Google Website Translator

Friday, October 28, 2011

Mexico-Central America Unified Trade Agreement

ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเม็กซิโกและกลุ่มประเทศอเมริกากลาง

เมื่อปี 2009 เม็กซิโกได้เริ่มการเจรจาในด้านเทคนิคเพื่อการรวมความตกลงเขตการค้าเสรีที่เม็กซิโกมีกับประเทศนิคารากัว (1998) และคอสตาริกา (1995) เข้ากับความตกลงที่มีกับกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ (North Triangle) ที่ได้ลงนามในปี 2001 ให้เป็นกรอบความตกลงเดียว การเจรจาในรายละเอียดด้านเทคนิคได้เสร็จสิ้นลงระหว่างการประชุมผู้นำประเทศ (Summit of the Tuxtla Mechanism) ครั้งที่ 13 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพการประชุม เมื่อวันที่ 16-17 ตุลาคม 2011 ที่เมือง Tuxtla รัฐ Chiapas การลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีฉบันเดียวใหม่นี้จะเกิดขึ้นในการประชุมผู้นำฯ ครั้งต่อไปในปีหน้า


การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของความตกลงการค้าเสรีฉบับเดียวดังกล่าว คือ การตกลงให้คู่สัญญาทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) เดียวกัน เพื่อการผนวกกระบวนการผลิตในพื้นที่ของคู่สัญญา ให้สามารถนำวัตถุดิบไม่ว่าจากประเทศใดประเทศหนึ่งไปใช้ในกระบวนการผลิตในอีกประเทศหนึ่งได้โดยถือว่ามาจากแหล่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและอาหาร เป็นต้น ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดทันทีได้แก่ ประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งในปัจจุบันต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกน้ำตาลไปยังเม็กซิโก จะสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำตาลไปยังเม็กซิโกได้มากขึ้น ในภาวะที่เม็กซิโกขาดแคลนน้ำตาล และได้เปิดโควต้าการนำเข้าน้ำตาลประมาณ 150,000 ตัน ทั้งนี้ เม็กซิโกมีผลผลิตน้ำตาลช่วง 2010/2011 ปริมาณ 5.18 ล้านตัน แต่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำตาลสำหรับตลาดภายประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับราคาจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ดีกว่า

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้ Summit of the Tuxtla Mechanism ได้แก่ แผนพัฒนา Puebla-Panama Plan (2001) ที่ได้เป็นพื้นฐานของโครงการความร่วมมือ Meso-American Project for Integration and Development ปี 2008 ซึ่งได้เอื้ออำนวยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระหว่างรัฐทางตอนใต้ของเม็กซิโก เพื่อการส่งออกไฟฟ้าจากเม็กซิโกไปยังกลุ่มประเทศอเมริกากลางผ่านเครือขายไฟฟ้าของกัวเตมาลา (Proyecto SIEPAC)

การค้าระหว่างเม็กซิโกกับกลุ่มประเทสอเมริกากลางมีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Wednesday, October 26, 2011

Pirelli invests in tire factory in Mexico

บริษัท Pirelli ลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ในเม็กซิโก


ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่สำคัญจากอิตาลี บริษัท Pirelli ได้แถลงข่าวการลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่เมืองสิเลา รัฐฮัวนาวฮัตโต ประเทศเม็กซิโก เมื่อกลางปี 2011 มูลค่าการลงทุน 210 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโรงงานดังกล่าวจะมีความสามารถในการผลิตยางได้ประมาณ 3-5 ล้านเส้นต่อปี กำลังการผลิตในขั้นต้น 10,500 เส้นต่อวัน จะจ้างคนงานใหม่ประมาณ 1,000 คน และจะเริ่มการผลิตยางรถยนต์เพื่อการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และประเทศอื่น ๆ ในต้นปี 2012

บริษัท Pirelli เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับห้าของโลก มีโรงงานทั้งหมด 24 โรงงานใน 12 ประเทศ สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งมีบราซิลเป็นตลาดที่สำคัญ บริษัท Pirelli มีโรงงานผลิตยางอยู่ 5 แห่ง และอีก 1 โรงงานในอาร์เจนตินา ส่วนตลาดเม็กซิโกนั้น มีศักยภาพในการขยายตัวสูง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีนาฟต้า โดยยอดขายสำหรับภูมิภาคอมริกาเหนือของบริษัท Pirelli ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 25 ในปี 2010 มีสัดส่วนของตลาดทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นร้อยละ 10 มูลค่ายอดขาย ประมาณ 630 ล้านเหรียญฯ นอกจากการลงทุนในเม็กซิโกแล้ว บริษัท Pirelli ยังได้ขยายกำลังการผลิตในประเทศจีน โรเมเนีย และรัสเซีย ในปี 2011 นี้

