centralamerica.com ได้รายงานเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 ว่า บริษัท Ellington Investments Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มลงทุน Temasek Holdings ของสิงคโปร์ ได้ลงทุนร่วมกับกลุ่มเหมืองแร่ INMET จากประเทศแคนาดา ในโครงการสำรวจขุดเหมืองแร่ทองแดงในประเทศปานามา โครงการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าโดยรวม 3.5 พันล้านเหรียญฯ โดยบริษัท Ellington ได้ดำเนินการชำระเงินลงทุนในโครงการฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 14 จำนวนเงินทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครบแล้ว โครงการลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มมีผลผลิตทองแดงได้ในปี 2014 และคาดว่าจะมีผลทำให้ประเทศปานามาเป็นผู้ผลิตทองแดงอันดับต้น ๆ ของโลกได้อีกแหล่งหนึ่ง
เมื่อปี 2552 บริษัท INMET ได้เริ่มการเจรจากับบริษัท LS-Nikko ของประเทศเกาหลี ซึ่งได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนกับ INMET เช่นกัน โดยได้แจ้งความสนใจถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 แต่ฝ่ายเกาหลีไม่สามารถทำการตกลงกับ INMET ได้เกี่ยวกับโครงสร้างรูปแบบการถือหุ้น ทั้งนี้ ประเทศเกาหลีให้ความสำคัญกับการลงทุนดังกล่าวนี้อย่างมาก โดยประธานาธิบดีของเกาหลีใต้มีกำหนดการเดินทางไปเยือนปานามาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2553 และคาดว่า จะมีการยกประเด็นการร่วมลงทุนในโครงการแร่ทองแดงดังกล่าว โดยประเด็นปัญหาอุปสรรคของการลงทุนสำคัญคือ กฏหมายของปานามาที่ไม่อนุมัติให้รัฐบาลต่างชาติร่วมลงทุนในด้านเหมืองแร่ ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้บริโภคทองแดงเป็นอันดับ 6 ของโลก
พื้นที่ ๆ บริษัท INMET ครอบครองสัมปทานการทำเหมืองทองแดง อยู่บริเวณกลุ่มเทีอกเขา Nguodo Tain ซึ่งแปลได้ว่า เขาแดงจากภาษาพื้นเมืองของชาวเขาที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้มาแด่โบราณ พื้นที่ดังกล่าวได้เคยมีการทำเหมืองมาแล้วในช่วงระหว่างปี 2521-2528 โดยบริษัท Rio Tinto ของอังกฤษเป็นผู้ดำเนินโครงการ แต่ราคาทองแดงโลกได้ตกต่ำผนวกกับแรงกดดันต่อต้านการทำเหมืองของคนพื้นเมืองได้มีผลให้เหมืองเก่านี้ต้องปิดไป
การสำรวจในเบื้องต้นของบริษัท INMET ได้มีผลคาดคะเนว่า แร่ทองแดงสำรองในปานามามีปริมาณ 20 พันล้านปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นแหล่งแร่ทองแดงสำรองอันดับ 5 ของโลก นอกจากนี้แล้ว ปานามายังมีแหล่งทองคำ ที่ได้รับการพัฒนาและเริ่มให้ผลผลิตแล้ว คาดการณ์ปริมาณสำรองที่ 5 ล้านออนซ์ โดยมีมูลค่าการผลิตในปี 2552 เท่ากับ 16 ล้านเหรียญฯ และได้มีการส่งออกทองคำปริมาณ 1.6 ล้านตัน
แหล่งข้อมูล:
http://www.marketwatch.com/story/inmet-announces-closing-of-private-placement-of-500-million-of-subscription-receipts-to-wholly-owned-subsidiary-of-temasek-holdings-2010-04-23?reflink=MW_news_stmp
สถานะภาวะการผลิตและการค้าทองแดงโลก
