอลซัลวาดอร์ อาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสัตว์ ชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าสำหรับการบรรจุ และเศษเหล็กเศษอลูมิเนียม

4.4 สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยสำหรับประเทศเอลซัลวาดอร์

รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สินค้าพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง

4.5 การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของเอลซัลวาดอร์ได้เติบโกอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี คศ. 2010 การท่องเที่ยวมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 4.6 ของรายได้ประชาติ และได้มีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเอลซัลวาดอร์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97 เป็น 1.27 ล้านคนจาก 1.15 ล้านคนในปี 2009

การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยงระหว่างไทยกับเอลซาดอร์แทบจะไม่มี เนื่องจากประเทศเอลซาวาดอร์ยังเป็นที่รู้จักน้อย ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดในคนไทย อีกทั้งการเดิงทางไปยังประเทศเอลซาวาดอร์ต้องต่อเครื่องบินหลายต่อ

5. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยราชการ/ รัฐวิสาหกิจไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการค้าของประเทศนั้น

5.1. กระทรวงการต่างประเทศ (Ministerio de Relaciones Exteriores de El Salvador)
Calle El Pedregal, Blvd. Cancillería. Ciudad Merliot, Antiguo Cuscatlan, El Salvadorใ
Tel: PBX (503) 2231 1000 (503) 2231 1309 (503) 2231 1383
Email: consulta_comunicaciones@rree.gob.sv
Websiste: http://www.rree.gob.sv/

5.2. กระทรวงเศรษฐกิจ (Ministerio de Economia)
Alameda Juan Pablo II y Calle Guadalupe, Edificio C, Plan Maestro, esquina opuesta a PuertoBus, Centro de Gob., San Salvador.
Teléfono (PBX): (503) 2231-5600
E-mail:info@minec.gob.sv
Website: http://www.minec.gob.sv/

5.3 หอการค้าแห่งเอลซัลวาดอร์
Tel: (503) 2231 - 3000
Fax: (503) 2271 - 4461
Email: camara@camarasal.com
Website: http://www.camarasal.com/

Wednesday, March 16, 2011

Country Profile: Cuba 2011

ข้อมูลเศรษฐกิจคิวบา


ตั้งอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนเหนือ ที่จุดบรรจบของทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรแอตแลนติก คิวบาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสหรัฐอเมริกาภาคตะวันออก และหมู่เกาะบาฮามาส ทางทิศตะวันตกของเกาะเติร์กและหมู่เกาะเคคอสและประเทศเฮติ ทางทิศตะวันออกของเม็กซิโก และทางทิศเหนือของหมู่เกาะเคย์แมนและเกาะจาเมกา

1.2 ชื่อเป็นทางการ สาธารณรัฐคิวบา (ภาษาสเปน: República de Cuba)
1.3 เมืองหลวง/เมืองท่า/เมืองเศรษฐกิจสำคัญ/ สินค้าสำคัญในแต่ละเมือง

กรุงฮาวานา (เมืองหลวง) ประชากร 2.1 ล้าน โรงบรรจุอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เคมีและเภสัชอุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้างซ่อมเรือ ผลิตรถยนต์ เหล้า สิ่งทอ ยาสูบ กรุงฮาวานาเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของคิวบา

Santiago de Cuba เป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง มีประชากรประมาณ 5 แสนคน เป็นศูนย์บริการท่าเรือ เป็นท่าเรืออันดับสองของคิวบา

1.4 ขนาดพื้นที่ 110,861 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีเหนือ กัวเตมาลา ฮอรดูรัส)
1.5 ประชากร 11.38 ล้านคน
1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ แร่โคบาล์ท นิเกิล์ เหล็ก โครเมี่ยม ทองแดง เกลือ ป่าไม้ และน้ำมัน
1.7 ประวัติศาสตร์

ชาวสเปนเดินทางมาถึงเกาะคิวบาครั้งแรกเมื่อ คศ. 1597 แต่ไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนักในระยะแรกเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีชาวอินเดียนอยู่น้อย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในเฮติ คิวบาจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปนแทนที่เฮติ ได้รับเอกราชจากสเปนในปี คศ.1868 โดยการสนับจากสหรัฐฯ แต่แล้วกลับตกมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ แทนจนถึงการยึดอำนาจภายใต้การปกครองระบบคอมมิวนิสต์โดยนายฟิเดล คาสโตรในปี คศ. 1959

