Google Website Translator

Thursday, July 16, 2009

CEMEX seeks to extend bank debt

ภาวะตลาดปูนซีเมนต์ในเม็กซิโก และ สถานะหนี้ของบริษัท Cemex

หอการค้าซีเมนต์แห่งเม็กซิโก CANACEM (Camara Nacional del Cemento) รายงานภาวะการผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2008 ว่า ได้มีปริมาณการผลิตเท่ากับ 37.1 ล้านตัน โดยการบริโภคภายในประเทศสำหรับปีเดียวกันเท่ากับ 35.1 ล้านตัน เทียบเท่ากับปริมาณการใช้ปูนประชากร 329 กิโลกรัมต่อคน

ตลาดผู้ใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเม็กซิโกสามารถแบ่งได้ตามกลุ่มผู้ใช้ ได้แก่ ภาครัฐบาล ร้อยละ 9.8 การก่อสร้างอย่างเป็นรูปแบบ ร้อยละ 9.9 ผู้ใช้สำหรับทำการก่อสร้างเอง ร้อยละ 3.7 บริษัททำการแปรรูป ร้อยละ 9.9 และบริษัทผู้ผลิตคอนกรีต ร้อยละ 20.1

บริษัท Cemex เป็นผู้ผลิตรายปูนรายใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก มีโรงงานผลิตปูน 15 แห่ง กำลังการผลิต 27.2 ล้านตันต่อปี มีโรงงานผลิตคอนกรีต 211 แห่ง ศูนย์การจำหน่าย 67 แห่ง และท่าขนส่งทางทะเล 8 แห่ง

ผู้ผลิตอันดับสองของประเทศได้แก่ บริษัท Holcim Apasco ซึ่งบริิษัท Holcim ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ผลิตปูนอันดับสองของโลกได้เข้าซื้อกิจการของ Apasco ที่เป็นผู้ผลิตปูนเม็กซิกันที่เริ่มการผลิตที่รัฐเม็กซิโกเมื่อปี 1928 มีโรงงาน 6 แห่ง เน้นรัฐทางชายฝั่งตะวันออกของเม็กซิโก มีกำลังการผลิต 10.3 ตันต่อปี โรงงานการผลิตคอรกรีต 8 แห่ง ศูนย์การจำหน่าย 23 แห่ง ท่าขนส่งทางทะเล 2 แห่ง และมีศูนย์การวิจัยพัฒนาปูนแห่งหนึ่ง

บริษัท ผู้ผลิตปูนรายย่อยอื่น ๆ ได้แก่

  • บริษัท Cementos Moctezuma มีโรงงาน 2 แห่งที่รัฐ San Luis Potosi และ Morelos ก่อตั้งเมื่อปี 1943 มีกำลังการผลิตปูน 2.5 ล้านตัน และความสามารถในการผลิตคอนกรีต 500,000 คูบิกเมตร
  • บริษัท GCC Cemento มีโรงงาน 3 แห่งอยู่ที่รัฐ Chihuahua มีกำลังการผลิตปูน 3.3 ล้านตัน
  • บริษัท Lafarge Cementos โรงงานทั้ง 2 แห่งอยู่รัฐ Hidalgo
  • กลุ่มสหกรณ์ Corperativa La Cruz Azul มีโรงงาน 2 แห่ง ที่รัฐ Hidalgo
  • และบริษัท Cementos y Concretos มีโรงงาน 2 แห่ง ที่รัฐ Puebla และ Aguascalientes
สภาหอการค้าซีเมนต์แห่งเม็กซิโก ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า อุตสาหกรรมซีเมนต์ในเม็กซิโกเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในประเทศ มีการแข่งขันในระดับสูง การผลิตเทียบเท่าได้กับระดับของประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐฯ เยอรมัน อิตาลี และ ญีปุ่น โดยเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตและการบริโภคซีเนนต์ในระดับ 15 ประเทศต้น ๆ ของโลก

ภาวะการผลิตการจำหน่ายซีเมนต์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในระยะสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคเหนือของเม็กซิโก ซึ่งมีการก่อสร้างสาธารณูปโภค โรงพยาบาล โรงงาน โกดัง ศูนย์การค้า และการเคหะ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับการกระตุ้นจากเขตการค้าเสรี NAFTA ในขณะที่ภาคกลางที่มีโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาเต็มที่แล้ว และภาคใต้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจล้าช้ากว่าภาคอื่น ๆ

