Google Website Translator

Wednesday, June 22, 2011

Deepwater gas found in Gulf of Mexico

บริษัทน้ำมันเม็กซิโก PEMEX ค้นพบแหล่งแก๊ซใหม่ในเขตน้ำลึกอ่าวเม็กซิโก

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 บริษัทน้ำมันเม็กซิกัน Pemex ได้แจ้งข่าวการขุดค้นพบบ่อก๊าซธรรมชาติใหม่ในเขตน้ำลึกในอ่าวเม็กซิโก ในพื้นที่การสำรวจที่เรียกว่า Piklis ซึ่งอยู่ในระยะประมาณ 144 กิโลเมตรในทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากชายฝั่งของเมืองท่า Coatzacoalcos รัฐ Vera Cruz คาดว่ามีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองประมาณ 400-600 พันล้านคิวบิกฟุต

การสำรวจเจาะบ่อ Piklis เป็นการขุดบ่อน้ำลึก ความลึก 5.4 กิโลเมตร ที่ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี dynamic positioning/semi-submersible เป็นครั้งแรก ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เม็กซิโกประสบความสำเร็จในการขุดค้นพบก๊าซธรรมชาติได้มากกว่าน้ำมัน จากปี 2004 เป็นต้นมาได้ขุดค้นพบบ่อก๊าซธรรมชาติใหม่ทั้งหมด 9 แห่งในพื้นที่ทะเลน้ำลึก

เม็กซิโกมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองรวม 359.7 พันล้านคิวบิกเมตร และมีความสามารถในการผลิตก๊าซได้ 6 หมื่นล้านคิวบิกเมตร โดยมีความต้องการบริโภคภายในประเทศ 5.9 หมื่นล้านคิวบิกเมตร มีการนำเข้าผ่านท่อส่งก๊าซจากสหรัฐฯ ประมาณ 1 หมื่นล้านคิวบิกเมตร และนำเข้าในรูปแบบ LNG จากทวีปแอฟิริกาอีกเล็กน้อย มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในจำนวน 0.6 หมื่นล้านคิวบิกเมตร

เม็กซิโกมีศูนย์ผลิตก๊าซธรรมชาติ 12 แห่ง กำลังการผลิต 5.9 Bcf ต่อวัน และมีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจำนวนกว่า 13,594 กิโลเมตร ที่มีจุดข้ามเขตชายแดนต่อเข้ากับระบบท่อก๊าซของสหรัฐฯ 10 แห่ง และมีท่อส่งก๊าซ LNG 2,152 กม.

ก๊าซธรรมชาติในเม็กซิโกส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า และในกระบวนการผลิตน้ำมันและแก๊ซของ PEMEX เอง ในการประชุมสภาอุตสาหกรรมน้ำมันของเม็กซิโกประจำปี 2011 เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2011 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเม็กซิโก นาย José Antonio Meade Kuribreña ได้แสดงความพอใจในแผนงานปรับโครงสร้างพลังงาน โดยได้กล่าวว่ากำลังการผลิตน้ำมันของเม็กซิโกจะเพิ่มจาก 2.56 ล้านเบเรลเป็น 3 ล้านเบเรลภายใน 2016 สำหรับการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น มีแนวโน้มที่รักษาระดับการผลิตใกล้เคียงกับปริมาณเดิม ทั้งนี้ มีสาเหตุเพราะสภาวะราคาในตลาดโลกของก๊าซธรรมชาติไม่สูงพอสำหรับความคุ้มทุนในการลงทุนขุดเจาะและพัฒนาการผลิตเพิ่มขึ้น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในสภาพดังกล่าว

แหล่งข่าวอ้างอิง
http://af.reuters.com/article/energyOilNews/idAFN2511782920110525
http://en.wikipedia.org/wiki/Petroleum_industry_in_Mexico
http://www.bloomberg.com/news/2011-05-25/pemex-makes-gas-discovery-in-deep-waters-of-gulf-of-mexico-1-.html

