Google Website Translator

Wednesday, May 23, 2012

Country Profile : MEXICO 2012

ข้อมูลเศรษฐกิจการค้าประเทศเม็กซิโกโดยทั่วไป


ประเทศสหรัฐเม็กซิโก ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ตอนเหนือของประเทศติดกับประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนตอนใต้ของประเทศ ติดกับประเทศสาธารณรัฐกัวเตมาลาและประเทศเบลิซ พื้นที่ของประเทศขนาบไปด้วยภูเขาทั้ง 2 ด้านโดยฝั่งตะวันตกมีเทือกเขา Sierra Madre Occidental และฝั่งตะวันออกมีเทือกเขา Sierra Madre Oriental ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบสูงซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ ลักษณะพื้นที่ประเทศแบ่งได้เป็นดังนี้ ร้อยละ 20 เหมาะแก่การเพาะปลูก ร้อยละ 38 เป็นทุ่งหญ้าเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 28 เป็นป่าไม้ และพื้นที่ที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย ความยาวของประเทศจากเหนือจรดใต้ประมาณ 3,017 กิโลเมตร

1.1 ชื่อเป็นทางการ   สหรัฐเม็กซิโก (Estados Unidos Mexicanos)
1.2 เมืองหลวง  กรุงเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City)
1.3 ขนาดพื้นที่ 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก ประมาณ 4 เท่าของประเทศไทย
1.4 ประชากร 108 ล้านคน
1.5 ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน เงิน ทองแดง ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้
1.6 ประวัติศาสตร์ 
      ประเทศเม็กซิโกแต่เดิมปกครองโดยชนเผ่าพื้นเมืองอารยธรรมเมโซอเมริกา เช่น กลุ่มอารยธรรมมายาที่มีอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ และต่อมามีชนเผ่แเอสเท็กได้มีความรุ่งเรืองอยู่ทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโก 

ในปี ค.ศ. 1521 เม็กซิโกได้ถูกยึดครองโดยราชอาณาจักรสเปนในช่วงที่แสวงหาอาณานิคม และสเปนเรียกอาณานิคมนี้ว่า New Spain และได้มีการแต่ตั้งพระราชรองเป็นผู้ปกครองอาณาเขต สเปนได้ยึดครองเม็กซิโกยาวนานถึง 300 ปี จนประชาชนได้เริ่มลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออิสรภาพในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1810 และได้รับการยอมรับอิสรภาพจากสเปนในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1821 หลังจากที่ได้รับเอกราชจากสเปนแล้ว เม็กซิโกได้ทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาและได้เสียดินแดนจำนวนมากให้กับสหรัฐฯ ต่อมาช่วงปี ค.ศ.1861 เม็กซิโกประสบภาวะหนี้สิน จึงประกาศพักชำระหนี้ ทำให้ฝรั่งเศสประเทศเจ้าหนี้สำคัญ ไม่พอใจและส่งกองทหารเข้ามายึดครองเม็กซิโก และได้แต่งตั้งให้ Archduke Ferdinand Maximillian ราชวงศ์ Hapsburg เป็นจักรพรรดิปกครองเม็กซิโก ในปี ค.ศ. 1867 เม็กซิโกได้รับเอกราชคืนจากฝรั่งเศส และหลังจากนั้น ได้มีการปฏิวัติกันเพื่อต่อต้านผู้ปกครองที่ยึดอำนาจเผด็จการหลายครั้ง จนสามารถจัดให้มีการเลืองตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน

1.7 เชื้อชาติ ประชากรเชื้อสายเมสติโซ (ซึ่งเป็นเชื้อสายเลือดผสมคนพื้นเมืองกับผู้อพยพจากสเปน) ประมาณร้อยละ 60 คนพื้นเมือง ร้อยละ 30 คนเชื้อสายจากยุโรป ร้อยละ 6 และที่เหลือเป็นชาวเอเชียและแอฟริกาที่อพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมาอยู่ที่เม็กซิโก

1.8 ศาสนา โรมันคาทอลิก ร้อยละ 89 และโปรเตสแตนท์ ร้อยละ 6 โดยเม็กซิโกได้รับอิทธิพลทางศาสนาจากสเปน อย่างไรก็ตามความเชื่อโบราณก็ยังฝั่งรากอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีของคนเม็กซิกัน

1.9 ภาษา คนเม็กซิโกมีภาษาท้องถิ่นที่ใช้หลายภาษาราว 60 ภาษา แต่มีภาษาทางราชการเป็นภาษาสเปน

1.10 ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ โดยแบ่งเป็น 31 มลรัฐและ 1 เขตปกครอง มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 6 ปี และมีระบบสภา 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฏร แต่ละมลรัฐมีการเลือกผู้ว่ารัฐของตนเอง

1.11 ระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ  เม็กซิโกมีชายแดนติดกับประเทศสหรัฐอเมริกายาว 3,152 กิโลเมตร มีแม่น้ำสำคัญคือ Rio Lerma ลักษณะของประเทศจากตอนเหนือจรดใต้มีระยะทางห่างไกล ทำให้เม็กซิโกต้องการระบบขนส่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางและขนถ่ายสินค้าทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน และเรือ

2. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจโดยทั่วไป
2.1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ OECD และเป็นเศรษฐกิจอันอับที่ 11 ของโลก (ระหว่างอิตาลีและเกาหลีใต้) ผลผลิตแห่งชาติรวม 1,661 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (เกือบ 3 เท่าของผลผลิตรวมของไทย) เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญเป็นอันดับ 7 ของโลก ในปริมาณประมาณ 3 ล้านเบเรลต่อวัน การส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 15 ของโลก ในปริมาณประมาณ 1.5 ล้านเบเรลต่อวัน รายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญมาจากการส่งออกน้ำมัน (ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2011) การส่งออกรถนยต์ (2.6 หมื่นล้านเหรียญฯ) การส่งเงินกลับจากต่างประเทศ (2.23 หมื่นล้านเหรียญฯ) และการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ (1.3 หมื่นล้านเหรียญฯ)

เม็กซิโกฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2009 ได้ค่อนข้างรวดเร็ว โดยในปี 2010 เศรษฐกิจของเม็กซิโกได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.4 และในปี 2011 ในอัตราร้อยละ 3.8 โดยการส่งออก (โดยเฉพาะรถยนต์) ไปยังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และการกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ เป็นสาเหตุของการฟื้นตัวที่สำคัญ สำหรับปี 2012 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจของเม็กซิโกจะมีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6

รัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีคาลเดรอน ได้ดำเนินนโยบายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเศรษฐกิจเม็กซิโก โดยดำเนินการปฏิรูปนโยบายด้านพลังงานในปี ค.ศ. 2008 และปฏิรูปนโยบายด้านการเงินในปี 2009 ได้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับปรุงระบบเงินสะสมบำนาญ รวมทั้งได้มีการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ เร่งการลงทุนโดยรัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงระบบการศึกษา 

ประเด็นปัญหาใหญ่ในช่วงการครองตำแหน่งประธานาธิบดีคาลเดรอนที่เป็นจุดลบสำคัญ คือการต่อสู้เพื่อปราบปรามยาเสพติดที่นับวันได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการขยายอำนาจในพื้นที่ทั่วประเทศของกลุ่มเจ้าพ่อค้ายาเสพติดต่างๆ 

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีวาระใหม่ โดยนักวิเคราะห์การเมืองหลายฝ่ายได้คาดว่า พรรค PRI (Partido Revolucionario Nacional) ซึ่งเป็นผู้ที่กุมอำนาจในเม็กซิโกมาแต่เดิมร่วม 70 กว่าปี ก่อนที่พรรค PAN จะชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งได้สองสมัยที่ผ่านมา จะชนะการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ เนื่องจากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค PRI นาย Peña Nieto ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเม็กซิโกคนใหม่ จะต้องดำเนินการปฎิรูปด้านพลังงานและโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากเม็กซิโกยังคงพึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันมากเกินไป ในขณะที่แหล่งน้ำมันของเม็กซิโกเริ่มมีผลผลิตน้อยลง อนาคตของเศรษฐกิจเม็กซิโกต้องมีการขยายฐานรายได้ให้มั่นคงมากขึ้น

2.2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ในปี 2010 เม็กซิโกมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวน 116.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.3 โครงสร้างการผลิตภายในประเทศ

