Organization for an International Geographical Indications Network-oriGIn (www.origin-gi.com) ก่อตั้งเมื่อปี 2003 เป็นองค์กรเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีสมาชิกประมาณ 200 องค์การ ที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการปกป้องตราชื่อแหล่งต้นกำเนิดต่างๆ รวม 2 ล้านคน จาก 40 กว่าประเทศ ได้จัดการประชุมสมาชิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5 และการสัมนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับ การปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้า และการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร“International Conference on “Denominations of Origin and Geographical Indications” ที่เมืองกัวดาลาฮาร่า รัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2011 โดย Consejo Regulador del Tequila (CRT) แห่งเม็กซิโก ได้เป็นเจ้าภาพด้านสถานที่จัดการประชุม ที่ Art Museum Zapopan สรุปใจความสำคัญการประชุมได้ดังนี้
ประเทศเม็กซิโก
Mr. Ramón Gonzalez Figueroa นายกสภามาตรฐานเตกีลา (CRT) แห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม oriGIn มาแล้วสองสมัย ได้เปิดงานสัมมนาฯ โดยกล่าวถึงความสำคัญด้านเศรษฐกิจของการปกป้องตราหรือชื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดของสินค้าทางภูมิภศาสตร์ (GIs) โดยการยกตัวอย่างความสำเร็จของการปกป้องการใช้ชื่อเตกีลาของเม็กซิโก ที่เป็นการรับรองให้แก่ผู้บริโภคไห้มีความมั่นใจในคุณภาพของเหล้าเตกีลา โดยมาตรฐานดังกล่าวมีกฎมาตรฐานสินค้าที่รัฐบาลของเม็กซิโกเป็นผู้กำหนดในด้านหนึ่ง และได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโดยหน่วงงานอิสระอีกด้านหนึ่ง
Mr. Alberto Cardenas สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้ว่าราชการรัฐฮาลิสโก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วุฒิสภาของเม็กซิโก กำลังรณรงค์กำหนดแผนงานระดับชาติ เพื่อการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อยกระดับการส่งเสริมอาหารเม็กซิกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีร้านอาหารเม็กซิกันอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง และผู้บริโภคยังมีความเข้าใจผิดระหว่างอาหารเม็กซิกันกับอาหารประเภท Tex-Mex
ในประเทศเม็กซิโก มีสินค้าที่ได้รับการปกป้องแหล่งต้นกำเนิดประเภท Denomination of Origin 13 ประเภท โดยเหล้าเตกีลา เป็นสินค้าที่มีความสำคัญและได้รับการพัฒนาในด้านการปกป้องต้นกำเนิดที่ก้าวหน้าที่สุด องค์กรจากประเทศเม็กซิโกที่เป็นสมาชิกกลุ่ม oriGIn มี 3 องค์กร คือ สภาผู้ผลิตพริก (Comité Estatal Sistema Producto Chile del Estado de Yucatán A.C.) สภาควบคุมมาตรฐานกาแฟ(Consejo Regulador Café Veracruz) และสภาควบคุมมาตรฐานเตกีลา (Consejo Regulador del Tequila-CRT)
ประเทศอิตาลี
Mr. Ricardo Desserti ตัวแทนกระทรวงเกษตรอิตาลี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารแจ้งข้อมูลกับผู้บริโภค เกี่ยวกับคุณค่าของ GIs ที่มีคุณค่านอกเหนือจากคุณค่าของคุณภาพอาหาร แต่รวมถึงการอนุรักษ์มรดกของชุมชนและท้องถิ่นอีกด้วย การส่งเสริมคุณค่าของ GIs จะต้องรักษาการพัฒนาและขยายตัว และไม่ได้มีเป็าหมายเพียงผู้ผลิตที่ใช้ GIs เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย
ประเทศเปน
Mr. Federico Moncunill จากสมาคมแหล่งกำเนิดสินค้าประเทศสเปน ได้กล่าวถึงความสำคัญของ GIs สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ GIs ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเป็นปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมทั้ง GIs และการท่องเที่ยวร่วมกัน การโฆษณาเกี่ยวกับสินค้า GIs ในประเทศสเปนเน้นการจับต้องอารมย์ของผู้บริโภค (touch emotions) รวมทั้ง ความร่วมมือของเชฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาช่วยในการส่งเสริมสินค้าอาหารของสเปน ประเทศสเปนเป็นประเทศที่ได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับการส่งเสริม GIs อย่างมาก เช่น ไวน์ Navarra ขนม nougat จาก Fijon/Alicante ใส้กรอกและชีสประเภทต่าง ๆ เฮม Iberico น้ำมันมะกอก ฯลฯ
ประเทศโคลัมเบีย
Mr. Luis Fernando Samper ได้ยกตัวอย่างการส่งเสริมต้นกำเนิดของกาแฟจากเมือง Nariño ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเมืองที่ห่างไกลเกินความสนใจของนักท่องเที่ยว แต่สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจของต้นกำเนิดสินค้า โดยการสร้างเวปไซท์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนที่พึ่งรายได้จากการขายกาแฟในเขตนี้ กระบวนการที่ใช้ และความสำคัญของภูมิประเทศ ในลักษณะที่นำเสนอ virtual tour เกี่ยวกับเมือง Nariño ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงความสำคัญของต้นกำเนิดสินค้า
กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของไวน์ Napa Valley แคลิฟอร์เนีย และ Champagne จากฝรั่งเศส
การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GIs สำหรับเหล้าและไวน์มักจะมีปัญหาต่าง ๆ นานา อาทิ การปลอมแปลงสินค้า (counterfeiting) หรือการลักลอบขาย (piracy) ยกตัวอย่างเหล้า Champagne จากฝรั่งเศส ที่มียอดขาย 319.5 ล้านขวดใน 195 ประเทศในปี 2010 องค์การ Interprofessional Committee of Wine of Champagne ได้ห้ามการใช้ชื่อ California Champagne และห้ามการใช้ชื่อ Champagne ในสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น น้ำหอม ขนม รองเท้า ฯลฯ รวมทั้งได้ทำการสืบสวนและทำลายสินค้าที่ปลอมแปลง ระหว่างปี 2008-2010 ได้มีการปลอมเหล้าแชมเปนถึง 600,000 ขวด มูลค่าประมาณ 1 ล้านยูโรที่มาเฟียในอิตาลีพยายามที่จะขายในตลาดยุโรป
ส่วนในสหรัฐฯ นั้น ผู้ผลิตไวน์จากพื้นที่ Napa Valley ได้แสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอ เพื่อการจดทะเบียนการปกป้องการใช้เครื่องชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับการใช้ชื่อ Napa Valley และได้รวมตัวกันโดยอิสระเพื่อการรักษาคุณภาพและการปกป้องคุณค่าของการใช้ชื่อดังกล่าว โดยการฟ้องร้องกับศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ให้ห้ามผู้ผลิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้ใช้ชื่อนี้อย่างเด็ดขาด
กรณีตัวอย่างผลิตภัณฑ์เกษตร California Prune
สมาคม Prune Bargaining Association ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 800 คน พื้นที่เพาะปลูก 60,000 เอเกอร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตากแห้ง 20 ราย และผู้บรรจุและจำหน่าย 20 ราย ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและโลโก้สำหรับ California Prunes โดยสมาคมดังกล่าวติดตามตรวจสอบคุณภาพของสินค้าพรุนที่ใช้ตราดังกล่าว เพื่อการคงรักษาระดับมาตรฐานของผู้ใช้ตราและได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในปีหนึ่งที่ผลผลิตลูกพรุนในแคลิฟอร์เนียไม่เพียงพอเพื่อการบรรจุขายและมีความจำเป็นต้องนำเข้าลูกพรุนจากแหล่งอื่นๆ สมาคมฯ ได้ระงับการใช้คำว่า “California” ในการบรรจุสินค้า สมาคมฯ ได้ค้นพบว่า มีประเทศที่สามได้พยายามปลอมแปลงการใช้ตราของ California Prunes โดยการใช้ California Plums แทน
สรุปปัญหาสำคัญในการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
โดยสรุปแล้ว อุปสรรคปัญหาสำคัญของการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ความจำเป็นในการรักษาการลงทุนเพื่อการส่งเสริมและการตลาด การขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดังกล่าว การรักษาระดับการผลิตของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด การแบ่งแยกประเภทของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้มีความหลากหลาย และความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
Declaration of Guadalajara
OriGIn ได้ประกาศแถลงการณ์ผลการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้าและการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Declaration of Guadalajara) ที่มีข้อความสำคญคือ
- การประท้วงและเรียกร้องต่อ Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) และ WIPO เกี่ยวกับการจดทะเบียนใช้ชื่อโดเมนในอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ GIs ที่ถูกต้อง ให้แก้ไขกฎระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด cyber squatting และควบคุมการใช้ชื่อโดเมนที่มีผลกระทบต่อสินค้า GIs อย่างถูกต้อง
- เรียกร้องและรณรงค์ให้มีโครงการพัฒนาที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาให้หันมาใช้ GIs เพื่อการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก
- เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศ มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานสินค้า GIs แบบ voluntary standards ให้เป็นระบบมากขึ้น
สมาชิกของกลุ่ม oriGIn ได้แก่ บราซิล บูคินาฟาโซ แคนาดา จีน โคลัมเบีย โครเอเชีย คิวบา ฝรั่งเศส เยอรมัน กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินเดีย อิตาลี จาเมคา เคนยา มองโกเลีย มอร็อคโก เม็กซิโก เปรู โปรตุเกส สเปน สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐ และเวเนซูเอลา
“สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้ แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น มีดอรัญญิก ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ คอนยัค เป็นต้นข้อมูลเพิ่มเติม
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวคุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ”
http://www.crt.org.mx/
http://www.origin-gi.com/index.php?option=com_content&view=article&id=214:29-30-september-2011-origin-v-general-assembly-and-international-conference&catid=13:origin-events&Itemid=116&lang=en
No comments:
Post a Comment