ปัจจัยที่ดึงดูดการตัดสินใจของบริษัท Pirelli สำหรับลงทุนในเม็กซิโก เนื่องจากเห็นว่า เม็กซิโกมีความพร้องด้านสถาบันการศึกษาในรัฐฮัวนาวฮัตโต การฝึกแรงงานที่มีฝีมือมีความจำเป็นสำหรับการผลิตยางคุณภาพสูง การออกแบบเพื่อการผลิตยางรถยนต์ ต้องใช้ความรู้ด้านเภสัชประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ อีกทั้ง ยังต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต ในขณะนี้ บริษัท Pirelli ได้เริ่มการฝึกวิศวกรเฉพาะด้าน 17 คน และช่างอีก 150 คน เพื่อรับหน้าที่ในการควบคุมการผลิตที่จะเริ่มในปี 2012

การนำเข้าและส่งออกยางรถยนต์ในเม็กซิโก

นาย Rubén López ผู้อำนวยการสมาคมผู้จัดจำหน่ายยางรถยต์แห่งเม็กซิโก (Andellac) ได้รายงานในงานแสดงสินค้า Expo ANDELLAC ครั้งที่ 37 ที่เมือง Acapulco เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2011 ว่า การขายยางที่ใช้แล้วจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการขายยางใช้แล้วที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณปีละ 2 ล้านเส้น รวมทั้งยังได้มีการลักลอบการนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการขายยางที่ผลิตในเม็กซิโกที่มียอดขายลดลงจากประมาณ 25 ล้านเส้นต่อปี เป็น 21 ล้านเส้นค่อปี ร้อยละ 80 ของยางรถยนต์ที่ขายภายในประเทศ เป็นยางสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล ส่วนที่เหลือเป็นสำหรับรถบรรทุก การขายยางรถยนต์ในเม็กซิโกเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยมียี่ห้อของยางที่ขายทั้งหมดประมาณ 100 ยี่ห้อ โดยส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ผู้ผลิตยางที่สำคัญในเม็กซิโกเป็นบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในเม็กซิโก มีบริษัท Bridgestone- Firestone ซึ่งมีโรงงานอยู่ 2 แห่ง ที่ Cuernavaca และ Monterrey บริษัท Continental ประเทศเยอรมันมีโรงงาน 1 แห่ง ที่ San Luis Potosi บริษัท Michellin มีโรงงานอยู่ที่รัฐ Queretaro บริษัท Corporación de Occidente ของ Cooper Tire สหรัฐ มีโรงงานอยู่หนึ่งแห่ง ส่วนผู้ผลิตยางที่มีเจ้าของเป็นเม็กซิกันมีเพียงบริษัท คือ บริษัท Hurela Tornel ก่อตั้งเมื่อปี 1937 ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 3 แห่งใน Estado de Mexicoได้ถูกขายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท JK Tyre ประเทศอินเดียเมื่อปี 2008

เม็กซิโกพึ่งการนำเข้ายางรถยนต์จากต่างประเทศ โดยในปี 2010 ได้นำเข้ายางรถยนต์เป็นมูลค่ารวม 1,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ในสัดส่วนร้อยละ 43.48 การนำเข้าปี 2009 มูลค่า 1,347.6 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐฯ ในปี 2010 มีสัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 51 มูลค่า 986.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ การนำเข้าจากจีนในสัดส่วนร้อยละ 18 มูลค่า 352 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าอื่น ๆ ได้แก่ ประเทศบราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน การนำเข้ายางสำหรับรถบรรทุกมีมากกว่าการนำเข้ายางสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล

เม็กซิโกมีการส่งออกยางเล็กน้อย ในปี 2010 ได้มีการส่งออกมูลค่า 448 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐเป็นส่วนใหญ่