สัดส่วนความสำคัญของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในผลผลิตมวลรวมประชาชาติของเม็กซิโก มาจากภาคการบริโภคในสัดส่วนร้อยละ 26.5 ภาคธุรกิจบริการร้อยละ 20 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 17.8 ภาคการเงินและประกันภัยร้อยละ 12.8 ภาคการขนส่งร้อยละ 10.3 ภาคการก่อสร้างร้อยละ 5.4 ภาคการเกษตรร้อยละ 3.8 และภาคเหมืองแร่ร้อยละ 1.4

2.4 ข้อมูลด้านการลงทุนในประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศในเม็กซิโกเม็กซิโกระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1999-2009 มีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ โดยเม็กซิโกประสบภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2 ช่วง อย่างไรก็ตาม ปี ค.ศ. 2001 และ 2007 เป็นปีที่เม็กซิโกได้รับเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุด ในมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้าน และ 2.7 หมื่นล้านเหรียญตามลำดับ ส่วนปีที่ได้รับการลงทุนต่ำสุด นั่นคือ น้อยกว่าปีละ 2 หมื่นล้านเหรียญ คือปี ค.ศ. 1999, 2000, 2003, 2006 และ 2009

รายงานเศรษฐกิจของข่าวกรองสหรัฐฯ (CIA Factbook) ได้รายงานมูลค่าการลงทุนต่างประเทศรวมในเม็กซิโกในสิ้นปี ค.ศ 2011 ว่า มีมูลค่ารวม 321,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดเป็นอันดับเงินลงทุนต่างประเทศสะสมภายในประเทศอันดับที่ 17 ของโลก โดยเม็กซิโกได้รับเงินลงทุนต่างประเทศในปี 2010 รวมมูลค่า 17.7 พันล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 เล็กน้อย

การลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่ ประมาณ 86.78 % เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคบริการการเงิน และการค้า และมีแหล่งการลงทุนมาจากสหรัฐประมาณ 57.5% และจากสหภาพยุโรป 34.1% (สเปนและเนเธอร์แลนด์)

ประเทศเม็กซิโกมีโครงการส่งเสริมการลงทุนแยกเป็น 2 โครงการ ได้แก่

  • โครงการ Maquila เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อการส่งออก โดยหากผู้ลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกคิดเป็นเพียง 10% ของผลผลิตของโรงงานก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยเมื่อเข้าโครงการแล้วผู้ลงทุนไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรเหมือนเป็น Bonded warehouse
  • โครงการ PROSEC เป็นการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม 22 สาขาเพื่อให้เม็กซิโกสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ โดยโรงงานสามารถนำเข้าวัตถุดิบในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าปกติได้จำนวนกว่า 16,000 รายการ
  • ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เม็กซิโกได้พยายามส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศทั้งโดยการเปิดเสรีทางการค้า การลงนามความตกลงด้านภาษีซ้อน และการปกป้องด้านการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งเม็กซิโกได้เปิดให้มีการลงทุนโดยเสรีในเกือบทุกแขนง ยกเว้นบางอุตสาหกรรม และบางธุรกิจบริการที่เป็นสมบัติของรัฐ อาทิ
  • กิจการที่สงวนไว้สำหรับรัฐบาล อาทิ Petroleum, Petrochemical, Electricity, Nuclear Energy, Radioactive, Postal Service, Control for ports and airport
  • กิจการที่จำกัดสำหรับคนเม็กซิกันเท่านั้น อาทิ Gasoline Retailing, Tourist Transport Service, Television, Radio, Development Bank
  • กิจการที่จำกัดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติไม่เกิน 49% อาทิ Domestic Air Transportation, Air Taxi Service, Insurance Companies, General Deposit Warehouse, Financial Leasing Company, Manufacturer of Fire Arms, Printing Newspaper, Fresh Water Fishing, Sea Water Fishing, Port Service, Shipping Company, Private Education, Construction of Pipe line for Petroleum
  • อนึ่งในด้านการถือครองที่ดิน ต่างชาติมีสิทธิในการถือครองที่ดินได้ ยกเว้นไว้เฉพาะพื้นที่ในรัศมี 100 กม. จากพรมแดน และรัศมี 50 กม. จากพื้นที่ที่ติดกับชายทะเล จะไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือครอง
3. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของเม็กซิโก
3.1 ภาพรวมสถานการณ์ทางการค้าของประเทศเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้งในปี คศ. 1980,1994 และ 2008 ทั้งนี้เนื่องจากพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ และการส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นตลาดสำคัญเพียงตลาดเดียว ทำให้เม็กซิโกต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายมาเปิดประเทศมากขึ้น เพื่อหาเงินตราจากต่างประเทศ โดยกำหนดนโยบายเปิดประเทศ ได้แก่

  • เม็กซิโกได้เข้าร่วม GATT ในปี 1986
  • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อาทิ การขนส่ง การคมนาคม ฯลฯ
  • การทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ประเทศเม็กซิโกมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด โดยมีการทำความตกลงการค้าเสรีจำนวน 12 ฉบับครอบคลุม 43 ประเทศ ได้แก่ ชิลี NAFTA สหภาพยุโรป เวเนซูเอล่า โคลัมเบีย คอสตาริก้า โบลีเวีย นิการากัว อิสลาเอล กลุ่ม EFTA กลุ่ม North Triangle (กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส) อุรุกวัย และญี่ปุ่น
  • การเข้าร่วมทำความตกลงเป็นสมาชิกในระดับพหุภาคี อาทิ WTO , APEC, OECD, FTAA
3.2 สินค้าส่งออก/สินค้านำเข้าหลักของประเทศเม็กซิโก


สินค้าส่งออกที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ น้ำมันดิบ การส่งออกในปี ค.ศ. 2011 มูลค่า 49,249 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบได้เป็นร้อยละ 12 ของการส่งออก รองลงมาได้แก่ รถยนต์ มูลค่า 26,844 ล้านเหรียญฯ ตามด้วยโทรทัศน์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เส้นลวด ทอง ฯลฯ 

ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันที่กลั่นแล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ข้าวโพด และยา


3.3 ประเทศคู่ค้าสำคัญด้านการนำเข้า/ส่งออก

เม็กซิโกมีมูลค่าการส่งออกในปี ค.ศ. 2011 รวม 349,567 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 17.21โดยมีการส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 274,712 ล้านเหรียญฯ สัดส่วนร้อยละ 78.59 ของการส่งออกรวม รองลงมาเป็นการส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 10,673 ล้านเหรียญฯ สัดส่วนร้อยละ 3.65 และจีน มูลค่า 5,965 ล้านเหรียญฯ สัดส่วนร้อยละ 0.97

เป็นที่น่าสังเกตว่า เม็กซิโกได้มีการส่งออกไปยังประเทศโคลัมเบียเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 49.72 โดยมีมูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกับการส่งออกไปยังประเทศจีน นอกจากนี้แล้ว ยังมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในปริมาณที่น่าสนใจ ซึ่งได้แก่ การส่งออกเพิ่มขึ้นไปยังประเทศอินเดีย ที่ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.31 บราซิล ร้อยละ 29 อังกฤษ ร้อยละ 24 และเยอรมันร้อยละ 21.5 เป็นต้น





3.4 นโยบาย/มาตรการทางการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

เม็กซิโกเก็บภาษีรายได้บุคคลหัก ณ ที่ จ่าย ร้อยละ 35 ภาษีกำไรธุรกิจ ร้อยละ 35 หรือ ภาษีทรัพย์สิน ร้อยละ 2 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 16 สำหรับภาษีการนำเข้ามีแตกต่างไปหลายอัตรา ต้องทำการตรวจสอบภาษีนำเข้าเป็นรายสินค้าเฉพาะกับกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก

ตลาดเม็กซิโกถือเป็นตลาดใหม่สำหรับประเทศไทย ในช่วง ม.ค. – พ.ย. 2550 ที่ผ่านมาการขยายตัวการส่งออกของไทยมายังตลาดเม็กซิโกสูงขึ้น 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามประเทศเม็กซิโกนับว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการกีดกันการนำเข้าที่มิใช่ภาษีที่ค่อนข้างมาก ก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า

ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นระยะจากผู้นำเข้าเม็กซิโกและผู้ส่งออกไทยในกรณีที่สินค้าส่งไปถึงท่าเรือเม็กซิโกแล้วไม่สามารถผ่านพิธีการศุลกากรในหลายกรณี อาทิ เอกสารไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารสำคัญประกอบการนำเข้า ข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้องตรงตามประเภทสินค้า สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าโกดังสินค้าเพิ่มเติม และบางครั้งต้องส่งสินค้ากลับไปยังประเทศไทย ซึ่งเป็นผลเสียหายต่อผู้ส่งออกไทย และเป็นผลในด้านลบต่อผู้นำเข้าไม่กล้าจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยอีก แนวทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาที่น่าจะทำได้ดีที่สุดคือการให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกให้มีความเข้าใจในระบบและระเบียบการนำเข้าของเม็กซิโกในเบื้องต้น และคอยเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของเม็กซิโก โดยสอบถามจากผู้นำเข้า และสามารถสอบถามจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโกที่จะช่วยแนะนำได้อีกทางหนึ่ง

การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศเม็กซิโกซึ่งสามารถแยกได้เป็น 12 มาตรการมาเพื่อทราบ ได้แก่

  • มาตรการการจดทะเบียนผู้นำเข้าสินค้า (Padron de Importadores)
  • มาตรการด้านมาตรฐานสินค้า
  • มาตรการด้านสุขอนามัย
  • มาตรการแหล่งกำเนิดสินค้า
  • มาตรการสินค้าห้ามนำเข้า
  • มาตรการสินค้าควบคุม
  • มาตรการโควต้านำเข้า
  • มาตรการด้านเอกสารการนำเข้า
  • มาตรการราคาประเมินสินค้าขั้นต่ำ
  • มาตรการการนำเข้าตัวอย่างสินค้า
  • มาตรการป้ายสลากสินค้า
  • มาตรการขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร

3.5 ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ

เม็กซิโกมีการทำความตกลงการค้าเสรีจำนวน 12 ฉบับครอบคลุม 43 ประเทศ ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีเป็นกลุ่ม คือ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เขตการค้าเสรีกับกลุ่ม EFTA (ไอซแลนด์ ลีค์เต็นสไรน์ นอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์) กลุ่ม North Triangle (กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส) ความตกลงเขตการค้าเสรีรายประเทศ มีประเทศชิลี เวเนซูเอล่า โคลัมเบีย คอสตาริก้า โบลีเวีย นิการากัว อิสลาเอล อุรุกวัย และญี่ปุ่น ขณะนี้อยุ่ระหว่างการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศเปรู แต่โดยหลักการแล้วในปัจจุบันกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโกได้แจ้งท่าที ไม่ประสงค์จะเจราจาความตกลงเขตการค้าเสรีเพิ่มเติมไปมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

4. ข้อมูลทางการค้ากับประเทศไทย
4.1 ภาพรวมสถานการณ์/ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย

ไทยและเม็กซิโกมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2553 มูลค่า 1,366 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 45 โดยการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 967 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนาเข้า 399 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับเม็กซิโกมูลค่า 568 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

4.2 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศเม็กซิโก และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากประเทศเม็กซิโก

ในปี ค.ศ. 2011 การส่งออกจากไทยไปยังเม็กซิโกมีมูลค่า 1,277 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 32.06 สินค้าส่งออกสาคัญของไทยไปยังเม็กซิโกสิบรายการแรก ได้แก่ เครื่องคิดเลข รถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและชิ้นส่วน หัวเทียนสำหรับรถยนต์ เครื่องแฟกซ์และโทรศัพท์ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสาเร็จรูป วิทยุและโทรทัศน์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และแผงวงจรอีเล็กตรอนนิกส์

ในปี ค.ศ. 2011ไทยนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกมูลค่า 605 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากจากปี 2010 ร้อยละ 51.84 สินค้านำเข้าที่สาคัญสิบรายการแรก ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณีรวมทั้งเงินและทองคำแท่ง เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลสดและแช่แข็ง อุปกรณ์สำหรับทดสอบทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สารเคมี




Monday, May 21, 2012

Food Demand in Mexico

รายงานความต้องการสินค้าอาหารในเม็กซิโก

เศรษฐกิจประเทศเม็กซิโกเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 11 ของโลก มีประชากรจำนวน 113 ล้านคน รายได้ประชาชาติประมาณ 1.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ รายได้ต่อหัว 13,800 เหรียญฯ ต่อคน การขยายตัวของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ อัตราร้อยละ 5.4 และ 3.8 ในปี ค.ศ. 2010 และปี 2011 ตามลำดับ เม็กซิโกมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคละตินอเมริกา รองจากประเทศบราซิล และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา อันเป็นผลมาจากการเป็นภาคีความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟต้า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา เม็กซิโกจึงมีการส่งออกและการนำเข้าจากสหรัฐฯ และแคนาดาในสัดส่วนที่สูง ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ การส่งออกน้ำมัน การผลิตและส่งออกรถยนต์ การท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคในหลายระดับ แต่เนื่องจากเม็กซิโกมีพื้นที่การเพาะปลูกจำกัด และภาคเกษตรของเม็กซิโกขาดประสิทธิภาพ บริษัทผู้ผลิต-ส่งออกและจำหน่ายสินค้าอาหารที่สำคัญของสหรัฐฯ และแคนาดา ล้วนมีโครงสร้างการผลิต-การลงทุน-การจัดจำหน่ายที่เชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ ในเม็กซิโกอย่างใกล้ชิด จึงมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารจากสหรัฐฯ และแคนาดาหลายอย่างในปริมาณสูง เช่น ข้าวโพด มะเขือเทศ เนื้อสัตว์ ธัญพืช และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ เม็กซิโกเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารอันดับที่ 13 ของโลก 

ตลาดสินค้าอาหารในเม็กซิโกยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่สูงในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการเศรษฐกิจของเม็กซิโกยังมีโอกาสการขยายตัวได้อีกมาก รวมทั้งการพัฒนารายได้ของประชากร การพัฒนาโครงสร้างการกระจายสินค้าอาหารในร้านค้าประเภทซุปเปอร์มาร์เก็ต โกรเซอรรี่ และเครือข่ายแฟรไชค์คอนวีเนียนซ์สตอร์ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นการบริโภคสินค้าอาหารในลักษณะที่มีความหลากหลายมากขึ้น 

สถาบันวิจัยตลาด Business Monitor International ได้คาดคะเนว่า แนวโน้มตลาดสินค้าอาหารของเม็กซิโกจากปี ค.ศ. 2011 ถึง 2015 จะมีอัตราการขยายตัวของการบริโภคอาหารต่อหัวของชาวเม็กซิกันในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี การขยายตัวของความต้องการเครื่องดื่มประเภทแอกอฮอล์ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี การขยายตัวความต้องการของน้ำอัดลมในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และการขยายตัวของยอดขายสินค้าอาหารในร้านโกรเซอรี่ในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี


ภาวะความต้องการสำหรับข้าว ข้าวโพด และธัญญพืช 

เม็กซิโกมีความต้องบริโภคข้าวประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านตันต่อปี แต่มีความสามารถผลิตได้เพียง ประมาณ 3 แสนตันต่อปี จึงต้องนำเข้าในส่วนที่ขาดความต้องการ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ในปีการผลิต 2011 เม็กซิโกมีผลผลิตข้าวน้อยมาก ประมาณ 157,000 ตัน เนื่องจากบริษัทโรงสีข้าวสำคัญรายหนึ่งของเม็กซิโกได้ล้มละลายเลิกกิจการไป ทำให้ผู้ผลิตข้าวไม่สามารถขอเงินกู้เพื่อทำการเพาะปลูก ในปี 2011 ม็กซิโกได้มีการนำเข้าข้าว 9.46 แสนตัน มูลค่า 377 ล้านเหรียญฯ เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นสำคัญในสัดส่วนร้อยละ 95 แหล่งนำเข้าข้าวอื่นๆ ของเม็กซิโก ได้แก่ อุรุกัว ปากีสถาน อิตาลี ไทย อาร์เจนตินา จีน และอินเดีย เม็กซิโกได้มีการนำเข้าข้าวจากไทยในปริมาณที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา ในปี ค.ศ. 2011 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 204,628 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2010 ในสัดส่วนร้อยละ 8.7 

ส่วนผลผลิตข้าวโพด ซึ่งเป็นอาหารหลักของเม็กซิโก ได้มีผลผลิตที่น้อยลงในปี 2011 เนื่องจากภาวะอากาศแห้งแล้ง ผลผลิตของปี 2011 มีประมาณ 18.4 ล้านตัน และคาดว่าในปี 2012 เม็กซิโกจะมีความต้องการนำเข้าข้าวโพดเพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านตัน เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวโพด 9.4 ล้านตัน มูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2011 เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 88 ซึ่งได้ลดลงจากปีก่อน โดยได้มีการนำเข้าจากแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 11 ปริมาณการนำเข้าข้าวโพดจากแอฟริกาใต้ 9.4 แสนตัน มูลค่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐ 