Monday, June 20, 2011

Tequila

การผลิตเหล้าเตกีลาในเม็กซิโก

เตกีลา (Tequila) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดกลั่น ดีกรีแรง เดิมนั้นผลิตกันในบริเวณเมืองเตกีลา (ในทางตะวันตกของรัฐฮาลิสโกของเม็กซิโก) โดยใช้วัตถุดิบคืออากาเบ (agave) เป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก ซึ่งเป็นจำพวกเดียวกับป่านศรนารายณ์ ว่านหางจระเข้ หรือดอกโคม เป็นพืชอวบน้ำโดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า "มาเกย์" (Maguey) แต่เลือกเฉพาะพันธุ์สีฟ้าเท่านั้น โดยลักษณะผลอากาเบจะมีลักษณะเหมือนผลสับปะรด ซึ่งผลหนึ่งจะมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ภายในจะมีเนื้อและน้ำฉ่ำซึ่งเหมาะแก่การหมัก

กระบวนการทำเตกีลา: จะนำเอาผลอากาเบไปคั้นเอาน้ำเพื่อนำไปหมัก ใช้ระยะเวลาการหมักประมาณ 2 วัน แล้วจึงนำไปกลั่นก็จะได้น้ำใสที่มีแอลอฮอล์ประมาณ 104-106 ปรูฟ โดยปรกติเตกีลาจะไม่มีการบ่ม และจะนำไปบรรจุขวดจำหน่ายได้เลย อย่างไรก็ตาม การพัฒนายี่ห้อของเตกีลา ทำให้การบ่มประเภทต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น การบ่มจะช่วยทำให้รสของแอลกอฮอล์นุ่มนวนกว่าไม่บ่ม และการบ่มในถังไม้โอ๊กจะให้มีความนุ่มนวลมากขึ้น รวมทั้งให้ได้กลิ่นของไม้โอ๊ก

ประเภทของเตกีลา

โดยทั่วไปสามารถแยกได้สองประเภท คือ เตกีลาประเภทผสมซึ่งมักจะมีส่วนของเตกีลาแท้ที่ผลิตมาจากอากาเบน้ำเงิน (blue agave) อย่างน้อยร้อยละ 51 และเตกีลาแท้ที่ทำจากผลอากาเบน้ำเงินเต็มส่วน ส่วนเตกีลาที่มีการเติมรสต่างๆ ไม่สามรถใช้ชื่อเรียกเป็นเตกีลา ในหมวดเตกีลาแท้สามารถจัดแยกออกได้อีก 5 ประเภท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการบ่มหมัก คือ
  1. เตกีลาขาว หรือเงิน (white “blanco/plata” tequila) เป็นเตกีลาที่ไม่ได้ผ่านการบ่ม หรือบ่มน้อยกว่า 2 เดือน 
  2. เตกีลาทอง (oro/joven) เป็นส่วนผสมระหว่างเตกีลาขาวกับเรโปซาโด 
  3. เตกีลาเรโปซาโด (Reposado) เป็นเตกีลาที่บ่มอย่างน้อยที่สุด 2 เดือนถึง 1 ปี ในถังไม้โอ๊กขนาดปกติ (20,000 ลิตร) 
  4. เตกีลาอันเยโฮ (Añejo) หรือเตกีลาแก่หรือมีอายุ ได้ผ่านการบ่มอย่างน้อย 1 ปี ถึง 3 ปี ในถังไม้โอ๊กขนาดเล็ก (200-600 ลิตร) 
  5. เตกีลาอันเยโฮเอ๊กตร้า (Extra Añejo) บ่มอย่างน้อย 3 ปีในถังไม้โอ๊ก จะมีสีที่ข้มขึ้น ได้เริ่มการผลิตจากปี 2006 เป็นต้นมา
สภาระเบียบเตกีลา (Consejo Regulador del Tequila) ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี1994 เพื่อควบคุมมาตรฐานและส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเตกีลา ได้รับการจดทะเบียนยีห้อที่ได้รับอนุมัติให้ขายในตลาดได้มีกว่า 2,000 ยี่ห้อจากผู้ผลิต 128 ราย เตกีลายี่ห้อที่เป็นที่นิยมในเม็กซิโกมี Sauza, Don Julio, Herradura, Jose Cuervo, Cazadores, El Tesoro, El Jimador เป็นต้น สำหรับยี่ห้อที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยนั้น ได้แก่ Jose Cuervo และ Montezuma การนำเข้าเตกีลา (HS 220890) จากเม็กซิโกในปี 2010 มีมูลค่า 82,752 เหรียญสหรัฐ (ปริมาณ 12,570 ลิตร)