สถานะหนี้ของบริษัท Cemex

การซื้อบริษัท Rinker ของออสเตรเลียเมื่อต้นปี 2008 ได้สร้างภาระหนี้ให้กับ Cemex จำนวน 15 พันล้านเหรียญ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกหดตัวเนื่องจากวิกฤตการณ์อสังหริมทรัพย์ของสหรัฐฯ บวกกับการลดค่าเงินเปโซ การระบาดของไข้หวัด N1H1 ในกลางปี ยอดขายที่ลดลงในตลาดส่งออกหลัก ๆ อันได้แก่ สหรัฐฯ สเปน และอังกฤษ รวมทั้งการที่ประธานาธิบดี Chavez ได้ยึดโรงงานผลิตปูนของ Cemex ที่เวเนซูเอลา ล้วนแต่กระทบต่อยอดขายและรายได้ของ Cemex เป็นเหตุให้ผลกำไรในไตรมาสที่สองของปี 2009 ตกต่ำกว่าช่วงเดียวกับของปีก่อนถึงร้อยละ 63

บริษัท Cemex ได้พยายามลดภาระหนี้หลายทาง เช่น การขายส่วนหนึ่งของกิจการในประเทศออสเตรเลียให้กับบริษัท Holcim มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญฯ พยายามขายพันธบัตรมูลค่ารวม 500 ล้านเหรียญฯ เมื่อเดือนมีนาคม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในที่สุดได้เริ่มการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้คืนจากกำหนดเดิมในปี 2011 ออกไปถึงปี 2014

แหล่งข้อมูล:

CANACEM (Camara Nacional del Cemento)
Cemex
Wall Street Journal, "Cemex seeks to extend bank debt"
Reuters, "Cemex to post weak 2nd quarter results"

Wednesday, July 15, 2009

Election results, peso drops, tax reforms may stall

ผลการเลือกตั้งกลางเทอม: พรรค PRI ชนะ อาจเป็นผลให้การปรับโครงสร้างภาษีผ่านสภาลำบากขึ้น

ผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเม็กซิโกชุดใหม่ ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฏาคม 2009 เป็นการคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรชุดใหม่ จำนวน 500 คน ซึ่งมีวาระการครองตำแหน่งครั้งละ 3 ปี มีความสำคัญในการบ่งชี้ว่า ประธานาธิบดีของเม็กซิโกได้รับความเห็นชอบของประชาชนมากน้อยเพียงไร และมีผลสำคัญต่อการเลือกตั้งประธานาธิดีคนใหม่ในอีกสามปีข้างหน้า

ปรากฏว่า พรรค PAN (Partido Accíon Nacional) ของประธานาธิบดีคัลเดรอน ได้สูญเสียสัดส่วนการครองสภาไปให้แก่ฝ่ายค้านพรรค PRI (Partido Revolucionario Institucional) โดยพรรค PAN ซึ่งแต่เดิมมีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 206 คน ได้มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกใหม่ ลดลงเหลือเพียง 146 คน สัดส่วนของเสียงในสภาเทียบเท่ากับร้อยละ 28 ในขณะที่พรรค PRI ซึ่งเดิมมีผู้แทนจำนวน 106 คน ได้รับการคัดเลือกเพิ่มขึ้นเป็น 233 คน กลายเป็นฝ่ายที่มีสัดส่วนเสียงในสภามากกว่า นั่นคือ ร้อยละ 37 และพรรค PRD พรรคฝ่ายค้านที่สำคัญอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งเดิมมีตำแหน่งผู้แทนจำนวน 127 คน ได้มีจำนวนผู้แทนลดลงเหลือเพียง 72 คน

พรรค PRI เป็นพรรคที่ครองอำนาจเก่าแก่ในเม็กซิโก มาเป็นเวลานานกว่า 70 ปี ได้เสียอำนาจให้แก่พรรค PAN เมื่อพ่ายแพ้การคัดเลือกประธานาธิบดีในปี 2000 ในการคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ สามารถรณรงค์คะแนนเสียงกลับคืนมาได้ มีสาเหตุส่วนหนึ่ง เนื่องจากการปรับโครงสร้างภายในของพรรค และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจในการบริหารของประธานาธิบดีคัลเดรอน โดยเฉพาะการทำสงครามต่อสู้มาเฟียยาเสพติดที่ได้เพิ่มความรุนแรงโดยทั่วไปในสังคมส่วนใหญ่ และการบริหารการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้แสดงผลดีให้เห็นอย่างชัดเจน