ภาวะอุตสากรรมผลิตยางในระดับโลก

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2009 ได้แสดงตัวให้เห็นในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกเป็นอันดับแรก โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตยาง พลาสติก และเหล็ก ก็ได้รับการกระตุ้นอย่างเงียบๆ อุตสาหกรรมการการผลิตยางรถยนต์เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง โดยวัฏจักรการผลิตยางมีความสลับซับซ้อนในหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่เกี่ยวข้องกับเกษตกรรายเล็กผู้ปลูกต้นยาง ไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมที่ต้องทำการแปรสภาพเพื่อส่งไปยังโรงงานที่ผลิตยางที่มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งการผลิตยางสังเคราะห์ กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีอย่างสูง จนถึงขั้นสุดท้ายของการจัดจำหน่าย ที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยางรถยนต์รายเล็กที่มีกระจัดกระจายไปทั่วโลก

การผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกมีปริมาณประมาณ 1 พันล้านเส้น และมีโรงงานทั้งหมดประมาณ 400 แห่ง ผู้ผลิตยางที่สำคัญ 3 อันดับแรก มีสัดส่วนการครองตลาด ประมาณร้อยละ 60 ของตลาดทั้งหมด

ในสหรัฐฯ มีบริษัทผู้ผลิตยางประมาณ 100 แห่ง รายได้ต่อปีรวม 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทสำคัญคือ Goodyear, Bridgestone, Michelin และ Cooper ที่ครองตลาดในสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 75 ยอดขายยางในสหรัฐฯ ในปี 2010 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ประมาณ 7 ล้านเส้น และได้มีการคาดว่าในปี 2011 จะมียอดขายประมาณ 275 ล้านเส้น

ความต้องการสำหรับยางรถยนต์ประเภทรถบรรทุกเล็กและใหญ่จากประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการผลิตยางในภาวะปัจจุบัน ได้มีการคาดคะเนว่า อัตราการขยายตัวสำหรับการผลิตยางรถยนต์จะขยายตัวมากกว่าการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ใน 10 ปีข้างหน้า อนาคตของการผลิตยางรถยนต์ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบ การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสำหรับการรีไซเคิ้ลยางที่ใช้แล้วเป็นสำคัญ ปัจจัยที่เป็นตัวกดในทางลดสำหรับการขยายตัวของการผลิตยาง ได้แก่ คุณภาพของยางที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีคงทนกว่าเก่า และการชลอตัวของการซื้อรถยนต์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง


Expo Andellac:




Monday, October 17, 2011

Rice in Mexico

สถานการณ์ข้าวภายในประเทศเม็กซิโก


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก (Consejo Mexicano del Arroz) ได้แจ้งข่าวผลผลิตข้าวภายในประเทศเม็กซิโกประจำปี 2554 คาดการณ์ผลผลิตจำนวน 340,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 17 แต่ยังคงเทียบได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเม็กซิโก ที่มีปริมาณความต้องการรวมประมาณปีละ 800,000 ตัน - 1 ล้านตันต่อปี

พื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเม็กซิโกอยู่ในรัฐตอนกลางของเม็กซิโกของทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ฝั่งแปซิฟิกได้แก่ รัฐ Michoacan Nayarit Colima Sinaloa และ Jalisco ฝั่งแอทแลนติกได้แก่รัฐ Veracruz Campeche Tamaulipas และ Campeche การนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ได้มีจุดเริ่มต้นจากโรงสีข้าวในรัฐ Sinaloa ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ส่งออกข้าวสหรัฐ และประเภทของข้าวที่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้บริโภคเม็กซิกัน แยกเป็นสองประเภทคือ ประเภท Sinaloa Long Grain และประเภท Morelos Short Grain โดยข้าวประเภท long grain มักจะเป็นข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ราคาของข้าว long grain ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และปากีสถานมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวที่ผลิตภายในประเทศถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้ตลาดของข้าวประเภท Morelos ที่ผลิตภายในประเทศเป็นที่นิยมน้อยลง รัฐบาลของเม็กซิโกได้เริ่มการรณรงค์ด้านโภชนาการและสุขภาพเมื่อต้นปี 2543 เพื่อส่งเสริมให้ชาวเม็กซิกันหันมาทานข้าวที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ได้มีผลเพิ่มอัตราการบริโภคข้าวต่อหัวโดยทั่วไป จากคนละ 5.8 กิโล เป็น 6.5 กิโลต่อปีในระหว่างปี 2542-2544