เชื้อชาติ ร้อยละ 51 ของประชากรเป็น mulattos (เชื้อสายผสมระหว่างชนผิวขาวกับผิวดำ) ร้อยละ 37 เป็นผู้สืบเชื้อชายจากชาวสเปนโดยแท้จริง ร้อยละ 11 คนผิวดำ ร้อยละ 1 เชื้อสายจีน
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 72 ของประชาการทั้งหมด)
ภาษา ภาษาสเปน

1.8 ระบอบการปกครอง

มีการปกครองแบบระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำ นายราอูล คาสโตร ได้รับการเลือกตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2008 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี สภานิติบัญญัตมาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกของพรรค Partido Comunista de Cuba (PCC) มีสมาชิก 614 คน มีวาระ 5 ปีเช่นเดียวกัน ประเทศคิวบามีเขตพื้นที่การปกครอง 14 จังหวัด และเขตเทศบาลพิเศษ 1 เขต

1.9 ระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

มีเส้นทางถนน จำนวน 60,858 กิโลเมตร ทางเดินรถไฟ 8,598 กิโลเมตร และทางน้ำ 240 กิโลเมตร มีสนามบิน 136 แห่ง สนามบินระหว่างประเทศชื่อว่า Jose Marti International Airport ที่กรุงฮาวานา สายการบินประจำชาติ ชื่อว่า Cubana Airlines นอกจากระบบคมนาคมนมแล้ว ยังมีท่อส่งแก๊ซ 41 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำมัน 230 กิโลเมตร มีเรือเดินทะเลจดทะเบียนภายในประทเศ 5 ลำ และเรือเดินทะเลจากต่างประเทศอีก 6 ลำ จากไซปรัส 1 เนเธอร์แลนด์ อันติลส์ 1 และปานามา 4

2. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจโดยทั่วไป
2.1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศคิวบา

ตั้งแต่ปี คศ.1990 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจคิวบา เพื่อเพิ่มบทบาทของตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เศรษฐกิจของคิวบายังคงประกอบด้วยการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ (state-owned) การเกษตรภาคเอกชน และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการร่วมทุนของต่างชาติในรูปแบบ joint venture เป็นสำคัญ การนำเข้าและส่งออกสินค้าของคิวบาดำเนินการโดย Cuban Enterprise และหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ National Registry of Exporters and Importers หน่วยงานเหล่านี้จะสามารถนำเข้าส่งออกสินค้าในรายการที่ได้ระบุไว้เท่านั้น หากมีการนำเข้าส่งออกสินค้านอกเหนือจากรายการเหล่านั้นจะต้องขออนุญาตต่อกระทรวงการค้าต่างประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดประมาณ 400 บริษัท ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจ บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ และบริษัทที่รัฐมีหุ้นบางส่วน ผู้ที่จะประกอบธุรกิจกับคิวบาจะต้องลงนามในสัญญากับบริษัทที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การค้าระหว่างประเทศของคิวบาดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจและ joint venture บริษัทนำเข้าสินค้าที่สำคัญของคิวบาได้แก่ บริษัท Alimport ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรของรัฐบาล

ตลาดในคิวบาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดสำหรับการนำเข้าเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว และตลาดเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศ ประกอบด้วยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมี Cuban Enterprise เป็นผู้ดำเนินการหลัก

เงินที่ใช้ในคิวบามี 2 ประเภท คือ คิวบาเปโซ และ convertible peso (เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า chavito) เงินคิวบาเปโซเป็นสกุลเงินที่ใช้ได้เฉพาะภายในประเทศ ไม่มีมูลค่าสำหรับการเงินระหว่างประเทศ และไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้ ในปี คศ. 1993 รัฐบาลคิวบาให้ประชาชนถือเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในประเทศอย่างถูกกฎหมายได้ มีการใช้จ่ายเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการที่เป็นธุรกิจ‘ luxury’ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ต่อมาในปี 1994 คิวบาประกาศใช้เงิน convertible peso เพื่อใช้แทนเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังสามารถถือเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ในการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ หากแลกด้วยเงินสหรัฐฯ จะต้องเสียค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 10