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีผลกระทบต่อค่าเงินเปโซ กดค่าเงินให้ตกลงเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนตกมาอยู่ที่ 13.38 เปโซต่อเหรียญ และดัชนีตลาดหลักทรัพย์เม็กซิโกตกลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและนักลงทุนต่างชาติ คาดว่าการสูญเสียอำนาจในสภาของประธานาธิดีคัลเดรอน จะทำให้แผนการปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐบาลของนายคัลเดรอนต้องเจรจากับสภา เช่น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าอาหารและยาซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษี จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค PRI ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและรายได้ของรัฐบาลมีแรงกดดันหลายทางที่เม็กซิโกประสบอยู่ในขณะนี้ ย่อมหมายความว่าภาระหนี้สินของประเทศจะสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่า credit rating ของเม็กซิโกจะต้องถูกลดลง

แหล่งข่าว: The News (July/ 8, 14/09)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพรรคการเมืองสำคัญของเม็กซิโก:

http://en.wikipedia.org/wiki/National_Action_Party_(Mexico)
http://en.wikipedia.org/wiki/Institutional_Revolutionary_Party
http://en.wikipedia.org/wiki/Party_of_the_Democratic_Revolution

Mexican auto production fell 48% in June

คาดการณ์ภาวะการผลิตรถยนต์จะลดลงร้อยละ 30 สำหรับปี 2009

นาย Eduardo Solis นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์เม็กซิโก AMIA ได้แถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฏาคม เกี่ยวกับภาวะการผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกว่า สำหรับเดือนมิถุนายน 2009 ปริมาณการผลิตรถยนต์ได้ลดลงร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันกับเมื่อปีก่อน โดยการผลิตรถยนต์ในเดือนมิถุนายนปี 2009 เท่ากับ 101,991 คัน และการส่งออกในเดือนมิถุนายน ได้ลดลงร้อยละ 45 จำนวนรถยนต์ส่งออกเท่ากับ 84,934 คัน

การผลิตสำหรับครึ่งปีแรกปี 2009 ได้ลดลงร้อยละ 43 จำนวนการผลิตเท่ากับ 602,374 คัน ในขณะที่การส่งออกสำหรับครึ่งแรกของปีนี้ ได้ลดลงร้อยละ 42% หรือ 484,689 คัน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 35 และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 51 ส่วนยอดขายภายในประเทศสำหรับหกเดือนแรกปี 2009 ได้ลดลงร้อยละ 31 โดยยอดขายภายในประเทศช่วงหกเดือนดังกล่าวเท่ากับ 356,289 คัน

เมื่อต้นปี 2009 สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งเม็กซิโกได้คาดการณ์ว่า การผลิตรถยนต์จะลดลงประมาณร้อยละ 25 สำหรับปี 2009 ทั้งปี เนื่องจากความสามารถในการส่งออกต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ผลการผลิตที่ลดลงสำหรับช่วงหกเดือนที่ผ่านมา เป็นผลให้สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์เม็กซิโก พิจารณาปรับการคาดคะเนเกี่ยวกับการผลิตสำหรับปี 2009 ลดลงอีกร้อยละ 5 นั่นคือ คาดว่าการผลิตจะลดลงทั้งหมดร้อยละ 30 จากปี 2008 ซึ่งผลิตได้ 2.1 ล้านคัน

นาย Solaris ได้กล่าวว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ย่อมส่งผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศเม็กซิโกเป็นเวลานานพอสมควร โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของสองบริษัทใหญ่สหรัฐฯ GM และ Chrysler ได้สร้างปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของเม็กซิโก ที่พึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 70

ข่าวเกี่ยวกับยอดขายของรถยนต์ในสหรัฐฯ ที่เริ่มแสดงยอดขายตกที่ลดน้อยลงในเดือนมิถุนายน ให้ความหวังเล็กน้อยว่า เศรษฐกิจในสหรัฐฯ อาจจะเริ่มฟื้นตัว เม็กซิโกคงต้องคอยให้ผลดังกล่าวสะท้อนกลับมายังภาวะตลาดของเม็กซิโก นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยประการหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นภาวะการผลิตการขาย ได้แก่โครงการกระตุ้นการตลาดสำหรับการขายรถยนต์ ที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกได้ช่วยระดมกันขึ้นมา และสำหรับตลาดภายในของเม็กซิโกเอง อัตราดอกเบี้ยต่ำและความพร้อมของธนาคารหรือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ที่จะให้กู้เงินสำหรับการซื้อรถยนต์ยังพอมีอยู่ ยอดขายจึงไม่ลดลงถึงร้อยละ 50 ดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นเกิดวิกฤตการณ์การเงินครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1995