ประเทศเม็กซิโกนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ เป็นหลัก ประมาณร้อยละ 99 นอกจากสหรัฐฯ แล้วจะมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในปริมาณที่น้อยมากได้แก่ จากอุรุกวัย ไทย และอิตาลี เป็นต้น ประเภทของข้าวที่นำเข้าเป็นข้าวที่ยังมิได้สีในอัตราส่วนร้อยละ 75.94 กึ่งสีและสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 23.37 และข้าวหักและข้าวสีอื่นในอัตราร้อยละ 0.68

ในปี 2553 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวโดยรวมมูลค่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปริมาณ 842,410 ตัน) โดยเป็นมูลค่าที่ลดลงจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 7.3 จากมูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปริมาณ 821,769 ตัน) โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 318.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราส่วนร้อยละ 99.57 และนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยนำเข้าจากประเทศอุรุกวัยมูลค่า 0.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,560 ตัน) นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 3 มูลค่า 239,000 เหรียญสหรัฐฯ (222 ตัน) และนำเข้าจากอิตาลีเป็นอันดับ 4 มูลค่า 163,000 เหรียญสหรัฐฯ (84.5 ตัน)

สำหรับปี 2554 (ม.ค.–ก.ค.) เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวเป็นมูลค่า 209.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดนำเข้าหลัก ในมูลค่า 204.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วยการนำเข้าจากประเทศอุรุกวัย มูลค่า 4.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจากช่วง ม.ค.–ก.ค. ปี 2553 ถึงร้อยละ 342.8 รวมทั้งเพิ่มการนำเข้าข้าวจากปากีสถาน มูลค่า 476,799 เหรียญสหรัฐฯ เทียบเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 2,052 จากช่วง ม.ค.–ก.ค. ปี 2553 ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 122,485 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปี 2553

สาเหตุหลักที่มีการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ในปริมาณและมูลค่าสูงเนื่องมาจากเป็นนำเข้าข้าวที่ยังมิได้สี ทำให้อัตราภาษีนำเข้าถูกและเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐฯ เพื่อให้มีการนำเข้าข้าวมาสีภายในประเทศ นอกจากนี้ประชากรของเม็กซิโกส่วนใหญ่ มิได้บริโภคข้าวเป็นหลัก แต่จะบริโภคข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่เรียกว่า ‘ตอติย่า’ เป็นอาหารหลัก มีการนำข้าวมาประกอบอาหารในลักษณะอาหารข้างเคียง ความคุ้นเคยกับข้าวประเภท long grain ของสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าข้าวของไทยมีจำกัดในเฉพาะกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับอาหารไทย หรืออาหารเอเชีย คนเอเชียที่อาศัยออยู่ในประเทศเม็กซิโก และร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนน้อยในประเทศ

เม็กซิโกได้สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยมาโดยตลอด แต่จะนำเข้าในปริมาณน้อย โดยมักจะเป็นการนำเข้าข้าวไทยจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีร้านอาหารไทยในเม็กซิโกไม่เกิน 10 ร้านที่ต้องใช้ข้าวไทยเพื่อจัดทำอาหาร โดยร้านอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำเข้าข้าวมาด้วยตัวเองในปริมาณน้อย หรือหาตัวแทนจำหน่ายข้าวจากตัวแทนจำหน่ายในเม็กซิโก โดยนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง

เม็กซิโกมีการส่งออกข้าวเล็กน้อย โดยในปี 2553 ได้มีการส่งออกเป็นมูลค่ารวม 3.49 ล้านตัน ปริมาณประมาณ 5,535 ตัน เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และคิวบา เป็นสำคัญ

ราคาขายปลีกของข้าวในประเทศเม็กซิโก

ราคาขายปลีกของข้าวที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า สำหรับข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ หรือข้าวที่มีการสีภายในประเทศ จะจัดจำหน่ายอยู่ในอัตราราคาประมาณ 12-25 เปโซ ต่อ 1 กิโลกรัม ในขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยมักจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอาหารพิเศษ (gourmet) หรืออาหารจากต่างประเทศ จะตั้งราคาอยู่ประมาณ 40-60 เปโซ ต่อ 1กิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 2.33 บาท = 1 เปโซ ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2554)


ระเบียบการนำเข้าข้าว

เมื่อเดือนเมษายน 2551 กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ประกาศการยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าข้าว และได้ยกเลิกโควต้าชั่วคราวสำหรับการนำเข้าข้าวมาในประเทศเม็กซิโก อันเนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนข้าวในโลกที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยกเลิกอัตราค่าภาษีนำเข้าจากร้อย 10 สำหรับข้าวเปลือก และร้อยละ 20 สำหรับข้าวขาว