สรุปข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจคิวบา

2.2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

คิวบามีเงินทุนสำรองประเทศมูลค่า 4.847 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.3 โครงสร้างการผลิตภายในประเทศคิวบา

ภาคบริการมีสัดส่วนความสำคัญในผลผลิตแห่งชาติร้อยละ 72.9 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 22.7 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 4.2

2.4 ข้อมูลด้านการลงทุนในประเทศ

ประเทศคิวบาได้รับการลงทุนจากต่างประเทศในปี คศ. 2010 มูลค่า 4.847 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคิวบา ภายหลังจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล่มสลายของรัสเซีย ปัจจุบัน คิวบามีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มีกิจกรรมที่เกิดผลกำไรและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดในปี 2001 คิวบาออกกฎหมายเกี่ยวกับความร่วมมือและสัญญาของธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ คิวบามีการประกันแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยกฎหมายเพื่อปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของนักลงทุน นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนสามารถโอนรายได้และดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวยังอาจถูกเวนคืนและได้รับเงินชดเชยหากเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสังคมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ปัจจุบันมีนักลงทุนจาก 46 ประเทศลงทุนในกิจการต่าง ๆ 32 สาขา ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจากยุโรป เช่น สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส สาขาหลักที่มีการลงทุนได้แก่ การท่องเที่ยว เหมืองแร่ พลังงาน และธุรกิจด้านการสื่อสาร

3. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของคิวบา
3.1 ภาพรวมสถานการณ์ทางการค้าของประเทศคิวบา

ในปี คศ. 2010 คิวบามีมูลค่าการส่งออกรวม 3.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกในปี 2009 ร้อยละ 15 คู่ค้าการส่งออกที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน ในสัดส่วนร้อยละ 25.7 แคนาดาร้อยละ 20.3 สเปนร้อยละ 6.8 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 4.5 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ น้ำตาล นิเกิล์ ยาสูบ ปลา ผลิตภัณฑ์ยา ส้ม และกาแฟ

การนำเข้าในปี 2010 มีมูลค่า 10.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 15 เช่นเดียวกัน โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเวนูซูเอลา ร้อยละ 30.5 (เป็นสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องจักร) รองลงมามีการนำเข้าจากประเทศจีนร้อยละ 15.5 สเปนร้อยละ 8.3 และสหรัฐฯ ร้อยละ 6.9 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน อาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสารเคมี

3.2 นโยบาย/มาตรการทางการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

คิวบาใช้ระบบ Harmonized 8 หลักในการระบุรายการสินค้า อัตราภาษี MFN ของคิวบาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15 (ระหว่าง 5-40%) และอัตราภาษีทั่วไปไม่เกินร้อยละ 17 การคำนวณภาษีของคิวบาใช้การคำนวณแบบ ad valorem และไม่มีการเก็บภาษีส่งออก

คิวบาไม่มีข้อจำกัดสำหรับการนำเข้าในแต่ละกรณี เช่น โควตา หรือใบอนุญาตนำเข้า แต่มีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าจำพวกอาหารและยา เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ และ personal and domestic use products นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมสุขอนามัยพืชที่เข้มงวดสำหรับการนำเข้าส่งออกพืชและส่วนประกอบ ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมมี The National Standardization Office (NC) เป็นผู้ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า ใบรับรองสินค้า การควบคุมคุณภาพ มาตรวัดสินค้า การบริการด้านเอกสารและการตรวจสอบคุณภาพสินค้า

3.3 ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ

คิวบาได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าระหว่างประเทศ ในปี คศ. 1995 และในปี คศ. 1999 คิวบาได้เข้าเป็นสมาชิก The Latin American Association of Integration (ALADI) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน และในปี คศ. 2005ได้ลงนามในความตกลงด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Trade and Economic Cooperation Agreement) กับประเทศในกลุ่ม CARICOM สำหรับความตกลงในระดับทวิภาคีนั้น คิวบามีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศปานามา รัสเซีย เวเนซูเอล่า โบลเวีย และยังมีความตกลงพิเศษกับประเทศเวียดนามเพื่อการนำเข้าข้าว อีกด้วย