ถั่วแห้งเป็นอาหารหลักที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเม็กซิโก โดยผลผลิตของถั่วแห้งในปี 2011 มีปริมาณ 1.12 ล้านตัน การผลิตค่อนข้างจะเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายใน โดยจะมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ ในส่วนที่ขาดแคลนประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณความต้องการรวม เพื่อเป็นอุปทานสำรองและเพื่อการปรับระดับราคา 

เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตข้าวฟ่างอันดับสี่ของโลก แต่ในขณะเดียวกันเป็นผู้นำเข้าข้าวฟ่างจากสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก ผลผลิตข้าวฟ่างของเม็กซิโกในปี 2011 ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศแห้งเช่นกัน และคาดว่าจะมีปริมาณการผลิต 6.1 ล้านตัน ในปี 2011 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวฟ่างปริมาณ 2.4 ล้านตัน มูลค่า 688 ล้านเหรียญฯ 

อาหารประเภทเนื้อสัตว์

เม็กซิโกเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์อันดับ 8 ของโลก ในปี 2011 มีมูลค่าการส่งออกเนื้อสัตว์รวมประมาณ 957 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกเนื้อหมูสดหรือแช่แข็ง 323 ล้านเหรียญฯ เนื้อวัวสดหรือแช่นเย็น 320 ล้านเหรียญฯ และเนื้อวัวแช่แข็ง 212 ล้านเหรียญฯ ตลาดการส่งออกเนื้อสัตว์ที่ของสำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ รัสเซีย เกาหลี และยุโรปเป็นสำคัญ 

ภูมิประเทศของเม็กซิโกมีความเหมาะสมแก่การเลี้ยงปศุสัตว์ โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่ของเม็กซิโกเป็นพื้นที่ๆ ใช้สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ นั่นคือ 156 ล้านเฮกเตอร์ ในปี ค.ศ. 2007 เม็กซิโกมีโควัวประมาณ 23 ล้านหัว แกะ 7 ล้านหัว แพะ 4 ล้าน และม้า 2 ล้านตัว 

ชาวเม็กซิกันมีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวจำแนกได้ดังนี้ การบริโภคเนื้อวัวต่อหัว (per capita consumption) 17 กิโลกรัม การบริโภคเนื้อหมูต่อหัว 15 กิโลกรัม การบริโภคเนื้อไก่ต่อหัว 31 กิโลกรัม สำนักงานสถิติแห่งชาติเม็กซิโกได้รายงานว่า ชาวเม็กซิกันจะใช้รายได้เพื่อการซื้ออาหารประมาณร้อยละ 34 ของรายได้ จากส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารนั้น จะมีสัดส่วนการซื้อเนื้อไก่ร้อยละ 28 และร้อยละ 15 เพื่อซื้อเนื้อสำเร็จรูปประเภทต่างๆ เช่น แฮน ใส้กรอก ฯลฯ 

การเลี้ยงหมูและการผลิตเนื้อหมูและผลิตภัฑ์จากเนื้อหมูในประเทศเม็กซิโก ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา เนื่องจากได้มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนากิจกรรมในภาคการเลี้ยงหมูและการผลิตเนื้อหมู ความตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ได้มีผลส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงทางการตลาดในอุตสาหกรรมหมูของสหรัฐฯ และเม็กซิโกมากขึ้น ประเทศเม็กซิโกมีความสามารถผลิตเนื้อหมูได้ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันต่อปี แต่ยังคงต้องมีการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีปริมาณการการบริโภคประมาณ 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปี 

อาหารทะเล

กิจการการประมงของเม็กซิโกนับว่ามีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่ามวลรวมประชาชาติ (GDP) โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.8 ของผลผลิตแห่งชาติเท่านั้น และคาดว่ามีแรงงานในภาคการประมงนี้ราว 268,727 คน จำนวนเรือประมง เรือประมงประมาณ 106,428 ลำ เม็กซิโกมีการจับสัตว์น้ำได้ราว 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นการจับตามธรรมชาติ และร้อยละ 10 มาจากการเพาะเลี้ยง ในการจับจากธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นการจับมาจากมหาสุมทรฝั่งแปซิฟิก คิดเป็นร้อยละ 78 ซึ่งจะพบปลาซาร์ดีนชุกชุม เฉพาะในบริเวณอ่าวแคลิฟอร์เนีย ส่วนในน่านน้ำอ่าวเม็กซิโกจะสามารถจับสัตว์น้ำได้ถึง 500,000 เมตริกตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 33 ของการจับสัตว์น้ำทั้งหมด โดยปลาที่จับได้ในบริเวณนี้ ได้แก่ ปลาซาร์ดีน ปลา anchovetas และกุ้ง อนึ่ง สำหรับทางฝั่งแอตแลนติกแถบอ่าวเม็กซิโกนั้น จะไม่ค่อยมีแหล่งจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ เนื่องจากมีปัญหาการแย่งชิงน่านน้ำกับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ทั้งนี้รัฐบาลเม็กซิโกพยายามสนับสนุนการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยใช้พื้นที่ทางเหนือแถบรัฐ Tamaulipas ที่ติดกับรัฐ Texas 

คนเม็กซิโกบริโภคอาหารสัตว์น้ำราว 10 - 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคเนื้อวัว และหมูมากกว่าราว 39.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามปลาที่คนเม็กซิกันนิยมบริโภคได้แก่ ปลานิล กุ้ง และปลาหมึก 

ในปี 2011 เม็กซิโกได้ส่งออกอาหารทะเลมูลค่ารวม 944 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 44 เป็นการส่งออกอาหารทะเลประเภทที่มีเปลื่อกแข็งมูลค่า 414 ล้านเหรียญฯ ร้อยละ 16 เป็นปลาแช่แข็งมูลค่า 155 ล้านเหรียญ ร้อยละ 13 เป็นปลาสด มูลค่า 119 ล้านเหรียญฯ และร้อยละ 21 เป็นอาหารทะเลประเภทอื่นๆ มูลค่า 206 ล้านเหรียญฯ เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 55 และยุโรปและเอเชียรองลงมา ส่วนการนำเข้าอาหารทะเลมีน้อยกว่าการส่งออก ในปี 2011 เม็กซิโกได้มีการนำเข้าอาหารทะเลรวม 482 ล้านเหรียญฯ เป็นการนำเข้าเนื้อปลาเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 57 มูลค่า 276 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการนำเข้าจากจีนร้อยละ 43 มูลค่า 117 ล้านเหรียญฯ และจากเวียดนามร้อยละ 37 มูลค่า 102 ล้านเหรียญฯ 

โภคภัณฑ์สำคัญ: น้ำตาลและกาแฟ 

เม็กซิโกเป็นประเทศผู้ที่มีสิทธิส่งออกน้ำตาลไปยังสหรัฐฯ ที่ไม่มีข้อจำกัดด้านโควต้า และได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี NAFTA จึงเป็นแหล่งนำเข้าน้ำตาลสำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ เม็กซิโกมีความสามารถในการเพาะปลูกอ้อยเพื่อการผลิตน้ำตาลในปริมาณระหว่าง 60-70 ตันต่อเฮ็กเตอร์ ซึ่งจัดเป็นผู้มีสมรรถภาพในการผลิตน้ำตาลอันดับ 13 ของโลก และในปี 2011 มีผลผลิตน้ำตาลประมาณ 5.65 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ ที่มีการบริโภคน้ำตาลจากอ้อยประมาณ 5 ล้านตัน และความต้องการน้ำตาลสังเคราะห์อีก 800,000 ล้านตัน เม็กซิโกมีการส่งออกน้ำตาลประมาณ 400,000 ล้านตัน และนำเข้าน้ำตาลเพื่อป้อนอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในโครงการ INMEX จำนวน 200,000 ล้านตัน อุตสาหกรรมน้ำตาลของเม็กซิโกมีการจ้างงานโดยตรงประมาณ 440,000 คน และสร้างานโดยทางอ้อมได้อีกประมาณ 2.5 ล้านคน แต่รายได้จากภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลมีสัดส่วนต่อรายประชาชาติเพียงร้อยละ 0.06 