บริษัท Volkswagen เม็กซิโกประกาศการลงทุน 1 พันล้านเหรียญฯ เพื่อเริ่มการผลิตรถรุ่นใหม่สำหรับปี 2010

โฆษกบริษัท Volkswagen แห่งเม็กซิโก ได้แถลงข่าวเมื่อวัน 14 กรกฏาคม ว่า บริษัท VW ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ที่รัฐ Puebla ซึ่งผลิกรถ VW รุ่น Jetta Bora และ Beetle รุ่นใหม่ จะขยายการลงทุนเพื่อผลิตรถรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่เปิดเผยลักษณะดีไซน์ โดยคาดหวังว่าจะเริ่มการผลิตรุ่นใหม่นี้ได้ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2010

บริษัท Volkswagen เม็กซิโก เป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับสองของประเทศเม็กซิโก มีโรงงานการผลิตในทวีปอเมริกาที่เม็กซิโกเพียงแห่งเดียว โดยโรงงานดังกล่าวทำการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ แคนาดา และยุโรป

ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 บริษัท Volkswagen เม็กซิโก ได้ลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 22.7 โดยในเดือนมิถุนายนทำการผลิตได้ 30,947 คัน

แหล่งข่าว: http://www.reuters.com/article/rbssConsumerGoodsAndRetailNews/idUSN1428140420090714

Monday, July 13, 2009

Trade and Investment Opportunities between Thailand and Mexico

ภาพรวมเศรษฐกิจเม็กซิโกกับผลกระทบของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2008-2009

ประเทศเม็กซิโก เป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ OECD และเป็นเศรษฐกิจอันอับที่ 13 ของโลก โดยมีผลผลิตแห่งชาติรวม 1,134 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5 เท่าของผลผลิตรวมของไทย) และมีรายได้ต่อหัวสูงสุดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา แต่เศรษฐกิจของประเทศเม็กซิโกพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ นั่นคือ ร้อยละ 90 ของการส่งออก และถึงแม้ว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจเม็กซิโกจะได้พัฒนาพื้นฐานให้เข้มแข็งขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์การเงินของเม็กซิโกในปี 1994-5 พื้นฐานเศรษฐกิจของเม็กซิโกยังมีจุดอ่อนหลายประการอื่น ๆ อันได้แก่
  • การพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบเป็นรายได้สำคัญของงบประมาณแผ่นดิน การผันผวนของค่าน้ำมันได้มีผลทำให้รัฐบาลเม็กซิโกประเมินรายได้และงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผิดพลาดไปในปีที่ผ่านมา
  • แหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศอันดับสองของเม็กซิโก ได้แก่ เงินส่งกลับจากต่างประเทศจากแรงงานที่ไปทำงานในสหรัฐฯ ย่อมลดลงในปริมาณมากเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซา
  • ค่าเงินของเม็กซิโกยังคงมีความอ่อนไหวต่อภาวะตลาดอย่างสูง ถึงแม้ว่าจะมีเงินสำรองระหว่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ อันเป็นผลให้ค่าเงินเปโซมีมูลค่าลดลงเกือบหนึ่งส่วนสามของมูลค่าเดิม โดยในช่วงปลายปี 2008 อัตราแลกเปลี่ยนตกจากที่เคยแลกได้ 11-12 เปโซต่อเหรียญฯ เป็น 15 เปโซต่อเหรียญฯ
  • ผลกระทบของการระบาดไข้หวัดหมู N1H1 โดยมีการประเมินผลเสียหายจากการปิดธุรกิจร้านอาหารและหน่วยงานรัฐบาลระยะเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงเดือนเมษายน 2009 รวมทั้งผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยว ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เศรษฐกิจเม็กซิโกจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด โดยธนาคารกลางของเม็กซิโกคาดว่า เศรษฐกิจของเม็กซิโกจะหดตัวในปี 2009 ประมาณร้อยละ 5.8 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด ตั้งแต่เม็กซิโกประสบวิกฤตการณ์การเงิน tequila crisis ในปี 1995 ซึ่งในปีนั้น เศรษฐกิจได้หดตัวสูงสุดที่อัตราร้อยละ 6 ทั้งนี้ หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ลงความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของเม็กซิโกคงจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนไตรมาสที่สองของปี 2010

โอกาสการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มประเทศละตินอเมริกา 569 ล้านคน ผ่านการเจาะตลาดสำคัญของเม็กซิโก 109 ล้านคน

โดยที่เม็กซิโกได้พัฒนาเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดต่อการค้าและการลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากมีอุดมการณ์ส่งเสริมการค้าเสรีอย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่ยุคของรัฐบาลประธานาธิบดี Zedillo ได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (NAFTA) กับรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ โดยบริษัทต่างชาติระดับโลกสำคญ ๆ จากสหรัฐฯ ยุโรป อเมริกาใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน มีฐานการผลิตการค้าในประเทศเม็กซิโกเม็กซิโก

วิกฤตการณ์การเงินครั้งนี้ น่าจะส่งผลผลักดันให้รัฐบาลเม็กซิโกเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องค้นหาตลาดการส่งออกและนำเข้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ภาครัฐบาลของไทยและเม็กซิโก ควรเป็นฝ่ายนำภาคเอกชน ให้มีการกระจายตลาด ผลักดันให้ขยายปริมาณการค้าระหว่างไทยและเม็กซิโก และการส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน โดยนอกจากการส่งเสริมการค้าเพียงอย่างเดียว ควรแสวงหานักลงทุนเม็กซิกันไปลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการชี้แนะให้นักลงทุนไทยที่พอมีกำลังอาจพิจารณาเข้าซึ้อกิจกรรมของเม็กซิโก (merger & acquisition) เพื่อปูฐานการผลิตเพื่อเจาะเข้าตลาดได้ทั้ง ตลาดสหรัฐฯ 300 ล้าน ตลาดเม็กซิโก 109 ล้าน และตลาดละตินอเมริกาอีก 569 ล้านคน

ตลาดหลายขนาด กลุ่มผู้บริโภคสินค้าที่หลากหลาย

ประเทศเม็กซิโกมีประชากรจำนวน 109 ล้านคน มีรัฐและเมืองที่เป็นศูนย์กลางอุตสหากรรมหลายแห่ง และรายได้ของประชากร มีความแตกต่างกันมาก ขนาดมีเศรษฐีเงินพันล้านเหรียญฯ หลายคน ในขณะที่มีคนที่มีรายได้ไม่เพียงพอการยังชีพเป็นหลายสิบล้านคน การเจาะตลาดเม็กซิโกจึงควรคำนึงการหาตลาดเป้าหมายที่เหมาะสม โดยมีการวางแผนการตลาดที่แตกต่างกันสำหรับ
  • ตลาดใหญ่ประเภทบริษัทข้ามชาติ ซึ่งสามารถทำการค้ากับบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศและมีเครือข่ายที่ประเทศไทย เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย
  • ตลาดที่ต้องเข้าร่วมกับผู้ที่มีอำนาจผูกขาดหรือต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจตลาดสูง เช่น กลุ่มธุรกิจ Carso ของนาย Carlos Slim
  • ตลาดชนชั้นกลาง ทั้งที่มีรายได้สูงกลุ่มหนึ่ง กับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่สามารถวางขายสินค้าได้ตามห้างสรรพสินค้า กับร้านค้าบูติก
  • และ ตลาดผู้มีรายได้น้อยแต่ขายได้ปริมาณมาก ที่มีเครือข่ายการวางตลาดในหมู่ธุรกิจขนาดย่อย ซึ่งมีโครงการสนันสนุนของรัฐบาลรองรับที่เรียกว่า PyMEs


การท่องเที่ยวเม็กซิโก ตลาดที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับผู้นำตลาดการท่องเที่ยวกลุ่มละตินอเมริกา นั่นคือ ประเทศสเปน

ภาคการท่องเที่ยวของเม็กซิโก เป็นภาคที่นำเข้ารายได้ต่างประเทศเป็นอันดับสามของประเทศรองจากน้ำมันและเงินส่งกลับจากต่างประเทศ และเป็นภาคการผลิตที่มีส่วนแบ่งเป็นร้อยละ 8 ของผลผลิตรวมประชาชาติ จำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีประมาณ 20 ล้านคน โดยมีอัตราขยายตัวประมาณปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันดับ 10 ของโลก