4. ข้อมูลทางการค้ากับประเทศไทย
4.1 ภาพรวมสถานการณ์/ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างคิวบากับไทย

ไทยและคิวบาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม คศ. 1958 รัฐบาลคิวบาได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย โดยเริ่มเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม คศ. 2003 ปัจจุบันมีนาง Maria Luisa Fernandez Equilaz เป็นเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย สำหรับฝ่ายไทย รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกเป็นเอกอัครราชทูตประจำคิวบาอีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี คศ. 2003 ได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐคิวบาขึ้น โดยมีนาย Jorge Manuel Vera Gonzalez ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์

4.2 มูลค่าการค้าของไทยกับคิวบา

ในปี คศ. 2010 การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับคิวบามีมูลค่ารวม 3.441 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2009 ร้อยละ 20 และลดลงจากปี 2008 ร้อยละ 64 โดยในปี 2010 ไทยเป็นฝ่ายได้ปรียบดุลการค้ามูลค่า 772,899 เหรียญสหรัฐ ไทยมีการส่งออกไปยังคิวบาในปี คศ. 2010 มูลค่า 2.107 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2009 ร้อยละ 32 การนำเข้าจากคิวบาในปี 2010 มีมูลค่า 1.334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2009 ร้อยละ 10

4.3 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศคิวบา และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากคิวบา

สินค้าที่ไทยส่งออกไปคิวบา คือ อาหารทะเล เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ข้าว ท่อยาง และยางรถยนต์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากคิวบา ซีการ์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยา เลือด และเศษเหล็ก
4.4 สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยสำหรับประเทศคิวบา

ผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าพลาสติก และผักผลไม้ เคยส่งออกได้ำจำนวนมากมาปี คศ. 2008 แต่ต่อมาในปี 2009 และ 2010 ไม่ได้มีการนำเข้าสินค้าสามรายการดังกล่าว

4.5 ข้อตกลง/ความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับคิวบา

ในปี คศ. 2000 ไทยและคิวบาได้ลงนามใน MOU โดยคิวบาได้สัญญาว่าจะซื้อข้าวจากไทย และได้เสนอการแลกเปลี่ยนข้าวกับน้ำตาลและสินค้าไบโอเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องงดังกล่าว

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2003 ไทยและคิวบาได้ลงนามในความตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-คิวบา (Thailand-Cuba Joint Commission) จัดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง คือ 15 มีนาคม 2004 ที่กรุงเทพฯ และ 13-14 กุมภาพันธ์ 2006 ที่ประเทศคิวบา ในการประชุมครั้งล่าสุด มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่ การจัดทำ Joint Work Plan เพื่อกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน ฝ่ายคิวบาได้เสนอให้กำหนดเป้าหมายในการขยายการค้าจาก 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกำหนดเป้าหมายให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นสองเท่า ในปี 2010 สินค้าสำคัญที่ไทยต้องการให้บรรลุเป้าหมายได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ภายในบ้าน สินค้าอุตสาหกรรม อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่คิวบาต้องการเสนอสินค้าประเภทวัคซีน

ไทยได้จัดคณะผู้แทนเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่คิวบาระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม- 5 พฤศจิกายน คศ.2002 แต่ไม่มีภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว ในการนี้ ผู้แทนฝ่ายไทย ได้เข้าพบหน่วยงานราชการและเอกชนที่สำคัญ เช่น กระทรวงการค้าต่างประเทศ และบริษัท CIMEX Corporation เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน คิวบาจะเริ่มนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยอีกครั้ง และสนใจที่จะส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมายังไทย และภาคเอกชนคิวบาสนใจนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในโรงแรม เครื่องปรับอากาศ สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ในบ้านจากไทย

มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าคิวบา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม คศ. 2004 ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2006 นาง Maria Luisa Fernandez Equilaz เอกอัครราชทูตสาธารณรรัฐคิวบาประจำประเทศไทยได้เข้าพบกับประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและคิวบา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการจัดคณะผู้แทนทางธุรกิจระหว่างกัน ร่วมประชาสัมพันธ์เผยแพร่งานแสดงสินค้าของแต่ละประเทศ และไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและคิวบา

4.6 ปัญหา/อุปสรรค/ประเด็นทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับคิวบา

ไทยประสบอุปสรรคในการส่งออกข้าวไปยังคิวบา อุปสรรคที่สำคัญคือปัญหาเรื่องการชำระเงิน เนื่องจากคิวบาต้องการขอเครดิตระยะยาว และธนาคารในประเทศไทยไม่สามารถรับรอง L/C ที่ออกโดยธนาคารคิวบาได้ เนื่องจากคิวบาถูกจัดอันดับโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในเรื่องการเมือง ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องหาธนาคารจากประเทศที่ 3 เป็นผู้รับรอง L/C หรือส่งออกข้าวโดยผ่านประเทศที่ 3 ซึ่งทำให้สินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น

4.7 การท่องเที่ยวในประเทศคิวบา

มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศคิวบา ปี คศ. 2008 จำนวน 2,316,000 คน ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก แต่ยังขาดการลงทุนในการสร้างโรงแรม ในขณะนี้ รัฐบาลของคิวบาต้องการส่งเสริมให้มีการสร้างสนามกอลฟ์ และท่าเรือสำหรับเรือสำราญ

5. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยราชการ/ รัฐวิสาหกิจไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการค้าของประเทศนั้น

5.1 กระทรวงการค้าต่างประเทศคิวบา
website: http://america.cubaminrex.cu/

5.2 หอการค้าคิวบา
website: www.camaracuba.cu

6. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานส่งเสริมการค้าของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทย

สถานทูตคิวบาประจำประเทศไทย
Mela Mansion Apt. 3C, 5 สุขุมวิท 27
ถนนสุขุมวิท คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-665-2803
โทรสาร : 02-661-6560
E-mail: cubaemb1@loxinfo.co.th

Friday, March 11, 2011

Tourism in Mexico

การท่องเที่ยวในประเทศเม็กซิโก
ความสำคัญทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวในเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มละตินอเมริกา อันดับสองสำหรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคอเมริกา และอันดับสิบสำหรับการท่องเที่ยวโลก เมื่อปี คศ. 2009 ประเทศเม็กซิโกได้รับนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 22 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสามรองจาก การส่งเงินกลับจากต่างประเทศ และรายได้จากการขายน้ำมัน

ในปีที่ผ่านมา (คศ. 2010) ภาคการท่องเที่ยวของเม็กซิโกมีสัดส่วนของผลผลิตแห่งชาติในอัตราร้อยละ 13.2 ซึ่งได้เพิ่มจากร้อยละ 8.9 ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี คศ. 2000 การขยายตัวของภาคการท่องที่ยวในเม็กซิโกมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 3.8

ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเม็กซิโกประกอบด้วย บริการการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (ประมาณร้อยละ 28.6 ของการขนส่งทั้งหมด) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 29.2 บริการร้านอาหารและบาร์ สัดส่วนร้อยละ 24.8 บริการโรงแรมและห้องพัก สัดส่วนร้อยละ 12.7 การค้า สัดส่วนร้อยละ 12.3 และการขายสินค้าหัตกรรมและอื่น ๆ สัดส่วนร้อยละ 11.4

การท่องเที่ยวในเม็กซิโกได้มีการพัฒนามาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ยุคการปกครองของสเปนจนถึงช่วงการรับเอกราชอันเป็นผลให้มีปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบการถือครองของธุรกิจและที่ดินที่เคยเป็นของชาวสเปนมาเป็นของธุรกิจท้องถิ่นชาวเม็กซิกัน ต่อมาในยุคหลังสงครามโลก การท่องเที่ยวในเม็กซิโกได้รับการกระตุ้นจากผู้ที่เดินทางหลบหนีสงครามมาอยู่ที่เม็กซิโก รวมทั้งได้รับการลงทุนจากต่างชาติในระบบการขนส่งด้านการบิน รถไฟ และถนนทางหลวงระหว่างรัฐ การวางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับชาติได้เริ่มต้นอย่างเป็นระบบในปี คศ. 1998 โดยการรวมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย เป็นสภาการท่องเที่ยวแห่งเม็กซิโก (Consejo de Promoción Turística de México-CPTM) และต่อมาได้มีการกำหนดแผนงานการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับแรกสำหรับช่วงปี คศ. 2001-2005 หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนอำนาจการปกครองเสียงในสภาจากพรรค PRI มายังพรรค PAN ซึ่งได้ครองเสียงในสภาติดต่อกันมาเป็นสองสมัยแล้วในปัจจุบัน