กาแฟ: ในปี ค.ศ. 011 เม็กซิโกส่งออกกาแฟ (รหัส HS 0901)โดยรวมมูลค่า 692 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 117,838 ตัน เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 67 มูลค่า 461 ล้านเหรียญฯ รองลงมาได้แก่ การส่งออกไปยังประเทศเบลเยี่ยมมูลค่า 40 ล้านเหรียญฯ 

ผักและผลไม้

ประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตสับปะรดสดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ในปริมาณ 540,000 ตันต่อปี ในพื้นที่การเพาะปลูก 10,500 เฮ็กเตอร์ต่อปี ในปี 2537 ได้มีการนำเข้าสับปะรดประมาณมากที่สุด 18, 320 ตัน แต่ได้ลดลงระหว่างปี 2539 ถึง 2543 ปริมาณนำเข้าระหว่าง 533-806 ตัน และได้เพิ่มขึ้นในปี 2543 เป็น 1,367 ตัน มูลค่าเกือบล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ในระหว่างปี คศ. 1960-1980 รัฐบาลของเม็กซิโกได้พยายามส่งเสริมการขยายการปลูกผลไม้ในเชิงพาณิชย์หลากหลายชนิด เพื่อทดแทนการปลูกกาแฟที่มีราคาตกต่ำ โดยการรณรงค์การเพาะปลูกลิ้นจี่ maracuyá และ macademia พื้นที่การเพาะปลูกลิ้นจี่มีประมาณ 1.82 ล้านตารางเมตร ปัจจุบันเป็นการปลูกเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นสำคัญและมีแนวโน้มการเติบโตได้อีกมาก 

สัปปะรดกระป๋อง

ประเทศเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตสับปะรดสดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ในปริมาณ 540,000 ตันต่อปี ในพื้นที่การเพาะปลูก 10,500 เฮ็กเตอร์ต่อปี ซึ่งมีสัดส่วนเพื่อการบริโภคภายประเทศในลักษณะผลไม้สดร้อยละ 70 อีกร้อยละ 23-25 เป็นเพื่อการผลิตน้ำสับปะรด และร้อยละ 5-7 เพี่อการส่งออกในลักษณะผลไม้สดไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 

ตลาดเครื่องดื่มและการบรรจุขวด: ตลาดการขายเครื่องดื่มในเม็กซิโกเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และได้มีคาดคะเนว่าปริมาณการบริโภคน้ำขวดในเม็กซิโกในปี ค.ศ. 2013 จะมีปริมาณ 67.5 พันล้านลิตร มูลค่าของตลาดประมาณ 50 ล้านเหรียญฯ เครื่องดื่มที่มีความสำคัญที่สุด ได้แก่ น้ำเปล่าบรรจุขวดและรองลงมาได้แก่เบียร์ ช่องทางการขายที่สำคัญได้แก่ ร้านขายปลีกเครื่องดื่มในลักษณะเป็น convenience store ที่มีกว่า 700,000 แห่งทั่วประเทศ และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการครองครองตลาดดังกล่าวได้แก่ กลุ่ม FEMSA และกลุ่ม Modelo ซึ่งครองตลาดรวมกันได้ร้อยละ 90 ของตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด 

ตลาดสินค้าอาหารสำเร็จรูป

การพัฒนาการกระจายสินค้าอาหาร และภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้เป็นปัจจัยหันความสนใจของแม่บ้านชาวเม็กซิกัน ให้มานิยมการซื้ออาหารสำเร็จรูปราคาถูกมากขึ้น การซื้ออาหารกระป๋อง เช่น ถั่วบรรจุกระป๋อง และปลาทูน่ากระป๋อง ให้ความสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำอาหาร แม้กระทั่ง ผักและผลไม้กระป๋องก็มีสัดส่วนของตลาดที่สำคัญ แต่ตลาดสินค้าอาหารกระป๋องเป็นตลาดที่ผู้ผลิตภายในประเทศครองตลาด และมีการแข่งขันสูง ไม่มีบริษัทใดครองตำแหน่งตลาดได้เกิดร้อยละ 15 โดยเม็กซิโกมีบริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญประมาณ 6 บริษัท บริษัทที่สำคัญที่สุดได้แก่ บริษัท Grupo Herdez S.A. de C.V. ส่วนสินค้าอาหารกระป๋องนำเข้าจะมีมาจากสเปน เป็นจำพวกอาหารที่ใช้ในเทศกาล เช่น มะกอกกระป๋อง ปลาค้อด ปลาซาลมอน ปลาหมึกกระป๋อง เป็นต้น ผู้นำเข้าอาหารกระป๋องจากต่างประเทศที่สำคัญรายหนึ่ง คือ บริษัท Del Monte

Table 1. Mexico: Sales Volume of Processed Food Categories, in 1000 MT.
Processed Food Category
Quantity in 1000 MT
Bakery
14,927.48
Canned/Preserved Food
522.69
Chilled Processed Food
142.41
Confectionery
373.27
Dried Processed Food
946.53
Frozen Processed Food
136.25
Ice Cream (Million liters)
100.27
Meal Replacement
7.38
Noodles
119.11
Oils and Fats
877.99
Pasta
297.30
Ready Meals
32.93
Sauces, Dressings & Condiments
948.30
Snack Bars
33.35
Soup
34.35
Spreads
120.15
Sweet and Savory Snacks
373.54
Meal Solutions
1,870.35
                                               Source: Euromonitor

Wednesday, May 16, 2012

Chinese investment in Mexico and Latin America

ภาวะการค้าและการลงทุนของจีนในเม็กซิโกและภูมิภาคลาตินอเมริกา

ถึงแม้ว่าประเทศจีนจะครองตำแหน่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสองของเม็กซิโก รองจากสหรัฐฯ ความสำคัญของการค้าและการลงทุนจากจีนในเม็กซิโกเทียบกับสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยการส่งออกจากเม็กซิโกไปยังจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของการส่งออกทั้งหมดของเม็กซิโก มูลค่า 5,962 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 15 ของการนำเข้ารวม มูลค่า 52,248 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2011 ส่วนการลงทุนจากจีนในเม็กซิโกแทบจะไม่ปรากฏเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญแต่อย่างใด 

รายงานเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติในภูมิภาคลาตินอเมริกา ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคลาตินอเมริกา-องค์กรสหประชาชาติ (ชื่ออักษรย่อภาษาอังกฤษ-ECLAC หรืออักษรย่อภาษาสเปน-CEPAL) ได้รายงานว่า ในปี ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา เม็กซิโกไม่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากจีนเลย เนื่องจากจีนมีความสนใจลงทุนในภาคเหมืองแร่และพลังงาน หรือการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคมากกว่า ในขณะที่โอกาสการลงทุนในภาคการผลิตต่างๆ ของเม็กซิโกเป็นการผลิตสินค้าบริโภคขั้นสูงมากกว่าการผลิตขั้นพื้นฐาน ในปี 2010 เม็กซิโกได้รับการลงทุนจากจีน ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐจากจำนวน 15,251 ล้านเหรียญฯ ที่จีนลงทุนในภูมิภาคลาตินอเมริกาโดยรวม และในช่วงระหว่างปี 1990-2009 เม็กซิโกได้รับการลงทุนจากจีนรวมเพียง 127 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของการลงทุนรวมของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 7,336 ล้านเหรียญฯ ในช่วงดังกล่าว 


การลงทุนโดยตรงต่างชาติในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติในปี ค.ศ. 2011 มูลค่ารวม 153.448 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงต่างชาติรวมของโลก นับว่าเป็นยอดการลงทุนจากต่างประเทศที่มากที่สุดในประวัติการณ์สำหรับภูมิภาคดังกล่าว ประเทศที่ไดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดได้แก่ บราซิล ซึ่งได้รับการลงทุนต่างชาติรวม 66.66 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเป็นร้อยละ 43.8 ของการลงทุนระหว่างประเทศรวมสำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา รองลงมาได้แก่ ชิลี มูลค่าการลงทุนต่างประเทศ 17.299 พันล้านเหรียญฯ โคลัมเบีย 13.234 พันล้านเหรียญฯ เปรู 7.659 พันล้านเหรียญฯ อาร์เจนติน่า 7.243 พันล้านเหรียญฯ เวเนซูเอลา 5.302 พันล้านเหรียญฯ และอุรุกวัย 2.528 พันล้านเหรียญฯ 