มาตรฐานสินค้าตามกฎระเบียบการนำเข้าเลขที่ NOM-028-FITO-1995 ของเม็กซิโก มีสาระสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

1.) เฉพาะสินค้าข้าวที่สีแล้ว (Polished Rice) ที่ส่งออกจากไทยไปยังประเทศเม็กซิโกจะต้องมีการ Fumigate จำนวน 2 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกก่อนบรรจุข้าวลงถุง และครั้งที่สองเมื่อบรรจุลงถุงแล้ว โดยจะต้องมีใบรับรองออกโดยภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย (กรมวิชาการเกษตร) เท่านั้น โดยระบุว่าได้มีการ Fumigate ทั้ง 2 ครั้งจริง ทั้งนี้ให้ระบุรายละเอียดในข้อที่ 8 ของแบบฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร

2.) สารเคมีที่ใช้ในการอบ Fumigate สามารถใช้สาร Methyl Bromide โดยให้มีระดับปริมาณการใช้สารฯ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการอบ อุณหภูมิระหว่างที่อบและความเข้มข้นของสาร Methyl Bromide

ทั้งนี้โดยให้ใส่ข้อมูลระยะเวลาอบ และอุณหภูมิระหว่างที่อบไว้ให้ครบถ้วนในข้อที่ 13 ของแบบ ฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร และให้ระบุความเข้มข้นของสาร Methyl Bromide เป็นมาตรา Metric ไว้ในข้อที่ 14 ของแบบฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร

3.) ด่านศุลกากรทางการเม็กซิโกตามที่ระบุใน NOM-028-FITO-1995 ที่อนุญาตให้ผ่านพิธีการนำเข้าข้าวจากไทย กำหนดให้ผ่านด่านศุลกากรตามท่าเรือต่อไปนี้ Tuxpan, Veracruz, Manzannillo และ Puerto de Altamira เท่านั้น

ระเบียบดังกล่าวมีความเคร่งครัด เนื่องจากประเทศเม็กซิโกถือว่าสินค้าข้างเป็นพืชผลที่อาจมีแมลงที่อาจมีทำลายพืชผลที่เป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ของประเทสศุง หากพบแมลงเพียงตัวอย่างเดียวจะมีคำสั่งให้ทำลายปริมาณการส่งออกของ shipment ทั้งหมด มิได้อนุญาตให้มีการส่งออกกลับไปยังต้นทาง และได้มีกรกณีตัวอย่างการนำเข้าจากไทยที่มิได้ดำเนินการตามระเบียของเม็กซิโกมาแล้ว จึงจำเป็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ถูกต้อง

ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายข้าวของประเทศเม็กซิโก:

1. CAMPBELLS DE MEXICO SA DE CV
Mrs. Jaqueline Santoyo
Km. 291.5 Carr. Mexico – Cd. Juarez
38260 Villagrán, Gto.
Jaqueline_santoyo@campbellsoup.com
www.campbells.com.mx
Tel: +52 (461) 618 5400 Ext. 5423
Fax: +52 (461) 618 5410

2. CENTENNIAL SA DE CV
Mr. Sergio García Pineda
Av. Del Cristo 101
Col. Xocoyahualco
Tlalnepantla, Mex 54080
compra@cen.casasaba.com
www.centennial.com.mx
Tel: +52 5374 0433 Ext. 2511
Fax: +52 5374 0433 ext. 2615

3. EMPACADOS SA DE CV
Mr. Raul Miranda
Los Angeles Ote 2200-C
Col. Mariano Escobedo
Monterrey N.L 64510
rmiranda@empacados.com
compras@empacados.com
www.empacados.com
Tel: +52(81)12 53 3222 Ext. 1006, 1007
Fax: +52(81) 12 53 3225

4. KELLOGG DE MEXICO
Km. 1 Carr. Campo Militar
Col. San Antonio de la Punta
Querétaro, Qro. 76135
Javier.ysunka@kellogg.com
www.kellogg.com.mx
Tel: +52(442) 211 1300 Ext. 1439
Fax: +52(442) 215 3020

5. MEXICANA DE VIVERES MSV SA DE CV
Mr. Martin Samano
Central de Abastos Bod F-46
Mexico D.F. 09040
masaveja@prodigy.net.mx
Tel +52(55)5694 0758
Fax: +52(55)5694 2746