หน่วยงานที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐในเม็กซิโกมี 3 หน่วยงานหลัก อันได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยว (SECTUR), สภาการท่องเที่ยวที่พัฒนามาจาก CPTM (PROMOTUR) และกองทุนเพื่อการส่งเสริมการลงทุนในภาคการท่องเที่ยว (FONATUR) นอกจากนี้แล้ว ภาคเอกชนยังได้มีการรวมตัวกันเป็นสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมร้านอาหาร สมาคมโรงแรม สมาคมสปา สมาคมการท่องเที่ยวเพื่อการรักษาอนุรักษณ์ธรรมชาติ (ecotourism) เป็นต้น

ลักษณะของการท่องเที่ยวในเม็กซิโก

งแม้ว่าประเทศเม็กซิโกจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเป็นอันดับสิบของโลก การท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวเม็กซิกันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่อุดหนุนภาคการท่องเที่ยวของเม็กซิโก ร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมาจากการเดินทางของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยภายในประเทศ ซึ่งนิยมการเดินทางไปทั่วทุกภาคของประเทศ

การบริการสำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศของเม็กซิโก มีรูปแบบที่มีความหลากหลาย ทั้งสำหรับแห่ล่งท่องเที่ยวที่ ๆ ที่จะไป ซึ่งกระจายไปตามรัฐทั้ง 31 รัฐของเม็กซิโก (multidestination) และความหลากหลายในลักษณะรูปแบบของการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งการท่องเที่ยวในเมือง การท่องเที่ยวแหล่งอารยธรรมโบราณ การท่องเที่ยวตามชายหาดและเกาะ การขึ้นเรือสำราญ การท่องเที่ยวเพื่อบำบัดร่างกาย (spa tourism) การท่องเที่ยวเพื่อการชิมอาหาร (gastro-tourism) และการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษณ์ธรรมชาติ (eco-tourism) เป็นต้น

สถิติของจุดหมายปลายทางของการเดินทางบ่งชี้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเม็กซิโกสำคัญ 6 แห่ง ที่มีผู้เดินทางไปยังแหล่งเหล่านี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของจุดหมายปลายทางรวม ได้แก่ เมือง Mexico City, Guadalajara และ Monterrey และแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล Acapulco, Veracruz และ Cancun แต่หากพิจารณาเพียวการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จะพบว่า Cancun จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด รองลงมาได้แก่ กรุงเม็กซิโก แหล่งท่องเที่ยวสำคัญรองลงมา ได้แก่ Puerto Vallarta, Acapulco, Los Cabos และ Cozumel

ในปี คศ. 1997 การบริการโรงแรมมีสัดส่วนในผลผลิตของของภาคการท่องเที่ยวระหว่างร้อยละ 12-17 รองจากร้านอาหารและการขนส่ง มีโรงแรมทั้งหมด 14,963 แห่ง และห้องพักรวม 583,731 ห้อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดกลางและย่อม รัฐที่มีโรงแรมมากที่สุดได้แก่ รัฐ Jalisco (จำนวน 1,346 โรงแรม) รองลงมาได้แก่ รัฐ Veracruz (1,197) Oaxaca (1,033) Quintana Roo (763) เขตนครหลวง Federal District (656) และ Chiapas (648)

การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ (Inbound tourism)

ในช่วงระหว่าง คศ. 1990-2000 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าออกเม็กซิโกได้ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยปีละ 1.9 เปอร์เซ็นต์ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็น 20.6 ล้านคนในปี คศ. 2000 การเดินทางข้ามชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกได้ขยายตัวอย่างฉับพลันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงการค้าเสรีนาฟต้า ในปี คศ. 2000 การเดินทางท่องเที่ยวข้ามชายแดนจากสหรัฐฯ เพื่อมาเที่ยวในเม็กซิโกแบบไปกลับภายในวันเดียวได้มียอดเกิน 80 ล้านเที่ยวในปีนั้น

นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึน ข้อมูลสถิติยังบ่งชี้ว่า นักท่องเที่ยวได้เพิ่มการใช้จ่ายในการเดินทาง โดยค่าใช้จ่ายรวมที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายระหว่างปี คศ. 1989-2000 ได้เพิ่มจาก 5.5 พันล้านเหรียญ เป็น 8.3 พันล้านเหรียญ หรือขยายตัวในอัตราร้อลละ 4.1

การเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่น (Outbound tourism)

การเดินทางในท่องเที่ยวในต่างประเทศ มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปตามสภาพวัฏจักรของธุรกิจ และความผันผวนของ โดยสามารถสังเกตเห็นว่า ในระยะวิกฤตการณ์การเงินช่วงปี คศง 1990 เมื่อผลผลิตรวมแห่งชาติได้ลดลงและค่าเงินเปโซได้อ่อนตัวมีค่าลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง การท่องเที่ยวออกไปต่างประเทศได้ลดลงร้อยละ 6.2

แหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ชาวเม็กซิกันนิยมไปที่สุดของ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากชาวเม็กซิกันมีความสะดวกในการเดินทางไปยังสหรัฐฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเพียง และมีบริการรับการท่องเที่ยวที่ดี ทั้งนี้ ชาวเม็กซิกัน นิยมการเดินทางไปซื้อสินค้าบริโภคต่าง ๆ การท่องเที่ยวแหล่งสำราญ เช่น คาซิโน สวนเด็กเล่น หรือการชมเมือง เป็นต้น นักท่องเที่ยวเม็กซิกันไม่นิยมการท่องเที่ยวตามแหล่วงธรรมชาติ ยกเว้นการสกี ซึ่งมักจะมีการเดินทางไปสกีในรัฐ Colorado และ New Mexico ในช่วงฤดูหนาย

ในปี คศ. 1999 ได้มีชาวเม็กซิกันเดินทางออกนอกประเทศจำนวน 7.4 ล้านคน และได้เพิ่มเป็น 12 ล้านคนในปี 2535 ก่อนการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในประเทศเม็กซิโก อันเป็นให้มีการลดค่าเงินเปโซในขั้นแรกถึงร้อยละ 30 การเดินทางไปต่างประเทศได้ลดลงไปหนึ่งในสามในปี คศ. 1993 และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น การเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ค่อยเพิ่มขึ้น โดยมีการขยายตัวประมาณปีละ 5.6 เปอร์เซ้นต์ จนถึงระดับ 11 ล้านคนในปี คศ. 2000

ในปี คศ. 2007 ชาวเม็กซิกันที่เดินทางไปสหรัฐฯ ได้ใช้จ่ายรวม 9.5 พันล้านเหรียญฯ ประมาณร้อยละ 75 เป็นผู้ที่เดินทางไปทางอากาศ

ภาวะวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปของเม็กซิโก และภาวะค่าเงินเปโซที่อ่อนตัว ทำให้การท่องเที่ยวในสหรัฐฯ แพงขึ้นสำหรับชาวเม็กซิกัน และเป็นผลให้มีการเดินทางไปสหรัฐฯ ลดลงไปประมาณร้อยละ 6

การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการท่องเที่ยว

หน่วยงาน FONATUR เป็นหน่วยงานที่เอื้ออำนวยการลงทุนจากต่างประเทศสำหรับภาคการท่องเที่ยวในเม็กซิโก โดยเป็นผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างและการขายที่ดินในพื้นที่ ๆ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ FONATUR เป็นหน่วยงานที่ทำการส่งเสริมการขายที่ดิน รวมทั้งเป็นองค์กรที่เป็นผู้ร่วมทุนกับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยการถือหุ้นส่วนในโครงการลงทุนต่างๆ นอกจากนี้แล้ว ยังให้ความร่วมมือหรือความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคแก่หน่วยงานบรหารในระดับท้องถิ่น และเป็นผู้ประสานงานระหว่างผุ้ทำการพัฒนา หน่วยงานรัฐ และนักลงทุน FONATUR ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ Cancun และ Los Cabos และกำลังเร่งการส่งเสริมสำหรับพื้นที่ในเขต Ixtapa แต่มีพื้นที่ ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ได้แก่ Huatulco และ Loreto ซึ่งจะได้รับการส่งเสริมใหม่อีกรอบต่อไป ส่วนโครงที่จะได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวใหม่มีพื้นที่ในเขค Sea of Cortes (หรืออ่าวแคลิฟอร์เนีย), the Maya Coast และ Palenque