สำหรับกลุ่มประเทศอเมริกากลาง ประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมากที่สุด ในปี ค.ศ. 2011 ได้แก่ ปานามา ซึ่งได้รับเงินลงทุนต่างชาติมูลค่า 2.790 พันล้านเหรียญฯ ตามด้วยคอสตาริกา 2.104 พันล้านเหรียญฯ และฮอนดูรัส 1.014 พันล้านเหรียญฯ การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับกลุ่มประเทศอเมริกากลางได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากปี 2010 ส่วนในกลุ่มประเทศแคริเบียน ประเทศที่ได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐดอมินิกัน ซึ่งได้รับการลงทุนโดยตรงต่างชาติมูลค่า 2.371 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา มีต้นกำเนิดมาจากสหภาพยุโรปเป็นแหล่งต้นกำเนิดเงินลงทุนที่สำคัญ ในสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงต่างชาติภูมิภาคฯรวม มูลค่าเฉลี่ย 30 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการลงทุนจากสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ ได้แก่ ภาคการผลิตไฟฟ้า และการธนาคาร เมื่อแบ่งแหล่งลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคลาติอเมริกาเป็นรายประเทศแล้ว แหล่งลงทุนที่สำคัญในปี 2011 ได้แก่ สหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 18 สเปนร้อยละ 14 และญี่ปุ่นร้อยละ 8 นอกจากนี้แล้ว การลงทุนระหว่างกันเองของประเทศในภูมิภาคฯ มีความสำคัญถึงร้อยละ 9 ของการลงทุนโดยตรงต่างชาติรวมของภูมิภาคดังกล่าว แต่ได้มีมูลค่าลดลงจาก 44.924 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2010 เป็น 22.605 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2011 เนื่องจากผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ คือประเทศบราซิล ได้ลงทุนในต่างประเทศน้อยลง เนื่องจากได้หันไปลงทุนภายในประเทศมากขึ้นในปีดังกล่าว ส่วนประเทศชิลี ได้กลายเป็นผู้ลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญแทนบราซิลในปี 2011 โดยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ 11.822 พันล้านเหรียญฯ ตามด้วยเม็กซิโก 9.64 พันล้านเหรียญฯ และโคลัมเบีย 8.289 พันล้านเหรียญฯ 

เลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจภูมิภาคลาตินอเมริกาได้คาดการณ์ว่า การลงทุนโดยตรงต่างชาติสำหรับภูมิภาคฯ สำหรับปี 2012 จะยังอยู่ในระดับที่สูง โดยจะมีอัตราการขยายตัวในอัตราร้อยละ 2-8 จากมูลค่าการลงทุนในปี 2011 หากสหภาพยุโรปไม่ประสบปัญหาวิกฤตการณ์การเงินที่รุนแรง

การลงทุนของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา

รัฐบาลของจีนได้เริ่มมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ที่เรียกว่า “Going Out Strategy” จากปี ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา ในปี 2003 จีนได้มีมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศรวม 35 พันล้านเหรียญฯ ต่อมาได้ขยายตัวเป็น 230 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2009 ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติของประเทศเดนมาร์คในปีนั้น และเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงต่างชาติของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4 พัน พันล้านเหรียญฯ ก็จะเห็นว่ายังมีโอกาสการขยายตัวอีกมาก 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงของจีนในภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการกระตุ้นการค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก โดยประเทศจีนได้ลงทุนในด้านการผลิตโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังมีการปล่อยเงินกู้สำหรับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ในปี 2010 ยอดการส่งออก การลงทุน และการปล่อยกู้รวมจากจีนไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา มีมูลค่า 300 พันล้านเหรียญฯ โดยการส่งออกสินค้าขั้นพื้นฐานมีสัดส่วนร้อยละ 92 ของการส่งออกจากภูมิภาคฯ ไปยังจีน ร้อยละ 85 ของมูลค่าการลงทุนของจีนในภูมิภาคฯ เป็นการลงทุนในภาคเหมืองแร่ และร้อยละ 60 ของการปล่อยกู้ทั้งหมดของจีน เป็นการปล่อยกู้ไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา 

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากขยายการค้าการลงทุนจากจีนในภูมิภาคฯ มากที่สุดได้แก่ ประเทศบราซิล ชิลี และเปรู ส่วนประเทศที่ไม่ค่อยจะได้รับผลประโยชน์จากการขยายการค้าการลงทุนจากจีนในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กลุ่มประเทศอเมริกากลาง แคริเบียบ และเม็กซิโก นอกจากนี้แล้ว ประเทศกลุ่มนี้ ยังเสียเปรียบความแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตให้กับจีนในตลาดที่สามอีกด้วย

ปัญหาอุปสรรคค้าการลงทุนระหว่างเม็กซิโกและจีน

ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่สำคัญๆ เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการค้ากับจีนน้อยที่สุด การค้ากับจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของการค้ารวมของเม็กซิโก ในขณะที่ชิลีมีสัดส่วนการค้ากับจีนสูงถึงร้อยละ 22.3 เปรู ร้อยละ 17.7 บราซิล ร้อยละ 16.2 และอาร์เจนตินา ร้อยละ 7.1 

กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโก หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกของเม็กซิโก และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน KPMG และ SinoLatin Capital ได้กล่าวว่า นักธุรกิจเม็กซิโกควรให้ความสนใจกับโอกาสการค้าการลงทุนในจีนให้มากกว่าที่มีอยู่ โดยมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นความสนใจของภาคเอกชนเม็กซิกัน โดยการให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโอกาสการค้ากับจีนมากขึ้น รวมทั้งควรมีมาตรการส่งเสริมด้านการเงิน เช่น เงินกู้สำหรับผู้ที่สนใจส่งออกไปยังจีน นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐบาลต้องกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทุกระดับให้มีความใกล้ชิดเข้าใจกันมากขึ้น และอาจจะมีการพิจารณาทำความตกลงด้านความร่วมมือในภาคต่างๆ ให้มากขึ้น 

จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจเม็กซิกันต่าง ๆ พบว่า นักธุรกิจของเม็กซิโกมักจะมีอคติต่อกับการค้าขายกับจีน โดยมองว่าจีนไม่ปฏิบัตทางการค้าอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ แม้กระทั่งรัฐบาลของเม็กซิโกเอง ก็ได้มีข้อพิพาททางการค้า ใช้มาตรการด้านภาษีลงโทษสินค้าส่งออกจากจีนหลายครั้ง แต่รัฐบาลของเม็กซิโกได้เปลี่ยนทาทีแล้ว และในปัจจุบันเห็นว่า จีนเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลกที่ปฏิบัติตามกฏระเบียยการค้าได้ดีพอสมควร 

นักธุรกิจเม็กซิโก ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการเจาะตลาดจีน ได้แก่

· กฏระเบียบที่กำจัดการลงทุนต่างชาติในภาคเศรษฐกิจที่เม็กซิโกอาจสนในลงทุน เช่น โทรคมนาคม ภาคการผลิตรถยนต์ และการถ่ายทำหนัง เป็นต้น

· รายละเอียดขั้นตอนการทำธุรกิจ เช่น กฎระเบียยที่ควบคุมการทำบัญชี การรายงานสถานะการเงิน ซึ่งมีการลงโทษการละเมิดทางอาญาที่หนักเกินควร

· ข้อจำกัดในการส่งเงินโอนระหว่างประเทศระหว่างเครือข่ายของบริษัท ที่สร้างความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ

· ระบบภาษีการนำเข้าส่งออกที่สลับซับซ้อน

หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกของเม็กซิโก (ProMexico) ได้มีการระบุโอกาสการค้าและการลงทุนสำหรับเม็กซิโกในจีน สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รองเท้า สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ พลังงานทดแทน สินค้าวัตถุดิน และการท่องเที่ยว ส่วนภาคที่คาดว่าเม็กซิโกมีความได้เปรียบน้อย คือ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอีเลคทรอนิกส์ และของเล่น 

บริษัทสำคัญของเม็กซิโกที่ได้ลงทุนในจีนแล้ว มีบริษัท Nemak ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Grupo Alfa ซึ่งทำการผลิตแม่พิมพ์สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทต่างๆ ที่มณทลหนานจิง บริษัทด้านสารสนเทศ Softtek บริษัทผู้ผลิตท่อไอเสีย Katcon บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ San Luis Corporación กลุ่มด้านผลิตภัณฑ์อาหาร Grupo Herdez บริษัทผลิตเครื่องดื่ม Jumex ผู้ผลิตแป้งสาลี Maseca กลุ่ม Carso สายการบิน Aeroméxico และกลุ่มยางสังเคราะห์ Kuo