รัฐบาลของเม็กซิโกได้เริ่มแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ เมื่อปี 1973 โดยการแต่งตั้งกองทุน FONATUR (www.fonatur.gob.mx) ซึ่งดำเนินกิจการในลักษณะรัฐวิสาหกิจ ที่ได้มีบทบาทในการพัฒนาเขตท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเม็กซิโก เช่น ฝั่งชายทะเล Cancún, Los Cabos, Ixtapa, Loreto และอ่าว Huatulco ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงกับ FONATUR โดยองค์กรดังกล่าวสามารถจัดหาแหล่งลงทุนให้กับนักลงทุนในต้นทุนต่ำที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลเม็กซิโก

นอกจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภาคการท่องเที่ยวเม็กซิโกได้แก่ บริษัทการบินภายในประเทศสำคัญสองบริษัท คือ Mexicana และ Aeroméxico และบริษัทผู้ที่ครอบครองเครือข่ายโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโก อันได้แก่ Grupo Posadas ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนเม็กซิกันที่มีเครือโรงแรมที่มีชื่อว่า Fiesta Americana และกลุ่ม Sol Meliá ของประเทศสเปน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศสเปนเป็นผู้ลงทุนสำคัญในภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ เท่านั้น

ภาคการท่องเที่ยวของประเทศเม็กซิโก จึ่งเป็นภาคที่น่าสนใจสำหรับการขยายความร่วมมือ และการลงทุน เนื่องจากเป็นภาคที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ และหน่วยงานที่เป็นตัวกลางเอื้ออำนวยความสะดวกในการลงทุนดังกล่าวข้างต้น โดยมีศักยภาพเป็นสะพานเชื่อมไปยังตลาดการท่องเที่ยวของสเปนและกลุ่มละตินอเมริกาทั้งหมด

สินค้าไทยที่มีศักยภาพเจาะเข้าตลาดเม็กซิโกได้เพิ่มขึ้น

- ตลาดการส่งออกข้าวหอมมะลิ ไปยังประเทศเม็กซิโก ยังพอมีช่องทางขยายตัวได้อีกมาก ถึงแม้ว่าเม็กซิโกจะมีความสามารถในการผลิดข้าวได้เอง และนิยมการบริโภคข้าวแบบ American Long Grain ที่แข็งกว่าข้าวหอมมะลิ และลักษณะการปรุงแต่งอาหารเม็กซิกันจะเหมาะกับข้าว long grain มากกว่า แต่รสนิยมของชนชั้นกลาง ที่ได้เดินทางไปต่างประเทศเริ่มมีรสนิยมการบริโภคใหม่ ๆ เห็นได้จากการที่ร้านอาหาร ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และเปรู ได้รับความนิยมสูงในขณะนี้

อุปสรรคที่ต้องฝั่นฝ่าสำหรับตลาดข้าวไทย ได้แก่ มาตรฐานสุขลักษณะที่กำหนดให้มีการรมควันฆ่าแมลงและมอดถึง 2 ครั้ง อันเป็นผลทำให้ผู้นำเข้าข้าวสหรัฐฯได้เปรียบกว่า และผลกำไรเป็นของผู้นำเข้าสหรัฐฯ มากกว่าผู้นำเข้าเม็กซิโกโดยตรง ดังนั้น ผู้ส่งออกข้าวไทยมายังตลาดข้าวเม็กซิโก จึงควรได้รับการกระตุ้นให้เห็นศักยภาพของตลาดเม็กซิโกเป็นพิเศษ และควรได้รับการชี้แนะและความช่วยเหลือของกรมส่งเสริมการส่งออกในการแสวงหาผู้ที่สนใจตลาดข้าวเม็กซิโกอย่างใกล้ชิด

- การส่งออกผลิตภัณฒ์อาหาร รวมทั้งการบรรจุภัณฑ์ มีลู่ทางการขยายตลาดใหม่ โดยประเทศเม็กซิโกไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเปิดการค้าเสรี ได้ละเลยการลงทุนในภาคการเกษตร อุตสหากรรมการเกษตร การเพาะปลูกผักและผลไม้ ล้วนแต่ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง เป็นผลให้เกษตรกรรายเล็กค่อย ๆ หายตัวไป ภาคการเกษตรจึงเป็นภาคที่เหมาะกับการลงโดยพ่อค้านักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์การตลาดที่กว้างขวางที่ประสงค์จะหาตลาดใหม่