เครื่องหมายการค้าเตกีลา

การผลิตเตกีลาอย่างเป็นอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อขุนนางชาวสเปน Don Pedro Sánchez de Tagle Marquis of Altamira ได้นำเหล้าหมักผลอากาเบของชาวแอสเต็ก มากลั่นและบรรจุขวดในลักษณะโรงงานที่รัฐฮาลิสโก ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 19 ครอบครัวที่ก่อตั้งเตกีลายี่ห้อ Sauza ได้เริ่มการส่งออกไปยังสหรัฐฯ

เมื่อปี 2009 ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้มีผลต่อการบริโภคเตกีลา ทำให้มีปริมาณการบริโภคลดลงต่ำกว่า 1 ล้านตันต่อปี แต่ได้ฟื้นฟูขึ้นในปี 2010 โดยมีปริมาณการบริโภค 257.4 ล้านลิตร (68 ล้านเกลอน) และการส่งออก 152.2 ล้านลิตร (40.2 ล้านแกลอน) ตลาดส่งออกเตกีลาที่สำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกาและในปี 2010 ได้มีการส่งออกเตกีลาปริมาณ 118.4 ล้านลิตร มูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญรองลงมาคือ เยอรมัน (7.8 ล้านลิตร) สเปน (3.5 ล้านลิตร) ฝรั่งเศษ (2.6 ล้านลิตร) แคนาดา (2.3 ล้านลิตร) และอังกฤษ (1.3 ล้านลิตร)


การผลิตเตกีลามีระเบียบควบคุมมาตรฐานคือ NOM-006-SCFI-2005 ที่กำหนดการสงวนสิทธิการใช้ชื่อ “เตกีลา” สำหรับเหล้าที่ผลิตจากอากาเบน้ำเงิน (blue agave) เท่านั้น และควบคุมพื้นที่การผลิตเตกีลาให้สามารถผลิตได้เฉพาะในพื้นที่รัฐฮาลิสโก ฮวนาหัวดโต มิชัวกัน นายาริต และธัมเมาลิปัส สภาระเบียบเตกีลาได้รายงานว่า มีปริมาณต้นอากาเบน้ำเงินในพื้นที่ควบคุมดังกล่าวจำนวน 253 ล้านต้น มีอายุการให้ผลผลิตต้นละ 8 ปี

เนื่องจากเตกีลาเป็นเหล้าที่นิยมจึงเกิดการปลอมแปลงในหลายรูปแบบในสหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย อิเมริกาใต้ และประเทศอื่น ๆ เช่น ในกรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ได้ผลิตเครื่องดื่มจากผลไม้อื่น แต่เรียกเหล้าดังกล่าว อากาวา และส่งเสริมการขายให้มีความเข้าใจว่าเป็นเตกีลา นอกจากนี้แล้วการปลอมแปลงสินค้า หรือการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจากพิษของแอลกอฮอลหรือสารอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน หากขาดการควบคุมอาจจะทำให้ชื่อเสียงของเตกีลาเสื่อมเสียไปในที่สุดได้ รัฐบาลของเม็กซิโกจึงได้ติดตามการปรามปรามการปลอมแปลงอย่างเข้มงวด ในปี 2007 ได้มีการยึดเหล้าเตกีลาปลอมในเม็กซิโกได้ 23,000 แกลอน และได้ประกาศห้ามขายเตกีลา 41 ยีห้อที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