5. MICHEL ONTIVEROS PABLO IGNACIO
Mr. Alejandro Rivera
Cam. Escuela de Agricultura 7620
Col. La Venta del Astillero
Zapopan jal. 45220
rivera@michel.com.mx
www.michel.com.mx
Tel: +52(33)36 82 04 40, 3682 0184 Ext. 243
Fax: +52(33)35 85 5579

6. PRODUCTOS VERDE VALLE
Mr. Manuel Flores Alvarez
Vallarta 5683, sector Juárez
Col. Santa María del Pueblito
Zapopan Jal. 45010
manuelfa@verdevalle.com.mx
gerardoot@verdevalle.com.mx
www.verde-valle.com.mx
Tel: +52(33)3540 2200 Ext. 2252, 2254
Fax: +52(33)3540 4234

7. SANA INTERNACIONAL S DE RL DE CV
Mrs. Eva Anaya
Miguel dela Madrid S/n
Parque Industrial
San Luis Rio Colorado, Son. 83455
Eva.anaya@sanainternacional.com
compras@sanainternacional.com
www.sanainternacional.com
Tel: +52(653) 534 5161 Ext. 114
Fax: +52(653) 534 5159

8. SURTIDORA ABARROTERA SA DE CV
Mr. Ignacio Sámano
Central de Abastos Bod. E-33
Zona Urbana Ejidal
México D.F. 09040
surtabar@prodigy.net.mx
Tel: +52(55) 5616 4626, 5616 4780 Ext. 40
Fax: +52(55) 5616 4649

9. ALIMENTOS Y CEREALES SA DE CV 
Mr. Luis Montemayor
Pedro Celestino Negrete 1325 Pte
Col. Industrial
Monterrey N.l. 64440
lemontemayor@graselrindemas.com
www.graselrindemas.com
Tel: +52(81)8375 5697 Ext. 25, 27
Fax: +52(81) 8375 4661

10. SUSHI PALMAS SA DE CV (SUSHI ITTO)
Mrs. Alma Mondragón
Cuauhtemoc 158
Col. Tizapan de San Angel
Mexico D.F. 01090
amondragon@alimentaria.com.mx
www.sushi-itto.com
www.sushi-palmas.com.mx
Tel: +52(55)5616 4626, 5616 4780 Ex. 54, 42
Fax: +52 (55) 5550 2532

11. Kume Importaciones S.A. de C.V.
Mr. C.P. Felipe Juarez Martinez
Matriz Mexico, D.fF.
Isabel La Catolica 409, Col. Obrera C.P. 06800
ventas@kume.com.mx
www.kume.com.mx
Del: Cuahtemoc, Mexico, D.F.
Tel: +52(55)5538 8337, 5519 3664
Fax: +52(55)5440 2498, 5538 8933

Wednesday, October 5, 2011

International Conference on Denomination of Origin and Geographical Indications, Guadalajara, 30 September 2011

การปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้าและการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

Organization for an International Geographical Indications Network-oriGIn (www.origin-gi.com) ก่อตั้งเมื่อปี 2003 เป็นองค์กรเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีสมาชิกประมาณ 200 องค์การ ที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการปกป้องตราชื่อแหล่งต้นกำเนิดต่างๆ รวม 2 ล้านคน จาก 40 กว่าประเทศ ได้จัดการประชุมสมาชิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5 และการสัมนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับ การปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้า และการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร“International Conference on “Denominations of Origin and Geographical Indications” ที่เมืองกัวดาลาฮาร่า รัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2011 โดย Consejo Regulador del Tequila (CRT) แห่งเม็กซิโก ได้เป็นเจ้าภาพด้านสถานที่จัดการประชุม ที่ Art Museum Zapopan สรุปใจความสำคัญการประชุมได้ดังนี้

ประเทศเม็กซิโก

Mr. Ramón Gonzalez Figueroa นายกสภามาตรฐานเตกีลา (CRT) แห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม oriGIn มาแล้วสองสมัย ได้เปิดงานสัมมนาฯ โดยกล่าวถึงความสำคัญด้านเศรษฐกิจของการปกป้องตราหรือชื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดของสินค้าทางภูมิภศาสตร์ (GIs) โดยการยกตัวอย่างความสำเร็จของการปกป้องการใช้ชื่อเตกีลาของเม็กซิโก ที่เป็นการรับรองให้แก่ผู้บริโภคไห้มีความมั่นใจในคุณภาพของเหล้าเตกีลา โดยมาตรฐานดังกล่าวมีกฎมาตรฐานสินค้าที่รัฐบาลของเม็กซิโกเป็นผู้กำหนดในด้านหนึ่ง และได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโดยหน่วงงานอิสระอีกด้านหนึ่ง

Mr. Alberto Cardenas สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้ว่าราชการรัฐฮาลิสโก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วุฒิสภาของเม็กซิโก กำลังรณรงค์กำหนดแผนงานระดับชาติ เพื่อการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อยกระดับการส่งเสริมอาหารเม็กซิกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีร้านอาหารเม็กซิกันอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง และผู้บริโภคยังมีความเข้าใจผิดระหว่างอาหารเม็กซิกันกับอาหารประเภท Tex-Mex

ในประเทศเม็กซิโก มีสินค้าที่ได้รับการปกป้องแหล่งต้นกำเนิดประเภท Denomination of Origin 13 ประเภท โดยเหล้าเตกีลา เป็นสินค้าที่มีความสำคัญและได้รับการพัฒนาในด้านการปกป้องต้นกำเนิดที่ก้าวหน้าที่สุด องค์กรจากประเทศเม็กซิโกที่เป็นสมาชิกกลุ่ม oriGIn มี 3 องค์กร คือ สภาผู้ผลิตพริก (Comité Estatal Sistema Producto Chile del Estado de Yucatán A.C.) สภาควบคุมมาตรฐานกาแฟ(Consejo Regulador Café Veracruz) และสภาควบคุมมาตรฐานเตกีลา (Consejo Regulador del Tequila-CRT)

ประเทศอิตาลี

Mr. Ricardo Desserti ตัวแทนกระทรวงเกษตรอิตาลี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารแจ้งข้อมูลกับผู้บริโภค เกี่ยวกับคุณค่าของ GIs ที่มีคุณค่านอกเหนือจากคุณค่าของคุณภาพอาหาร แต่รวมถึงการอนุรักษ์มรดกของชุมชนและท้องถิ่นอีกด้วย การส่งเสริมคุณค่าของ GIs จะต้องรักษาการพัฒนาและขยายตัว และไม่ได้มีเป็าหมายเพียงผู้ผลิตที่ใช้ GIs เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย

ประเทศเปน

Mr. Federico Moncunill จากสมาคมแหล่งกำเนิดสินค้าประเทศสเปน ได้กล่าวถึงความสำคัญของ GIs สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ GIs ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเป็นปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมทั้ง GIs และการท่องเที่ยวร่วมกัน การโฆษณาเกี่ยวกับสินค้า GIs ในประเทศสเปนเน้นการจับต้องอารมย์ของผู้บริโภค (touch emotions) รวมทั้ง ความร่วมมือของเชฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาช่วยในการส่งเสริมสินค้าอาหารของสเปน ประเทศสเปนเป็นประเทศที่ได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับการส่งเสริม GIs อย่างมาก เช่น ไวน์ Navarra ขนม nougat จาก Fijon/Alicante ใส้กรอกและชีสประเภทต่าง ๆ เฮม Iberico น้ำมันมะกอก ฯลฯ

ประเทศโคลัมเบีย

Mr. Luis Fernando Samper ได้ยกตัวอย่างการส่งเสริมต้นกำเนิดของกาแฟจากเมือง Nariño ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเมืองที่ห่างไกลเกินความสนใจของนักท่องเที่ยว แต่สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจของต้นกำเนิดสินค้า โดยการสร้างเวปไซท์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนที่พึ่งรายได้จากการขายกาแฟในเขตนี้ กระบวนการที่ใช้ และความสำคัญของภูมิประเทศ ในลักษณะที่นำเสนอ virtual tour เกี่ยวกับเมือง Nariño ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงความสำคัญของต้นกำเนิดสินค้า

กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของไวน์ Napa Valley แคลิฟอร์เนีย และ Champagne จากฝรั่งเศส

การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GIs สำหรับเหล้าและไวน์มักจะมีปัญหาต่าง ๆ นานา อาทิ การปลอมแปลงสินค้า (counterfeiting) หรือการลักลอบขาย (piracy) ยกตัวอย่างเหล้า Champagne จากฝรั่งเศส ที่มียอดขาย 319.5 ล้านขวดใน 195 ประเทศในปี 2010 องค์การ Interprofessional Committee of Wine of Champagne ได้ห้ามการใช้ชื่อ California Champagne และห้ามการใช้ชื่อ Champagne ในสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น น้ำหอม ขนม รองเท้า ฯลฯ รวมทั้งได้ทำการสืบสวนและทำลายสินค้าที่ปลอมแปลง ระหว่างปี 2008-2010 ได้มีการปลอมเหล้าแชมเปนถึง 600,000 ขวด มูลค่าประมาณ 1 ล้านยูโรที่มาเฟียในอิตาลีพยายามที่จะขายในตลาดยุโรป

ส่วนในสหรัฐฯ นั้น ผู้ผลิตไวน์จากพื้นที่ Napa Valley ได้แสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอ เพื่อการจดทะเบียนการปกป้องการใช้เครื่องชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับการใช้ชื่อ Napa Valley และได้รวมตัวกันโดยอิสระเพื่อการรักษาคุณภาพและการปกป้องคุณค่าของการใช้ชื่อดังกล่าว โดยการฟ้องร้องกับศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ให้ห้ามผู้ผลิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้ใช้ชื่อนี้อย่างเด็ดขาด

กรณีตัวอย่างผลิตภัณฑ์เกษตร California Prune

สมาคม Prune Bargaining Association ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 800 คน พื้นที่เพาะปลูก 60,000 เอเกอร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตากแห้ง 20 ราย และผู้บรรจุและจำหน่าย 20 ราย ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและโลโก้สำหรับ California Prunes โดยสมาคมดังกล่าวติดตามตรวจสอบคุณภาพของสินค้าพรุนที่ใช้ตราดังกล่าว เพื่อการคงรักษาระดับมาตรฐานของผู้ใช้ตราและได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในปีหนึ่งที่ผลผลิตลูกพรุนในแคลิฟอร์เนียไม่เพียงพอเพื่อการบรรจุขายและมีความจำเป็นต้องนำเข้าลูกพรุนจากแหล่งอื่นๆ สมาคมฯ ได้ระงับการใช้คำว่า “California” ในการบรรจุสินค้า สมาคมฯ ได้ค้นพบว่า มีประเทศที่สามได้พยายามปลอมแปลงการใช้ตราของ California Prunes โดยการใช้ California Plums แทน

สรุปปัญหาสำคัญในการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยสรุปแล้ว อุปสรรคปัญหาสำคัญของการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ความจำเป็นในการรักษาการลงทุนเพื่อการส่งเสริมและการตลาด การขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดังกล่าว การรักษาระดับการผลิตของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด การแบ่งแยกประเภทของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้มีความหลากหลาย และความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

Declaration of Guadalajara

OriGIn ได้ประกาศแถลงการณ์ผลการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้าและการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Declaration of Guadalajara) ที่มีข้อความสำคญคือ
  • การประท้วงและเรียกร้องต่อ Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) และ WIPO เกี่ยวกับการจดทะเบียนใช้ชื่อโดเมนในอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ GIs ที่ถูกต้อง ให้แก้ไขกฎระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด cyber squatting และควบคุมการใช้ชื่อโดเมนที่มีผลกระทบต่อสินค้า GIs อย่างถูกต้อง 
  • เรียกร้องและรณรงค์ให้มีโครงการพัฒนาที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาให้หันมาใช้ GIs เพื่อการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก 
  • เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศ มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานสินค้า GIs แบบ voluntary standards ให้เป็นระบบมากขึ้น 
สมาชิกของกลุ่ม oriGIn ได้แก่ บราซิล บูคินาฟาโซ แคนาดา จีน โคลัมเบีย โครเอเชีย คิวบา ฝรั่งเศส เยอรมัน กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินเดีย อิตาลี จาเมคา เคนยา มองโกเลีย มอร็อคโก เม็กซิโก เปรู โปรตุเกส สเปน สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐ และเวเนซูเอลา

ความหมายของ”สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications หรือ GI) จาก http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=view&id=291&Itemid=248
“สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้ แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น มีดอรัญญิก ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ คอนยัค เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวคุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ”
ข้อมูลเพิ่มเติม 
http://www.crt.org.mx/
http://www.origin-gi.com/index.php?option=com_content&view=article&id=214:29-30-september-2011-origin-v-general-assembly-and-international-conference&catid=13:origin-events&Itemid=116&lang=en