ในเขต Yucatán และ Chiapas ซึ่งเป็นภาคใต้ของประเทศเม็กซิโก มีลักษณะภูมิอากาศเหมือนประเทศไทย มีศักยภาพการผลิตผักและผลไม้ ได้ทั้งเพื่อส่งขายในตลาดภายในที่ค่อยข้างใหญ่ของเม็กซิโก และเพื่อการส่งออกไปยังตลาดสำคัญสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิทางภาษีตามเขตการค้าเสรี NAFTA และเพื่อเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศอเมริกากลางที่มีชายแดนเชื่อมโยงได้ทางถนน อันได้แก่ ประเทศกัวเตมาลา เอลซาวาดอร์ คอสต้าริกา ฮอนดูรัส นิคารากัว ปานามา และเบลิซ อีกทั้ง สามารถเป็นหัวหอกการเจาะเข้าตลาดอเมริกาใต้ ที่มีความสัมพันธ์ที่มีวัฒนธรรม รสนิยมใกล้ชิดกับของเม็กซิโก เนื่องจากใช้ภาษาเสปนร่วมกัน มีความตกลงการค้าร่วมกันหลายรูปแบบ

- ภาคสินค้าอื่น ๆ ที่ศักยภาพสำหรับการส่งออก หรือร่วมลงทุนระหว่างไทยและเม็กซิโก ได้แก่ ภาคการสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติ รวมทั้งการบริการอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ซ ภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไหล่และเครื่องยนต์ สำหรับรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดย่อม รวมทั้ง เครื่องจักรระดับกลาง เช่นเครื่องจักรการเกษตร เครื่องจักาสิ่งทอ เครื่องจักรอุตสาหกรรมพลาสติก ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ มีผลทำให้ผู้ที่ไม่สามารถแข่งขันได้เริ่มขายโรงงาน จึงมีโอกาสการเข้าซื้อกิจกรรมที่ดำเนินงานมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นวิธีลัดในการเข้าหาลูกค้า ซึ่งธุรกิจเดิมมีอยู่แล้ว การลงทุนไม่ต้องเริ่มต้นจากการก่อสร้างโรงงานใหม่

- กิจการขนาดกลางและย่อม รวมทั้งแฟรนไชส์ เป็นตลาดที่น่าใจโดยในขั้นแรก น่าจะมีตัวแทนไทยมาร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในเม็กซิโก เช่น งานแสดงเครื่องเขียน (stationary) เครื่องเรือน และงานแสดงสินค้าของขวัญ

ปัญหาอุปสรรคต่อการเจาะตลาด

ในระดับความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ยังขาดความสัมพันธ์อันความใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับเม็กซิโก ยกตัวอย่างเช่น การขาดความตกลงการเก็บภาษีซ้อน การไม่มีการเปิดช่องทางการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับเม็กซิโก ไม่มีหอการค้าทวิภาคี ผู้แทนการค้าไทยมองข้างการเดินทางมาประเทศเม็กซิโกทั้ง ๆ ที่เป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับและสำคัญสำหรับสหรัฐฯ

ในระดับธุระกิจ ปัญหาหลัก คืออุปสรรคด้านภาษา เนื่องจากประเทศเม็กซิโกใช้ภาษาเสปนิซเป็นหลัก การกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยมีความสนใจระดมหาบุคคลากรที่ความถนัดด้านภาษาเสปนนิซ จะเป็นการวางรากฐานการเข้าถึงตลาดใหญ่ที่นับวันจะเพิ่มความสำคัญในอนาคต แม้กระทั่งประเทศจีนเอง ก็เข้ามาหาช่องทางธุรกิจในประเทศเม็กซิโกและกลุ่มละตินอมเริกา นักธุรกิจไทยจึงอาจเกาะหลังธุรกิจจีนเข้าตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงนี้ได้

อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณา ได้แก่ กฏระเบียบที่สลับซับซ้อนและหลายหลายที่ต้องสร้างความคุ้นเคยใหม่ สร้างความจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเม็กซิกัน หรือต้องจ้างบริษัทเม็กซิกันเป็นตัวกลางการค้าการลงทุน ในทั้งในระดับธุรกิจไหญ่ เพื่อให้มีผลทางการเมือง และในระดับธุรกิจขนาดกลางและย่อมเพื่อเข้าตลาดได้อย่างกว้างขวาง