รัฐบาลของเม็กซิโกได้ปกป้องการใช้ชื่อ “เตกีลา” ภายใต้ความตกลง Lisbon Agreement for the Protection of Appellations of Origin (1967) แต่ความตกลงดังกล่าวมีประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกเพียง 27 ประเทศ (ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคี) ในปี 1977 เม็กซิโกจึงได้จดทะเบียนการสงวนสิทธิการใช้ชื่อ เตกีลา (Appellation of Origin) กับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ให้เป็นชื่อต้นกำเนิดที่มาได้จากพื้นที่ ๆ กำหนดไว้ในเม็กซิโกเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกยังผลักดันการยอมรับว่าเตกีลาเป็นชื่อที่ใช้ได้เฉพาะกับเหล้าเตกีลาที่ผลิตจากเม็กซิโกตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ กับตลาดสำคัญ ๆ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในกรณีของสหรัฐฯ มีการแจ้งการยอมรับเกี่ยวกับเตกีลากำหนดไว้ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ-นาฟต้า และในปี 2006 เม็กซิโกได้มีความตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อควบคุมการส่งออกเตกีลาไปยังสหรัฐฯ ในลักษณะ bulk imports เพื่อยกเว้นกฏระเบียบเกี่ยวกับเขียนฉลาก (labeling) แต่ให้มีการติดตามควบคุมการบรรจุขวดเตกีลาในสหรัฐฯ ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง

การท่องเที่ยวสายเตกีลา

ในปี 2007 รัฐบาลของเม็กซิโกได้ริเริ่มการส่งเสริมการท่องเที่ยวสายเตกีลา "Tequila Route/La Ruta del Tequila" เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าเตกีา ซึ่งเป็นการเดินทางโดยทางรถไฟ (Tequila Express) จากเมืองกัวดาลาฮาราไปยังเมือง El Arenal-Amatitán-Tequila และ Magdelena นอกจากการชมทิวทัศน์สวยงามที่เต็มไปด้วยต้นอากาเบน้ำเงิน ผู้เดินทางในทัวร์จะได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมใน hacienda โบราณ และโรงกลั่น ฟังดนตรีมาริอาชิ มีการบรรยายเกี่ยวกับประวัติเตกีลา (http://www.rutadeltequila.org.mx/)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเตกีลา:

Consejo Regulador del Tequila
Av Patria No. 723 C.P. 45030,
Jardines de Guadalupe, Zapopan, Jalisco, México
Tel (0133) 1002-1900 Fax (0133) 1002-1925
Email:crt@crt.org.mx
Website: http://www.crt.org.mx/

Camara Nacional de la Industria Tequilera
Calzada Lázaro Cárdenas 3289 5th. Floor district. Chapalita C.P. 45000 Guadalajara, Jalisco, México
Phone. ++ 52 (33) 3121.5021 Fax. ++ 52 (33) 3647.2031
Email: camara@tequileros.org
Website: http://www.tequileros.org/main_en.php

Wednesday, June 15, 2011

Mexican rice producers protests cheap rice imports from US & Pakistan

เกษตรกรข้าวของเม็กซิโกต่อต้านการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และปากีสถาน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2011 สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก (Consejo Mexicano del Arroz) ได้แจ้งข่าวผลผลิตข้าวภายในประเทศเม็กซิโกประจำปี 2011 คาดการณ์ผลผลิตจำนวน 340,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 17 แต่ยังคงเทียบได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเม็กซิโก ที่มีปริมาณความต้องการรวมประมาณปีละ 800,000 - 1 ล้านตันต่อปี