รัฐบาลของเม็กซิโกทำการส่งเสริมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในเขตพื้นที่การท่องเที่ยวต่าง ๆ ในลักษณะเปรียบได้เสมือนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการเอื้ออำนวยพิเศษ การให้สิทธิต่าง ๆ และการร่วมลงทุน กิจกรรมทุกประเภทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ไปลงทุนในเขตพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริม เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ บาร์ โรงแรม ปาร์ค มารีน่า บ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวหรือพนักงาน มอเตอร์โฮม พื้นที่การจัดแคมพ์ ศูนย์การค้า รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ไม่เกิน 50 เอกเกอร์ ผู้ที่สนใจเสนอโครงการลงทุนสามารถยื่นเสนอขออนุมัติรับการส่งเสิรมผ่านกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโก

โอกาสทางการตลาดเพื่อชักจูงท่องเที่ยวจากเม็กซิโก

บริษัททัวร์ที่ต้องการส่งเสริมชักจูงนักท่องเที่ยวจากเม็กซิโกที่มีตัวแทนในสหรัฐฯ จะมีความได้เปรียบกว่าบริษัทที่ต้องกาชักจูงนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันที่ไม่มีสำนักงานตัวแทนในภูมิภาค การเปิดสำนักงานตัวแทนในเม็กซิโกเป็นลู่ทางในการชักจูงที่ดีที่สุด เนื่องจากประเทศเม็กซิโกมีพื้นที่กว้างขวาง การเปิดสำนักงานตัวแทน ควรจะมีสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ในภาคต่าง ๆ เช่น ทีเมือง Guadalajara และ Monterrey นอกจากกรุงเม็กซิโก เป็นต้น

อีกลู่ทางหนึ่งคือการจ้างบริษัททัวร์ที่มีบริการและตัวแทนกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ นอกจากการเสนอราคาที่ดีแล้ว ยังต้องมีการบริการทันต่อเวลา และการบริการหลังการขาย นักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันไม่นิยมทำการซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตและชอบใช้บริการของทัวร์เอเยนต์ การขายผ่านตัวแทนแบบ wholesale เป็นช่องทางการเข้าสู่ตลาดที่ดีที่สุด สองส่วนสามของผู้ขายทัวร์จะเสนอแพ็กเก็จแบบ incentive travel packages แก่บริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่นในภาคเภสัช ธุรกิจห้องแล็บ ธุรกิจประกัน บริษัทขายรถยนต์ บริการท่องเที่ยว บริการการเงิน หรือบริษัทที่ทำการขายตรง

บริษัททัวร์ที่ต้องการเจาะตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1) ทำการโปรโหมดในประเทศเม็กซิโก
2) การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และคู่ค้าฝ่ายเม็กซิกัน เช่น บริษัทที่บริการเกี่ยวกับการเดินทาง ฯลฯ
3) สร้างความเข้าใจกับความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกัน และออกแบบแผนทัวร์ตามความนิยมของลูกค้า 4) ต้องมีพนักงานที่ให้บริการเป็นภาษาสเปนนิช
5) ให้เข้าใจว่าชาวเม็กซิกันมักจะตัดสินใจเดินทางโดยทันด่วน ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และไม่ชอบทำการซื้อบริการผ่านอินเตอร์เน็ต
6) ให้เน้นขายความเชี่ยวชาญด้านบริการที่มีโดยเฉพาะ เช่น บริการสปา บริการท่องเที่ยงในป่า บริการท่องเที่ยวด้านอาหาร หรือบริการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมหรือโบราณสถาน

แหล่งข้อมูล: