ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรพาณิชย์ของเม็กซิโก ASERCA ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกลิ้นจี่ ร่วมกับศูนย์วิจัย CIESTAAM มหาวิทยาลัย Chapingo รัฐ Estado de Mexico สรุปใจความของรายงานได้ดังต่อไปนี้
(รายงานเป็นภาษาเสปนนิชรวมประมาณ 200 หน้า: www.aserca.gob.mx/sicsa/proafex/LITCHI_MEXICANO.pdf)
การเพาะปลูกลิ้นจี่ในระดับใหญ่เพื่อการค้าในประเทศเม็กซิโก ได้เริ่มต้นโดย ครอบครัว Redo de Culiacán ที่รัฐ Sinaloa ได้นำแม่พันธุ์มาจากประเทศจีน มาเป็นเวลานานประมาณร้อยปีแล้ว
ในระหว่างปี 1960-1980 รัฐบาลของเม็กซิโกได้พยายามส่งเสริมการขยายการปลูกผลไม้ในเชิงพาณิชย์หลากหลายชนิด โดยการรณรงค์ของสภาผลไม้แห่งชาติ (CONAFRUT) สถาบันวิจัยป่าไม้ เกษตร และปศุสัตว์ (INIFAP) สถาบันกาแฟแห่งเม็กซิโก (INMECAFE) และเกษตรกรอิสระ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากการขาดประสบการณ์ในการเพาะปลูก และขาดการส่งเสิรมทางการตลาดเพื่อให้ผลไม้ที่ได้รับการส่งเสริมใหม่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภคท้องถิ่น
ปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลเม็กซิโกหันมาส่งเสริมการปลูกผลไม้เชิงเกษตร โดยเฉพาะลิ้นจี่ ได้แก่การที่ราคากาแฟตกต่ำ และการวิจัยการเกษตรได้บ่งชี้ว่า ผลไม้ที่เหมาะแก่การปลูกทดแทนกาแฟได้แก่ maracuyá macademia และลิ้นจี่
มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับพื้นที่การเพาะปลูกลิ้นจี่จากปี 1976 เป็นต้นมา โดยมีการบันทึกตัวเลขพี้นที่การเพาะปลูกลิ้นจี่ในปีนั้น ทั้งหมด 1.82 ล้านตารางเมตร ซึ่งพื้นที่ 1.8 ล้านตารางเมตรเป็นพื้นที่การเพาะปลูกลิ้นจี่ในรัฐ Sinaloa เพียงรัฐเดียว อีก 2 หมื่นตารางเมตรเป็นพื้นที่การเพาะปลูกในรัฐ Nayarit สถิติปี 1996 แสดงพื้นที่การเพาะปลูกลิ้นจี่จำนวน 102 ล้านตารางเมตร โดยเขตการเพาะปลูกได้ขยายไปสู่รัฐอี่น ๆ นอกเหนือจาก Sinaloa อันได้แก่ รัฐ San Luis Potosí, Nayarit, Puebla, Veracruz, Oaxaca, Baja California Sur, Coahuila, Campeche, Chiapas และ Hidalgo ทั้งนี้ การเก็บตัวเลขยอดขายของต้นอ่อนลิ้นจี่จากธุรกิจเพาะต้นอ่อนบ่งชี้ว่า เกษตรกรมีความสนใจขยายการเพาะปลูกลิ้นจี่มากพอสมควร
การบริโภคลิ้นจี่ภายในประเทศยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป ผู้ซื้อผลไม้ในเม็กซิโกมีความเห็นว่า ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่แปลก (exotic) และมีราคาแพง เมื่อเทียบกับผลไม้พื้นเมืองหรือผลไม้ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีหลายหลายประเภทและราคาพอประมาณ
โครงสร้างการขนส่งจากผู้ผลิตลิ้นจี่ไปยังตลาดขายส่งผลไม้ตามภูมิภาคต่าง ๆ ยังขาดการพัฒนา และมีการแบ่งตลาดในระดับภูมิภาค โดยการเพาะปลูกในพื้นที่ San Luis Potosí เน้นการส่งขายในพื้นที่ใกลัเคียง โดยรัฐ Puebla, Veracruz และ Nayarit เน้นการส่งไปยังศูนย์ขายส่งผลไม้ CEDA ของกรุงเม็กซิโก ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่ายขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นแหล่งป้อนผลไม้ให้กับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าสำคัญ ๆ เช่น Aurrera, Superama, Chedraui และ Gigante รวมทั้งการขายส่งให้กับร้านอาหารและโรงแรม ส่วนรัฐอื่น ๆ ส่งขายไปตามศูนย์จำหน่ายผลไม้ (Centrales de Abasto) ของรัฐต่าง ๆ
การเพาะปลูกลิ้นจี่ในเชิงเกษตรพาณิชย์ จึงมีโอกาสของการตลาดขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก โดยมีรัฐ Sinaloa และ Nayarit เน้นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนรัฐ Veracruz มุ่งส่งออกไปยังญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งใช้บริการโครงสร้างเพื่อการส่งออกผลไม้ที่มีอยู่ดั้งเดิมในพื้นที่เหล่านี้
การส่งออกลิ้นจี่ของเม็กซิโกยังขาดคุณภาพ และประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดการสนบสนุนทางการเงิน การขาดงบประมาณการรณรงค์การขาย หรือการเริ่มโครงการใหม่โดยขาดประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลต้น และความไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูกที่จะให้ผลผลิตงอกงามเต็มที่ โดยรวมแล้ว
ทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออกขาดการผสมผสานรวบรวมข้อมูลความรู้และประสบการณ์จากการเพาะปลูกผลไม้อื่น ๆ มาใช้ปรับปรุงการผลิตลิ้นจี่ รวมทั้งการขาดการพัฒนาการตลาดสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ
ผลไม้ที่สามารถขยายการผลิตในเชิงพาณิชย์อื่น ๆ มีโอกาสหลายประเภท แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม ขาดความรู้ด้านเทคนิค ขาดการวิจัย และมีตลาดแคบ
ศูนย์ส่งเสริมเกษตรพาณิชย์เม็กซิโก ได้เสนอแนะว่าควรมีการตั้งองค์กรรวมสำหรับการส่งเสริมผลไม้ (Patronato de Frutas Exóticas) โดยใช้ลิ้นจี่เป็นผลไม้นำทาง เนื่องจากลิ้นจี่เป็นผลไม้ส่งออกที่มีผลตอบแทนในเชิงพาณิชย์สูง และควรส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้อื่น ๆ ที่มีพันธุ์ผลไม้ใกล้เคียง เช่น เงาะ ลำใย หรือ pulasan (เงาะขนสั้น) โดยควรจะมีเป้าหมายพัฒนาการผลิตให้สามารถผลิตได้คุณภาพดี และส่งขายได้ตลอดปี ลดความผันผวนของการผลิตตามฤดูกาล รวมทั้งความจำเป็นในการวิจัยค้นหาวิธีการเพิ่ม storage shelf life ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ได้บ่งชี้ว่าฤดูกาลผลิตลิ้นจี่ของเม็กซิโก มีความได้เปรียบในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตโลกไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดยุโรป
ปัญหาสำคัญของผลผลิตลิ้นจี่จากเม็กซิโกที่เป็นปัจจัยลดความแข่งขันด้านการขาย ได้แก่ การเสียคุณภาพเร็ว เปลือกดำง่าย ลูกเล็ก การเก็บเกี่ยวไม่ถูกเวลา การรักษาหลังเก็บเกี่ยวและการบรรจุยังขาดการพัฒนา