แร่ทองแดงนับวันจะมีความสำคัญและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตวัสดุการสื่อไฟฟ้าและความร้อนในอุปกรณ์การสื่อสารและโทรคมนาคม ในสินค้าด้านอีเล็กตรอนนิกส์ สำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ รถไฟ เรือและเครื่องบิน ในการผลิตเครื่องจักรและในการสร้างเครื่องจักร โรงงาน และถังบรรจุระดับอุตสาหกรรม ในท่อส่งน้ำและแก๊ซ ในการก่อสร้าง เช่น หลังคา และท่อระบายน้ำ ในส่วนผสมอาหารสัตว์ และปุ๋ยบำรุงพืช เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในงานศิลปกรรม เช่น รูปปั้น และในสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไป
แร่งทองแดงเป็น วัตถุที่มีการสูญเสียสภาพทางเคมีน้อยมากเมื่อนำไปใช้ในการผลิตต่างๆ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการหมุนเวียนแปรสภาพทองแดงเก่ามาใช้ได้อีก (recycle) เป็นจำนวนมาก ในปี 2550 ร้อยละ 30 ของทองแดงที่บริโภค มาจากการนำทองแดงเก่าไปหมุนเวียนผลิตเป็นทองแดงใหม่ โดยทวีปยุโรปเป็นผู้นำในหมุนเวียการใช้ทองแดงมากที่สุด
รายงาน World Copper Factbook 2009 ได้รายงานว่า การใช้ทองแดงในปี 2551 มีปริมาณรวมเท่ากับ 23,947 ตัน โดยผู้ที่ใช้ทองแดงมากที่สุดในโลกได้แก่ ประเทศจีน ปริมาณ 6,937 ตัน ส่วนผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกได้แก่ ประเทศชิลี ราคาทองแดงในปัจจุบันเป็นราคาที่สูงสุดในประวัติ ที่ประมาณ 7,000 เหรียญฯ ต่อตัน
ประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตทองแดงในระดับกลาง และมีแหล่งการผลิตทองแดงในรัฐทางเหนือ อันได้แก่ รัฐ Sonora และรัฐ Zacatecas การทำเหมืองแร่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของเม็กซิโก โดยมีกลุ่มการลงทุนหลายกลุ่ม เช่น Grupo Mexico, Industrial Minera, Fresnillo, Peñoles และกลุ่ม Empresas Friscos บริษัทเหล่านี้มีการทำเหมืองแร่หลาย ๆ ประเภท เช่น การผลิตทองและเงิน รวมในกิจการเดียวกัน รวมทั้งมีการทำเหมืองและการผลิตแร่เหล่านี้ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
ในปี 2552 เม็กซิโกผลิตแร่ทองแดงได้ 247,000 เมตริกตัน และมีการแปรสภาพอีก 295,000 เมตริกตัน เป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศซึ่งมีปริมาณ 325,000 เมตริกตันในปีเดียวกันนั้น นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกยังเป็นสมาชิกของกลุ่มศึกษาทองแดงระหว่างประเทศ (ICSG) ประเทศหนึ่งด้วย
แหล่งข้อมูล: สามารถดาวน์โลด์รายงาน World Copper Factbook 2009 ได้จากเวปไซค์ http://www.icsg.org/
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทองแดงของไทย และโอกาสการพัฒนา
เป็นที่สังเกตว่าประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแร่ทองแดงสำคัญประเทศหนึ่ง โดยปริมาณการนำเข้าของไทยในปี 2552 ปริมาณ 240,000 เมตริกตัน เท่ากับร้อยละ 4 ของการนำเข้ารวมของโลก
กระบวนการพัฒนาของประเทศจะส่งผลให้ปริมาณการบริโภคทองแดงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ การสำรวจหาแหล่งทองแดงภายในประเทศ เพื่อการผลิตแร่ในสภาพวัตถุดิบ รวมทั้งการลงทุนในการแปรสภาพ (refine) และการหหมุนเวียนการแปรสภาพแร่ที่ใช้แล้ให้มาเป็นแร่ทองแดงที่ใช้ได้ใหม่ (recycle) หรือการไปลงทุนในต่างประเทศจึงประเด็นที่ต้องพิจารณาในอนาคตอันใกล้นี้ ดังเช่น ที่ประเทศเกาหลีและสิงคโปร์ได้เริ่มดำเนินการแล้ว
No comments:
Post a Comment