Monday, May 14, 2012

Country Profile: Nicaragua 2012

1. ข้อมูลทั่วไปของประเทศนิการากัว


นิการากัวเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง แต่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุด มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศฮอนดูรัส ทางใต้จรดประเทศคอสตาริกา ชายฝั่งตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนชายฝั่งตะวันออกจรดทะเลแคริบเบียน

1.2 ชื่อเป็นทางการ สาธารณรัฐนิการากัว (ภาษาสเปน: República de Nicaragua)

1.3 เมืองหลวง กรุงมานากัว (Managua) มีประชากรประมาณ 1.7 ล้านคน

1.4 ขนาดพื้นที่ 130,370 ตารางกิโลเมตร (ใกล้เคียงกับขนาดของประเทศกรีซ)

1.5 ประชากร 5.89 ล้านคน

1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ ทองคำ เงิน ทองแดง ทังเสตน ตะกั่ว สังกะสี ป่าไม้ และประมง

1.7 ประวัติศาสตร์ ได้ประกาศอิสระภาพจากสเปนในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1821 แต่ได้รับการยอมรับความเป็นเอกราชจากสเปนในวันที่ 25 กรกฏาคม ค.ศ. 1850

เชื้อชาติ เมสติโซ (ผิวขาวผสมอินเดียน) ร้อยละ 69 ผิวขาว ร้อยละ 17 ผิวดำร้อยละ 9 และอเมริกัน-อินเดียน ร้อยละ 5

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 58.5 คริสต์นิกายอื่นๆ ร้อยละ 24 และมีชาวพุทธอยู่ร้อยละ 0.1

ภาษา ภาษาทางการคือภาษาสเปน มีภาษาพื้นบ้านคือ Creole, Miskito, Sumo และ Rama

1.8 ระบอบการปกครอง

นิการากัวมีการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและผู้นำรัฐบาล นาย Daniel ORTEGA Saavedra ได้เข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธบดีสมัยที่สองในวันที่ 6 พฤศจิกายนค.ศ.2011 วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ฝ่ายนิติบัญญัติมีสภาเดี่ยว ตำแหน่งผู้แทนสภา 92 ตำแหน่ง ระบบการเมืองเป็นระบบพรรคการเมืองหลายพรรค (multi-party) และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 จังหวัด (departamentos) กับ 2 เขตปกครองตนเอง

1.9 ระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

มีเส้นทางถนนจำนวน 19,137 กิโลเมตร สนามบิน 143 แห่ง สนามบินระหว่างประเทศ คือ Augusto C. Sandino International Airport ที่กรุงมานากัว มีความสามารถรับผู้โดยสารได้ 1.1 ล้านคนต่อปี สายการบินสำคัญคือ สายการบิน Nicaragüense de Aviación (NICA) เส้นทางน้ำ 2,220 กิโลเมตร มีทะเลสาปใหญ่ 2 แห่ง คือ ทะเลสาปมานากัว และทะเลสาปนิการากัว มีท่าเรือทั้งหมด 7 แห่ง แต่ท่าเรือที่สำคัญคือท่าเรือ Bluefields ฝั่งทะเลแคริเบียน และท่าเรือ Corinto ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนีแล้ว ยังมีระบบท่อส่งน้ำมันความยาว 54 กิโลเมตร

2. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจโดยทั่วไป
2.1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศนิการากัว

นิการากัวเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง มีอัตราการว่างงานและความยากจนสูง เนื่องจากตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเป็นระยะเวลาร่วม 30 กว่าปีในช่วงปี 1960-1990 ตามด้วยปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ในระยะต่อมา การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีคาฟต้ากับสหรัฐในปี ค.ศ. 2006 ได้ช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่ม โดยเฉพาะสิ่งทอและเสื้อผ้า แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี Ortega ซึ่งได้เข้าดำรงตำหน่งในปี 2007 มีความคิดเห็นโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย และมีความใกล้ชิดกับประธานาธิบดี Chavez ของประเทศเวเนซูเอลา ได้เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำและส่งเสริมการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจจากเวเนซูเอลา ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสื่อมสภาพลง ชาวนิการากัวได้ย้ายถิ่นฐานหนีปัญหาการเมืองและสภาวะความยากจนเป็นล้านคน นิการากัวจึงพึ่งการส่งเงินกลับจากแรงงานในต่างประเทศเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของผลผลิตแห่งชาติ ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญของนิการากัวคือภาระหนี้ระหว่างประเทศสูงซึ่งทำให้งบดุลขาดดุลมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2004 ได้รับความช่วยเหลือในการปรับลดหนี้และเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของ IMF นิการากัวได้เริ่มฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจนิการากัวได้ฟื้นฟูจากภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2009 อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ต่างๆ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของการส่งออก และการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ในปี 2011 นิการากัวได้รับเงินส่งกลับจากต่างประเทศมูลค่า 912 ล้านเหรียญฯ เทียบได้เป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกในปีเดียวกันนั้น เศรษฐกิจนิการากัวได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 4 ในปี 2011 ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) มีมูลค่า 7.08 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้ต่อหัว (GDP per capita) 1,202 เหรียญฯ และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 7.95

ร้อยละ 46 ของประชากรนิการากัวอยู่ในสภาวะความยากจนต่ำกว่าระดับมาตรฐาน (under national poverty line) และร้อยละ 16 ของประชากรฯ มีระดับรายได้ต่ำกว่า 1.25 เหรียญต่อวัน ประธานาธบดีออร์เทกาได้กำหนดแผนงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจที่เรียกว่า “21st Century Socialism” ซึ่งมีลักษณะการวางแผนเศรษฐกิจแบบผสมผสาน คล้ายกับแนวทางของประเทศเวเนซูเอลา โดยพรรค FSLN ได้เพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจ โดยการซื้อกิจกรรมด้านโรงแรม ปศุสัตว์ สถานีโทรทัศน์ ปั้มน้ำมัน ก่อสร้าง และการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม นิการากัวยังคงต้องดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาคิและการปรับปรุงเศรษฐกิจที่จำเป็น เนื่องจากยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขความช่วยเหลือด้านเงินเงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศอยู่

2.2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

นิการากัวมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในปลายปี ค.ศ. 2010 ประมาณ 1.58 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2011 ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1.799 พันล้านเหรียญฯ

2.3 โครงสร้างการผลิตภายในประเทศนิการากัว

ภาคบริการของนิการากัวมีความสำคัญในผลผลิตแห่งชาติเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.3 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 23.4 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 20.3 สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ กาแฟ ฝ้ายและกล้วย ส่วนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การก่อสร้าง เหมืองแร่ ประมง การพาณิชย์ และการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของนิการากัวได้เติบโตเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา โดยมีการขยายตัวในภาคดังกล่าวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี จำนวนนักท่องเที่ยวที่เยือนนิการากัว ได้เพิ่มเป็นระดับ 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกในปี 2010 รายได้จากการท่องเที่ยวในปีดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 360 ล้านเหรียญสหรัญ

2.4 ข้อมูลด้านการลงทุน

การลงทุนจากภาคเอกชนได้มีสภาพขึ้นลงกับสภาวะทางการเมือง ในปี ค.ศ. 1999 ได้มีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าประเทศนิการากัวมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ลดลงเป็นเพียง 100 ล้านเหรียญฯ ในปี 2001 การเร่งส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้โครงการปรับโครงสร้างของ IMF รวมกับการจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2002 ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเป็น 508 ล้านเหรียญฯ ในปี 2010 และในปี 2011 ได้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ 880.6 ล้านเหรียญฯ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคพลังงานและโทรคมนาคม

3. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของนิการากัว
3.1 ภาพรวมสถานการณ์ทางการค้าของประเทศนิการากัว

ในปี ค.ศ. 2011 นิการากัวมีมูลค่าการส่งออกรวม 2.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกในปี 2010 ร้อยละ 23.4 คู่ค้าการส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 28 เวเนซูเอลา ร้อยละ 23 และแคนาดา ร้อยละ 11 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ กาแฟ เนื้อวัว กุ้งและกุ้งกาม ยาสูบ น้ำตาล ทองคำ ถั่ว สิ่งทอและเสื้อผ้า

การนำเข้าในปี 2011 มีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 20 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 18.8 เวเนซูเอลา ร้อยละ 15.7 จีน ร้อยละ 9.2 คอสตาริกา ร้อยละ 8.5 และเม็กซิโก ร้อยละ 8 โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญคือ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัตณ์เภสัช รถยนต์ พลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ธัญพืช น้ำมันพืช และกระดาษ