Monday, July 6, 2009

LNG investments

โครงลงทุนเกี่ยวกับแก๊ซธรรมชาติ

องค์กรการไฟฟ้าของเม็กซิโก (Federal ElectricityCommission, CFE) ได้เซ็นต์สัญญาซื้อแก๊ซเหลว (liquefied natural gas, LNG) จากบริษัท Repsol ของประเทศเสปน เมื่อปี 2007 ซึ่งจะนำเข้าแก๊ซธรรมชาติที่ผลิตจากบ่อ Camisea ประเทศเปรู และในปี 2008 ได้มีการเปิดประมูลเพื่อการสร้างท่านำเข้า LNG ในฝั่งชายมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อป้อนแก๊ซให้กับโรงผลิตไฟฟ้าที่เมือง Manzanillo รัฐ Guadalajara โดยบริษัทผู้ได้รับสัญญาก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท Korea Gas, Samsung, และ Mitsui ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการแปรสภาพ LNG กลับเป็นแก๊ซ โดยคาดว่าท่าเรือดังกล่าวสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2011

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 บริษัท TransCanada Corp ได้รับสัญญาโครงการก่อสร้างท่อลำเลียงแก๊ซจากท่าเรือไปยังเมืองกัวการาฮารา มูลค่าการลงทุน 294.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมกับสัญญาการซื้อส่งแก๊ซผ่านท่อดังกล่าวระยะ 25 ปี

CFE มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงงานใฟฟ้าใหม่ที่เมือง Guadalajara ในปี 2015 ทั้งนี้เพราะ CFE ต้องการเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นแก๊ซธรรมชาติเพื่อตอบสนองกับข้อผูกมัดในการลดมลภาวะของรัฐบาล CFE จะเปิดการประมูลในขั้นต่อไปเพื่อการเปลี่ยนเครื่องปั่นไฟฟ้าจากน้ำมันเป็นแก๊ซ ซึ่งคาดว่าจะมีช่วงการประมูลในปี 2011, 2012, 2013, 2017 และ 2018

บริษัท TransCanada Corp ได้เริ่มลงทุนในประเทศเม็กซิโกครั้งแรกเมือปี 1990 โดยได้ลงทุนสร้างท่อส่งแก๊ซสาย Mayakan ซึ่งเชื่อมเมืองCampeche กับรัฐ Yucatan เป็นท่อส่งแก๊ซเอกชนสายแรกในเม็กซิโก และต่อมาได้สร้างท่อสงแก๊ซสาย El Bajío ในส่วนกลางของเม็กซิโก และท่อส่ง Tamazunchale จาก Narnjos, Veracruz ถึง San Luis Potosí รวมแล้วระยะส่งแก๊ซทั้งหมดที่ TransCanada บริหารควบคุมท่ากับ 440 กิโลเมตร ทำให้เป็นบริษัทสำคัญในการขนส่งแก๊ซในเม็กซิโก

Saturday, July 4, 2009

Energy consumption in Mexico

สัดส่วนการใช้พลังงานภายในประเทศเม็กซิโก

ในปี 2006 การบริโภคพลังงานของเม็กซิโกแบ่งสัดส่วนได้ตามภาพดังนี้


แหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของเม็กซิโกได้แก่ นำ้มัน ซึ่งมีส่วนแบ่งของแหล่งพลังงานเท่ากับร้อยละ 55 ในปี 2007 การบริโภคน้ำมันเท่ากับ 2.1 พันล้านบาเรลต่อวัน แหล่งพลังงานรองลงมาได้แก่ แก๊ซธรรมชาติซึ่งในปีเดียงกันได้มีปริิมาณการบริโภคเท่ากับ 2.2 พันล้านคูบิกฟุต โดยการบริโภคแก๊๊ซได้เพิ่มขึ้นในช่วงปีหลัง ๆ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้หันไปใช้แก๊ซเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ประเทศเม็กซิโกไม่สามารถผลิตแก๊ซธรรมชาติได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยในปี 2007 ได้นำเข้าแก๊ซธรรมชาติปริมาณ 308 พันล้านคูบิกฟุต

แหล่งพลังงานอันดับสามของเม็กซิโกได้แก่ ถ่านหินซึ่งมีปริมาณการบริโภคเท่ากับ 19.8 ล้านตัน ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน รัฐบาลของนายเคลเดรอนได้เริ่มให้ความสนใจส่งเสริมการลงทุนในภาคพลังงานทดแทนได้ อันได้แก่พลังงานจากลม และพลัังงานจากแสงอาทิตย์

ที่มาของข้อมูล: http://tonto.eia.doe.gov/country/country_energy_data.cfm?fips=MX