Google Website Translator

Wednesday, November 23, 2011

Mexican Textile Industry recovers

อุตสาหกรรมสิ่งทอเม็กซิโกฟื้นตัวและเริ่มมีความแข่งขันเทียบเท่ากับจีน 

นายกสมาคมสิ่งทอแห่งเม็กซิโก (CANAINTEX) นาย Rodolfo García Muriel ได้รายงานว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกในปี 2010 ได้แสดงตัวเลขการฟื้นตัวที่ดี โดยผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.6 เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเลขการขยายตัวที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจของเม็กซิโกโดยทั่วไป ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 สำหรับปี 2010 นอกจากนี้แล้ว การส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 และ 5 ตามลำดับเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกของปี 2009 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 996 ล้านเหรียญสหรัฐ รายการสินค้าส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ กางเกงยีนส์ สูทสำเร็จรูปผ้าวูลล์ ถุงเท้า และเสื้อยืด แหล่งส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา โคลัมเบีย และจีน 

ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของภาคสิ่งทอเม็กซิโก มีผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสองประการ ประการแรกคือการกระจายแหล่งส่งออก ในปัจจุบันเม็กซิโกมีแหล่งส่งออกสินค้าสิ่งทอกว่า 60 ประเทศ โดยได้มีการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ การส่งออกไปยังภูมิภาคละตินอเมริกามีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30.2 ภูมิภาคยุโรปสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4 และภูมิภาคเอเชียสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกสิ่งทอของเม็กซิโก ในสัดส่วนร้อยละ 66 

ปัจจัยอีกประการหนึ่ง ได้แก่ แผนการรณรงค์ภาคสิ่งทอเม็กซิกันที่มีชื่อว่า Mexico Fits ที่ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2009 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องคุณภาพของสินค้าสิ่งทอเม็กซิกัน และความพร้อมในการผลิตตามคำสั่งการออกแบบที่นำสมัย 

ภาคอุตสาหกรรามสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเม็กซิโก โดยการจ้างงานในภาคดังกล่าว มีแรงงานประมาณ 500,000 คน หรือร้อยละ 13 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งส่วนสี่ของแรงงานดังกล่าวจะทำงานในภาคสิ่งทอ อีกสามส่วนสี่ทำงานในส่วนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเม็กซิโก ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีและในทางไม่ดีหลายประการ ในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดตลาดเสรีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีนาฟต้าในปี 1994 ได้เกิดการผลิตแบบมาคีลาดอร่า นั่นคือ การใช้สิทธิประโยชน์ที่อนุมัติภายใต้โครงการดังกล่าวเพื่อนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ทำการผลิตแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกกลับคืนไปยังสหรัฐฯ การส่งออกเสื้อผ้าประเภทผ้าฝ้ายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออก 3 พันล้านเหรียญในปี 1995 เป็นมูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญในปี 2002 โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 9.4 พันล้านเหรียญในปี 2000 ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถส่งออกวัตถุดิบเส้นด้ายจากฝ้ายไปยังเม็กซิโกเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญในปี 1995 เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านเหรียญในปี 2002 ในปีต่อ ๆ มา เม็กซิโกได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอันดับหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ แต่กลับมาเสียเปรียบให้กับประเทศจีนอย่างรวดเร็ว เมื่อจีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกในปี 2002 ในปี 2007 ประเทศจีนสามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐฯ ได้เป็นร้อยละ 36 ของตลาดนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ทั้งหมด ในขณะที่เม็กซิโกสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 7 ทำให้เม็กซิโกตกมาเป็นแหล่งนำเข้าสำหรับสินค้าสิ่งทออันดับ 4 ของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2008 และ 2009 ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ อย่างแรงมากกว่าภาคการผลิตอื่นๆ การส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลงจาก 5.6 พันล้านเหรียญในปี 2008 เป็น 4.2 พันล้านเหรียญในปี 2009 อันเป็นผลให้มีการปิดโรงงานไปหลายร้อยแห่ง และได้มีไล่คนงานออกเป็นหลายหมื่นคน 

ปี 2010 เป็นปีที่ได้เริ่มเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ และปรับปรุงโรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ มูลค่าการลงทุนใหม่ประมาณ 2 พันล้านเหรียญฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ดำเนินมาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แสดงผลในการขยายตัวร้อยละ 7.6 ของภาคอุตสาหกรรมฯ ในปีนี้ ตามที่นายกสมาคมสิ่งทอเม็กซิกันอ้างถึงข้างต้น นอกจากนี้แล้ว ได้มีการคาดคะเนเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกจะขยายตัวต่อไปอีกในอัตราร้อยละ 6 สำหรับปี 2011 


ตลาดสำหรับเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศของเม็กซิโก 

ถึงแม้ว่าตลาดภายในประเทศของเม็กซิโกจะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการหดตัวของการส่งเงินกลับจากคนงานเม็กซิกันในสหรัฐฯ ตลาดภายในของเม็กซิโกยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคละตินอเมริกา โดยเม็กซิโกมีประชากรมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคฯ การขยายตัวของร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 41 จากปี 1998 ถึง 2008

ตลาดเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกมีลักษณะของตลาดที่มีการแบ่งแยกสูง โดยบริษัทวิจัยตลาด Trendex Mexico ได้รายงานว่า มีบริษัทใหญ่คุมตลาดเครื่องนุ่งห่มในสัดส่วนร้อยละ 38.6 เพียง 11 บริษัท ซึ่งรวมถึง Suburbia (ร้อยละ 8.9) Liverpool/Fabricas (ร้อยละ 7.5) Bodega Aurrera (ร้อยละ 3.5) Coppel (ร้อยละ 3.5) Walmart de Mexico (ร้อยละ 3.4) และ Zara (ร้อยละ 2.4) ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart ได้เปิดร้านใหม่ถึง 174 แห่งในปี 2009 นอกจากนี้แล้ว กลุ่มธุรกิจด้านเครื่องนุ่งห่ม Cherokee, Gap และ Inditex (Zara) ได้เปิดร้านค้าใหม่ๆ เช่นกัน


โครงการ Mexico Fits


สมาคมสิ่งทอเม็กซิโกร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและกลุ่มบริษัทสิ่งทอเม็กซิกันจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการ Mexico Fits เมื่อปี 2008 เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมด้านสิ่งทอของเม็กซิโก นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้า เช่น Suburbia, Comercial Mexicana, Soriana และ Liverpool มุ่งเน้นการขายยี่ห้อเม็กซิกัน เช่น ยี่ห้อ Kaltex, Yale และ Cannon ให้เท่าเทียมกับสินค้าอเมริกันที่เป็นสินค้าที่ห้างเหล่านี้นิยมส่งเสริม การนำดีไซน์เนอร์เม็กซิกันไปร่วมประกวดการออกแบบในงานแสดงสินค้าที่สหรัฐฯ การพาสมาชิกสมาคมสิ่งทอเดินทางไปพบกับผู้นำเข้าและตัวแทนธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ การส่งเสริมการวิจัยและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการออกแบบสินค้าสิ่งทอใหม่ๆ เช่น การผลิตผ้าป้องกันไฟสำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม การออกแบบผ้าที่ทำการฆ่าเชื้อโรงไปในตัวสำหรับใช้ในภาคสุขอานามัย เป็นต้น


แนวโน้มการบริโภคที่เน้นเฟชั่นมากขึ้น 

ผลวิจัยตลาดของ Euromonitor ได้รายงานว่า ผู้บริโภคเครื่องนุ่งห่มเม็กซิกันได้พัฒนารสนิยม มีความตื่นตัวในด้านแฟชั่นมากขึ้น โดยการขายเครื่องประดับและเครื่องตกแต่งเสื้อผ้า เป็นภาคตลาดย่อยที่ได้ขยายตัวมากระหว่างปี 2007-2008 และคาดว่า การขายในภาคตลาดย่อยดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 560 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2013 ภาคตลาดย่อยอีกภาคหนึ่งที่ได้มีการขยายตัวสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้ากีฬา เนื่องจากค่านิยมการเป็นสมาชิกศูนย์ออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น และการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ ส่วนภาคตลาดย่อยที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงในปีนี้ และปีต่อไป ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าชั้นในและชุดนอน 

ชาวเม็กซิกันมีค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าประมาณ 195 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี โดยมีความนิยมในการซื้อเสื้อผ้าจากตลาดทั่วไป (street markets) ร้อยละ 33 ในห้างสรรพสินค้าประมาณร้อยละ 25 ซื้อจากร้านบูติ๊ก ร้อยละ 21 และในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 16 ปัญหาใหญ่สำรหรับการจำหน่ายปลีกสำหรับสินค้าเสื้อผ้า ได้แก่ การแข่งขันด้านราคากับเสื้อผ้าราคาถูกที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งการครองตลาดประมาณร้อยละ 56 ของยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด


การสอบสวนการทุ่มตลาดผ้าเดนิมจากประเทศจีน 

เมื่อปี 2009 ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแห่งเม็กซิโก (CANAIVE) ได้ทำการประท้วงในนามของสหภาพผู้ผลิตผ้าเดนิม (ยีนส์) กับกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก เรียกร้องการสอบสวนการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าประเภทเดนิมจากประเทศจีน โดยได้อ้างว่า ราคาผ้าเดนิม 27 สตางค์ต่อตารางเมตรที่ผู้นำเข้าจากจีนเสนอขาย เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงควรถือเป็นการทุ่มตลาด และควรเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนในราคาต่ำเกินทุนดังกล่าว ได้มีผลทำให้โรงงานผลิตเส้นด้ายฝ้ายในเม็กซิโกต้องปิดไปหลายโรงงาน การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า (ร้อยละ 236) ระหว่างปี 2007-2010 และในปัจจุบันได้มีการนำเข้าผ้าเดนิมจากจีน เทียบเท่ากับร้อยละ 26 ของผลผลิตภายใน 

ภายหลังการสอบสวนและรอให้ผู้ประท้วงแสดงหลักฐานของการทุ่มตลาดอย่างแน่ชัด มาเป็นเวลาสองปี กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ประกาศผลสรุปการสอบสวนฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2011 แจ้งผลว่า เนื่องจากการขาดหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าง จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าเดนิมจากประเทศจีน และคงการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสิ่งทอหมวดนี้เท่าเดิม ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้า


รายชื่อบริษัทสิ่งทอที่เป็นสมาชิก CANAINTEX: 
1. AMERICAN TEXTIL, S. A. DE C. V.
2. TEXTILES ROMATEX, S. A. DE C. V.
3. FARIEL, S. A. DE C. V.
4. TELAS Y TINTES DE MEXICO, S. A. DE C. V.
5. GRUPO MILLTEX, S. A. DE C. V.
6. ANAHUAC SOUTH CAROLINA ELASTIC, S. A. DE C. V.
7. ETIC ART, S. A. DE C. V.
8. ACABADOS LEORLEN S. A. DE C. V.
9. KALTEX, S. A. DE C. V.
10. TEJIDOS TEXTILES ESPECIALIZADOS, S. A. DE C. V.
11. GRUPO DIFOSA, S. A. DE C. V.
12. ERATEX, S. A. DE C. V.
13. TEXTURIZADOS Y TEJIDOS WINDSOR, S. A. DE C. V.



แหล่งข่าวอ้างอิง:

Wednesday, November 16, 2011

Apiculture: Honey exports from Mexico

การเลี้ยงผึ้งและการส่งออกน้ำผึ้งในเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกมีความได้เปรียบในการผลิตน้ำผึ้งคุณภาพสูง เนื่องจากมีพันธุ์พืชที่ให้น้ำหวานเลี้ยงผึ้งหลากหลายชนิดถึง 40 กว่าประเภท นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงผึ้งเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยุคอารยธรรมมายา และต่อมาได้รับการปรับปรุงพันธุ์ผึ้ง เมื่อชาวสเปนได้นำผึ้งจากยุโรปมาเสริมการผลิตน้ำผึ้งเป็นกิจกรรมด้านเกษตรอย่างจริงจัง

การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโกได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังโดยกระทรวงการเกษตรของเม็กซิโก ตั้งแต่ปี คศ. 1986 เป็นต้นมา โดยในช่วงการส่งเสริมเริ่มแรก ผู้เลี้ยงผึ้งเม็กซิกันสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 75,000 ตัน ในปัจจุบันเม็กซิโกมีความสามรถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 50,000 ตันต่อปี เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก ยูเครน รัสเซีย สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา และส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก เทียบได้ประมาณร้อยละ 6 ของปริมาณน้ำผึ้งส่งออกระหว่างประเทศ ในปี 2010 เม็กซิโกมีการส่งออกน้ำผึ้งมูลค่า 84.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเภทหนึ่งของเม็กซิโก ผู้นำเข้าน้ำผึ้งจากเม็กซิโกที่สำคัญที่สุด คือประเทศเยอรมัน ในปี 2010 เม็กซิโกได้ส่งออกน้ำผึ้งไปยังเยอรมันมูลค่า 45.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 54 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งรวมของเม็กซิโก มีการคาดคะเนว่า การส่งออกน้ำผึ้นของเม็กซิโกในปี 2011 จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3-5



การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโก นับว่าเป็นกิจกรรมด้านการเกษตรที่สำคัญ เนื่องจากมีการจ้างงานและเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านผู้มีรายได้ต่ำประมาณ 40,000 คน พื้นที่การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโกที่สำคัญอยู่ที่รัฐ Tamaulipas, Campeche, Yucatan, Jalisco, Chiapas, Veracruz, Oaxaca, Guerrero, Puebla, Quintana Roo และ Michoacan แหล่งผลิตน้ำผึ้งเพื่อการส่งออกที่สำคัญอยู่ที่รัฐยูคาตัน เนื่องจากมีองค์กรสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งที่เข้มแข็ง (Sociedad Apícola Maya) ที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่เยอรมันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา และในปี 2009 องค์กรดังกล่าวได้สร้างโรงงานบรรจุน้ำผึ้งใส่ขวดที่ทันสมัย มูลค่าการลงทุน 16 ล้านเปโซ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานโดยกระทรวงเกษตรของเม็กซิโก และได้รับการยอมรับด้านคุณภาพจากสหภาพยุโรป

ค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำผึ้งต่อหัวของชาวเม็กซิกันในปัจจุบัน ได้เพิ่มขึ้นจาก 190 กรัมต่อหัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็น 320 กรัมต่อหัวในปี 2010 เนื่องจากได้มีการนำน้ำผึ้งมาใช้เป็นสารเติมความหวานในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น ซีเรียล โยเกิต ขนมปัง ของหวาน รวมทั้งในสินค้าเครื่องสำอางค์

Monday, November 14, 2011

Phytosanitary measures for rice imports in Central America

ผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศประท้วงกฎระเบียบด้านสุขอนามัยอาหาร สำหรับการนำเข้าข้าวของคอสตาริกา

ภูมิหลังการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยกีดกันการนำเข้าข้าวในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน ซึ่งนับวันจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียนมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลกในอนาคต องค์กรอาหารโลกได้คาดคะเนผลผลิตข้าวของภูมิภาคดังกล่าวสำหรับปี 2011 ปริมาณ 29.2 ล้านตัน ผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของภูมิภาคฯได้แก่ ประเทศบราซิล ซึ่งจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 13.5 ล้านตัน สำหรับปี 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน เปรูผลิตได้ 2.7 ล้านตัน โคลัมเบีย 1.9 ล้านตัน อาร์เจนตินา 1.5 ล้านตัน อุรุกวัย 1.5 ล้านตัน เวเนซุเอลา 900,000 ตัน เอควาดอร์ 1.4 ล้านตัน กวายานา 584,000 และโบลิเวีย 450,000 ตัน โดยกลุ่มประเทศอเมริกากลางและแคริเบียนมีผลิตรวมประมาณ 2.86 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตข้าวในเม็กซิโกสำหรับปี 2011 จะลดลงเป็นปริมาณเพียง 250,000 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและการลงทุนในการผลิตข้าวที่ลดลง

การค้าข้าวระหว่างประเทศโดยรวมในตลาดโลก มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 7 ของผลผลิตข้าวทั่วโลก หรือประมาณ 31 ล้านตัน ในปริมาณดังกล่าวภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียนจะนำเข้าข้าวประมาณ 3.4 ล้านตันต่อปี โดยกลุ่มประเทศอเมริกากลางกับแคริเบียนเป็นผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ โดยนำเข้าประมาณ 2.1 ล้านตัน ส่วนผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญสำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ได้แก่ อุรุกวัยและบราซิล ที่มีการส่งออกประมาณ 900,000 และ 600,000 ตัน ตามลำดับ

ภูมิภาคละตินอเมริกาโดยรวมได้นำมาตรฐานด้านสุขอนามัย มาใช้เพื่อป้องกันผู้ผลิตข้าวภายในของแต่ละประเทศ ตามข้อกำหนดทที่องค์การค้าโลกอนุมัติ แต่บางประเทศมีการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยเกินความจำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น เปรู โคลัมเบีย เอควาดอร์ คอสตาริกา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ ปานามา สาธารณรัฐดอมินิกัน และเม็กซิโก


อาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ประท้วงกฏระเบียนด้านสุขอนามัยสำหรับการนำเข้าข้าวในคอสตาริกา