เม็กซิโกนำเข้าข้าวจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยในปี 2010 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวจากสหรัฐฯในปริมาณ 842,410 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 2.5 แหล่งนำเข้าข้าวรองจากสหรัฐฯ ได้แก่ อุรุกวัย (1,560 ตัน) ไทย (222 ตัน) อิตาลี (84 ตัน) และปากีสถาน (36 ตัน)

พื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเม็กซิโกอยู่ในรัฐตอนกลางของเม็กซิโกของทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ฝั่งแปซิฟิกได้แก่รัฐ Michoacan Nayarit Colima Sinaloa และ Jalisco ฝั่งแอทแลนติกได้แก่รัฐ Veracruz Campeche Tamaulipas และ Campeche การนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้มีจุดเริ่มต้นที่รัฐ Sinaloa และประเภทของข้าวที่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้บริโภคเม็กซิกันแยกได้เป็นสองประเภทคือ ประเภท Sinaloa long grain หรือประเภท Morelos short grain โดยข้าวประเภท long grain มักจะเป็นข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ราคาของข้าว long grain ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และปากีสถานมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวที่ผลิตภายในประเทศถึงร้อยละ 20 ได้ส่งผลให้ตลาดของข้าวประเภท Morelos ที่ผลิตภายในประเทศเป็นที่นิยมน้อยลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลของเม็กซิโกจะได้เริ่มการรณรงค์ด้านโภชนากาารและสุขภาพ เมื่อต้นปี 2010 เพื่อส่งเสริมให้ชาวเม็กซิกันหันมาทานข้าวที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการบริโภคข้าวต่อหัวโดยทั่วไปได้แสดงแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคนละ 5.8 กิโล เป็น 6.5 กิโลต่อปีในระหว่างปี 2009-2011

นอกจากปัจจัยด้านราคาข้าวนำเข้าที่ถูกกว่า สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตข้าวไม่ขยายตัวเท่าที่ควร คือความล่าช้าในการปล่อยเครดิตให้แก่เกษตรกรของธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบท และปัญหาระบบชลประทาน นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างการจัดจำหน่ายข้าวยังมีความโน้นเอียงไปหาผู้ทำการบรรจุข้าวสำหรับตลาดปลีกย่อยที่นิยมซื้อข้าวจากผู้นำเข้าข้าวมากกว่าการซื้อจากผู้ผลิตภายในประเทศ

สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโกได้แสดงความห่วงใยในกรณีการขายโรงสีข้าวในรัฐ Sinaloa แห่งหนึ่ง โดยโรงสีดังกล่าวเป็นผู้รับซื้อข้าวจากผู้ผลิตภายในประเภทในปริมาณถึงร้อยละ 35 ของผลผลิตภายในประเทศ ในขณะเดียวกันยังเป็นผู้นำเข้าข้าวจากสหรัฐที่สำคัญ โดยมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าข้าวถึงร้อยละ 20-25 หากเจ้าของใหม่ผู้ที่ซื้อโรงสีดังกล่าว หันไปนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น จะบีบบังคับให้ผู้ผลิตข้าวภายในประเทศไม่มีแหล่งระบายผลผลิตของตน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศในอนาคตต่อไปได้

สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโกได้เรียกร้องให้มีการบีบการแข่งขังจากข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยการใช้มาตรฐานด้านสุขภาพเป็นมาตรฐานควบคุม โดยข้าวเม็กซิกันมีข้อแตกต่างจากข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ประการหนึ่ง คือเป็นพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นข้าวจำลองพันธุ์ (transgenic) และเร่งรัดให้การรณรงค์ชาวเม็กซิกันได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างข้าวที่ผลิตในประเทศกับที่นำเข้าจากต่างประเทศให้มากขึ้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://www.jornada.unam.mx/ultimas/2011/05/25/buscan-arroceros-contratos-para-enfrentar-importacion
http://www.yucatan.com.mx/20110523/nota-17/124964-el-arroz--tiene-buen-futuro.htm
http://agecon2.tamu.edu/people/faculty/salin-victoria/research/ricetrans.pdf