3.2 ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ

นิการากัวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มศุลกากรอเมริกากลาง Central American Common Market-CACM เมื่อปี ค.ศ. 1960 และเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกในปี ค.ศ. 1995 มีความตกลงเขตการค้าเสรีพหุภาคีกับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบของกลุ่ม DR-CAFTA ตั้งแต่ปี 2004 มีความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกลุ่มอเมริกากลางปานามาตั้งแต่ปี 2002 และได้เจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปสำเร็จในปี 2011 นิการากัวได้เข้าร่วมกลุ่มการรวมตัวทางเศรษฐกิจละตินอเมริกา ALADI ในปี 2011 นอกจากนี้แล้ว ยังอยู่ระหว่างการเจรจรเขตการค้าเสรีกับชิลี นิการากัวได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น โคลัมเบีย และแคนาดา

สำหรับในระดับทวิภาคี นิการากัวได้ลงนามในความตกลงการค้าเสรีกับเม็กซิโกในปี 1997 สาธารณรัฐโดมินิกันในปี 1998 และกับไต้หวันในปี 2006

เมื่อต้นปี ค.ศ. 2012 นิการากัวได้ลงนามความตกลงทวิภาคีเพื่อการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันกับประเทศรัสเซีย โดยรัฐมนตรีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้านิการากัว นาย Orlando Solorzano ได้นำคณะตัวแทนภาครัฐและเอกชนระดับสูงไปยังรัสเซีย ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม ค.ศ. 2012 เพื่อนำเสนอโครงการลงทุนร่วมกับรัสเซีย มูลค่ารวม 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกของนิการากัว ทั้งนี้ ประเทศรัสเซียได้ลงทุนในนิการากัวในปี 2010 มูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในภาคโทรคมนาคมสื่อสาร และภาคธุรกิจการเกษตร การส่งเสริมการลงทุนร่วมกันดังกล่าวจะส่งเสริมให้รัสเซียเป็นผู้ลงทุนสำคัยในอันดับหนึ่งในสิบของนิการากัว

4. ข้อมูลทางการค้ากับประเทศไทย
4.1 ภาพรวมสถานการณ์/ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างนิการากัวกับไทย

นิการากัวและไทยได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 โดยรัฐบาลไทย”โ็มอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำนิการากัวอีกตำแหน่งหนึ่ง ในขณะที่นิการากัวได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตประจำญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย และแต่งตั้งนายอาณัฐชัย รัตตกุล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์นิการากัวประจำประเทศไทย เมื่อปี 1994

ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญระหว่างวันที่ 20-25 มีนาคม 2000 เป็นเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการโดยประธานาธิบดีของนิการากัว นาย Arnoldo Aleman Lacayo

4.2 มูลค่าการค้าของไทยกับนิการากัว

ในปี ค.ศ. 2011 การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับนิการากัวมีมูลค่ารวม 31.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 1.89 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ปรียบดุลการค้ามูลค่า 28.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2011 ไทยได้ส่งออกไปยังนิการากัวเป็นมูลค่า 30.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2010 ร้อยละ 1.98 และนำเข้าจากนิการากัวเป็นมูลค่า 1.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 493

การค้าระหว่างไทยกับนิคารากัว
มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี
ดุลการค้า
ส่งออก
นำเข้า
ปริมาณการค้ารวม
2008
37.151
38.563
1.411
39.974
2009
17.542
17.742
0.206
17.948
2010
30.712
31.019
0.307
31.326
2011
28.27
30.10
1.82
31.92
                        แหล่งข้อมูลThailand Trading Report,  MOC.

4.3 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศนิการากัว และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากนิการากัว

สินค้าที่ไทยส่งออกไปนิการากัว คือ รถยนต์และชิ้นส่วน สินค้าอาหารทะเล สินค้ายาง เครื่องซักผ้า/อบผ้า เครื่องจักรและชิ้นส่วน เส้นด้าย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากนิการากัว ได้แก่ เนื้อ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรและชิ้นส่วน สินค้าสิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์บรรจุข้อมูลเสียงและภาพ

สินค้าส่งออก/นำเข้าสำคัญระหว่างไทยกับนิการากัว ค.ศ. 2011
มูลค่า: เหรียญสหรัฐ
อันดับ
รายการสินค้าส่งออก
มุลค่าส่งออก
รายการสินค้านำเข้า
มูลค่านำเข้า
1
Motor cars, parts, accessories
24,526,914
Edible meat
55,546
2
Prepared/preserved fish, crustaceans,
2,913,438
Garments
24,464
3
Rubber products
847,022
Rubber manufactures
335
4
Washing/dry clean machines, parts
329,391
Machinery, parts
56
5
Machinery & parts
111,294
Print matter
110
6
Yarn & man-made filaments
35,900
Data media for pictures, sound recordin
22
7
Tapioca products
9,942
Tobacco
n/a
8
Motorcycle, parts & access.
4,897
Paper Products
n/a
9
Plastic Products
1,046


                      แหล่งข้อมูลThailand Trading Report,  MOC.

4.4 สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยสำหรับประเทศนิการากัวและลู่ทางการค้าและการลงทุน

มีโอกาสในการขยายปริมาณสินค้าที่ส่งออกเดิม ซึ่งได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและสินค้าตกแต่งเสื้อผ้า สินค้าอาหารทะเล เครื่องซักผ้า/อบผ้า เคมีภัณฑ์ สินค้ายาง และชิ้นส่วนเครื่องจักร

บริษัทที่ทำการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าไทยที่กำลังแสวงหาฐานการผลิตต้นทุนค่าแรงงานต่ำ อาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตสิ่งทอในส่วนที่มีเป้าหมายการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไปยังประเทศนิการากัว ทั้งนี้ ค่าแรงงานขั้นต่ำของนิการากัวมีมูลค่าประมาณ 1,392 คอร์โดบา หรือประมาณ 63 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าแรงงานที่ถูกที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง เทียบกับค่าแรงของฮอนดูรัสประมาณ 5,500 เล็มปิรี หรือ 291 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ค่าแรงงานในคอสตาริกา 217 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และค่าแรงงานในเอลซัลวาดอร์ประมาณ 187 เหรียญต่อเดือน ค่าแรงงานในนิการากัวเป็นอัตราค่าแรงที่ต่ำกว่าค่าแรงของเวียดนามซึ่งเท่ากับ 72 เหรียญต่อเดือน


4.5 การท่องเที่ยวในนิการากัว

การท่องเที่ยวในนิการากัวได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2005 ได้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวนิการากัวจำนวน 803,933 คน เพิ่มจากจำนวน 579,165 คนในปี 2002 ในปีเดียวกันนั้น นิการากัวได้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่า 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ในปี 2010 ได้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังนิการากัวประมาณ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 8.7 และได้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2011 จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปนิการากัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 หรือเป็นจำนวนรวม 1.1 ล้านคน นิการากัวมีจำนวนห้องพักรวมประมาณ 9,000 ห้อง อัตราการเข้าพัก ประมาณร้อยละ 80 และกลุ่มโรงแรมของเสปน NH Hoteles ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนสร้างโรงแรมห้องพักเพิ่มในนิการากัว

5. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยราชการ/ รัฐวิสาหกิจไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการค้าของประเทศนั้น
6.1 หน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน:
       ProNicaragua
       Km 4 ½ Carretera a Masayu, Edificio Cesar, Managua, Nicaragua. C.A.
       Tel.: + (505) 2270-6400
       Fax: + (505) 2278-733
                       Website: info@pronicaragua.org
                6.2  หอการค้าแหน่งนิการากัว
                      CACONIC (Cámara de Comercio de Nicaragua)
                      Rotonda Güegüense 400 metros al Sur 20 varas al este,
                      Tel: +(505) 2268-3505, Fax: +(505) 2268-3600
      E-mail:comercio@caconic.org.ni , comunicacion@caconic.org.ni
                      Website: www.caconic.org.ni

6. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานส่งเสริมการค้าของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทย
7.1 Embassy of Nicaragua
      Kowa Bldy 38, Rm 9034 - 12-24, Nishi - Azabu, Minato-Ku Tokyo 106, Japan
      Tel: 00813 - 34990400.  Fax: 00813 – 34993800
      E-mail: nicjapan@gol.com

ข่าวอ้างอิง