การกำหนดราคาข้าวภายในประเทศของคอสตาริกา และการเพิ่มข้อบังคับเกี่ยวกับการเสริมวิตามินในข้าว โดยได้กำหนดเพิ่มเติมว่าให้ทำการเสริมวิตามินในแหล่งผลิตข้าว และไม่อนุมัติให้ทำการเสริมวิตามินโดยผู้นำเข้าภายหลังการนำเข้ามาแล้ว ได้รับการประท้วงจากผู้นำเข้า ผู้ส่งออกต่างประเทศ และกลุ่มผู้บริโภค โดยเมื่อต้นปี 2011 ได้มีการกักกันข้าวปริมาณ 525 ตันที่ท่าเรือลิมอน ที่มีต้นกำเนิดจากอาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย อันเป็นผลให้เอกอัคราชทูตอาร์เจนตินาประจำคอสตาริกาได้ยื่นหนังสือประท้วงกับรัฐบาลคอสตาริกาแจ้งว่า การได้ใช้มาตรการด้านสุขอนามัยของคอสตาริกา ได้มีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นระบบตามอารมย์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศตามที่องค์การค้าโลกกำหนด ทั้งนี้ กระทรวงการค้าคอสตาริการได้ตอบรับทราบข้อประท้วงดังกล่าว และได้แจ้งกลับว่า การกำหนดการเติมวิตามินใส่ข้าว เป็นมาตรการที่ถูกต้องตามข้อกำหนดการค้าด้านสุขภาพ

ผู้นำเข้าข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติดังกล่าว ได้แจ้งผู้สื่อข่าวว่า มาตรการกำหนดการเติมวิตามินในข้าว ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2002 แต่ไม่เคยได้รับการปฎิบัติจนกระทั่งเมื่อต้นปี 2011 หลังจากที่ตัวแทนผู้ผลิตข้าวคอสตาริกาได้เข้าพบกับและกดดันให้รัฐบาลรับซื้อข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ผู้ผลิตมีปัญหาในการส่งมอบและจัดเก็บข้าว ผู้ผลิตข้าวคอสตาริกาได้เพิ่มพื้นที่การผลิตในปี 2011 เป็น 81,000 เฮคเตอร์จาก 66,400 เฮคเตอร์ในปี 2010 โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวปี 2011 จะมีปริมาณประมาณ 281,000 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากผลผลิตปี 2010 ที่มีปริมาณ 250,849 ล้านตัน

มาตรการการกำหนดราคาซื้อข้าวจากผู้ผลิตภายในที่สูง เป็นมาตรการที่ได้รับการตักเตือนโดยองค์การค้าโลก โดยจัดถือได้ว่าเป็นมาตรการการอุดหนุนซึ่งต้องห้าม ในปี 2010 รัฐบาลคอสตาริกาได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ผลิตข้าว มูลค่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นจำนวนที่เกินปริมาณที่องค์การค้าโลกได้กำหนดไว้ถึงเจ็ดเท่า ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงเจนีวา พร้อมกับสมาชิกองค์การค้าโลกอีก 70 ประเทศ ได้กล่าวประท้วงนโยบายของรัฐบาลคอสตาริกาดังกล่าวอย่างแรงในการประชุมกลุ่มเกษตรเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มการนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าจากประเทศเหล่านี้ได้ในอนาคต

ราคาข้าวภายในที่รัฐบาลคอสตาริการับซื้อจากผู้ผลิตข้าวภายในประเทศจากเดือนมกราคม 2011 เป็นต้นไป ได้กำหนดไว้ที่ 39.30 เหรียญต่อกระสอบละ 73.6 กิโล ซึ่งเป็นราคาที่ได้ลดลงจากราคาเดิม 41.89 เหรียญฯ ซึ่งมีผลให้ราคาข้าวที่ขายแก่ผู้บริโภคลดลง 8 สตางค์ต่อกิโกกรัม เป็นราคา 1.35 เหรียญต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ผู้ผลิตข้าวคอสตาริกัน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตข้าวเป็นข้อตอบแทน ในฝ่ายตรงข้ามกลุ่มสนับสนุนผู้บริโภคในคอสตาริกา ได้รณรงค์ประท้วงการกำหนดราคาข้าวที่สูงกว่าราคาข้าวระหว่างประเทศ โดยได้แจ้งในรายงานเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้บริโภคข้าวในคอสตาริกามีค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อข้าวต่อปีมูลค่าประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และหากราคาข้าวภายในประเทศถูกกำหนดให้เท่ากับระดับราคาโลก ผู้บริโภคจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวได้ถึงปีละ 282 เหรียญ หรือร้อยละ 10 ของรายได้เฉลี่ย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.centralamericadata.com/en/article/main/Rice_Problem_In_Costa_Rica_Becomes_International_Problem?u=465f3b3f5
http://www.ias.ac.in/currsci/feb102008/303.pdf
http://www.fao.org/DOCREP/006/Y4751E/y4751e0t.htm#TopOfPage
http://www.fao.org/docrep/014/am491e/am491e00.pdf