Google Website Translator

Thursday, December 29, 2011

Mexican beans import quota extended to 2012

เม็กซิโกขยายระยะเวลาโควต้าการนำเข้าถั่วแห้งแสนตันถึงปี 2012

ถั่วแห้ง (dry beans) เป็นอาหารหลักสำคัญของชาวเม็กซิกัน และเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตถั่วแห้งที่สำคัญของโลก ประมาณ 1.39 ล้านตันในปี 2008 ซึ่งเป็นผลผลิตที่ใกล้เคียงกับการผลิตถั่วแห้งของสหรัฐฯ เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตถั่วแห้งอันดับ 5 รองจากบราซิล อินเดีย จีน และพม่า ถั่วที่เม็กซิโกผลิตมีชื่อทางวิทยาศาสาตร์คือ Phaseolus vulgaris หรือชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า pinto beans หรือ frijol เป็นถั่วสีน้ำตาลอ่อนมีจุด เนื้อแข็ง ต้องแช่น้ำค้างคืนก่อนนำไปต้มในหม้อความดัน ถึงแม้ว่าการผลิตถั่วพินโต ของเม็กซิโกจะมีความสำคัญในระดับโลก แต่เมื่อเทียบกับการผลิตพืชเกษตรโดยรวมของเม็กซิโกแล้ว มีผลผลิตเทียบได้เพียงร้อยละ 3 ของผลผลิตพืชเศรษฐกิจของเม็กซิโก

การผลิตถั่วแห้งในเม็กซิโกจะอยู่นิยมปลูกในเขตพื้นที่ 3 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง-เหนือ ซึ่งมีผลผลิตประมาณร้อยละ 52 ของผลผลิตรวม บริเวณรัฐ Zacatecas, Durango, Chihuahua, San Luis Potosi และ Guanajuato ภาคเหนือ-แปซิฟิก เช่น บริเวณรัฐ Sinaloa และ Nayarit และภาคใต้ที่รัฐChiapas

ผลผลิตพืชเศรษฐกิจของเม็กซิโกมักจะมีปัญหาอุปสรรคผลกระทบจากสภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการขาดน้ำ รัฐบาลของเม็กซิโกจึงอนุมัติโควต้าการนำเข้าถั่วแห้งเป็นการชั่วคราว ประมาณปีละหนึ่งแสนตัน เพื่อป้องกันการขาดแคลนถั่วในตลาดอาหารและการรักษาระดับราคาถั่วภายในประเทศ โดยกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโกได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2011 ให้ยืดระยะเวลาการอนุมัติโควต้าการนำเข้าถั่วหนึ่งแสนตันไปถึงปี 2012 ทั้งนี้ การนำเข้าถั่วจากต่างประเทศต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอาหารของกระทรวงเกษตรเม็กซิโก (SAGARPA) และร้อยละ 90 ของปริมาณโควต้าการนำเข้าถั่วต้องทำผ่านผู้นำเข้าที่ประวัติการนำเข้าถั่วผ่านโควต้ามาแต่ก่อน ส่วนผู้นำเข้ารายใหม่สามารถขอนำเข้าในสัดส่วนร้อยละ 10 ของโควต้า


ราคาของถั่วพินโตนำเข้าในตลาดกลางที่โตลูก้า มีราคา 22 เปโซต่อกิโล ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2011

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Wednesday, December 28, 2011

Mexican minimum wage adjusted

เม็กซิโกปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ

กระทรวงแรงงงานเม็กซิโกได้ประกาศการปรับแรงงานขั้นต่ำของเม็กซิโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เป็น 62.33 เปโซ หรือประมาณ 4.60 เหรียญสหรัฐต่อวัน สำหรับพื้นที่ในโซนเอซึ่งเป็นพื้นที่รอบกรุงเม็กซิโกซิตี้ และ 60.57 เปโซ หรือประมาณ 4.45 เหรียญฯ ต่อวัน สำหรับโซนบี ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเมืองสำคัญรองลงมา เช่น กัวดาลาฮารา และมอนเตอเรย์เป็นต้น และ 59.08 เปโซ หรือ ประมาณ 4.34 เหรียญฯ ต่อวันสำหรับโซนซี ซึ่งเป็นพื้นที่ในรัฐที่มีรายได้ต่ำ เช่น อากวัสคาลิเอ็นเตย์ เชียปัส และฮัวนาวัตโตเป็นต้น ค่าแรงงานขั้นต่ำใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2012 คณะกรรมาธิการค่าแรงงานฯ ได้กล่าวว่า ค่าแรงใหม่ดังกล่าวได้ถูกปรับให้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อที่คาดไว้จะอยู่ในระดับร้อยละ 3-4 สำหรับปี 2012


ค่าแรงงานขั้นต่ำพื้นฐานของเม็กซิโกได้ถูกพิจารณากำหนดทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา โดยคณะกรรมาธิการค่าแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสามฝ่ายคือ ภาคเอกชน รัฐบาล และแรงงาน โดยส่วนใหญ่แล้วค่าแรงงานขั้นต่ำของเม็กซิโกได้ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญเม็กซิกันบ่งบอกเอาไว้ ทั้งนี้เพราะอำนาจซื้อของค่าแรงงานขึ้นต่ำได้สูญเสียมูลค่าไปถึงร้อยละ 80 ตั้งแต่การปรับค่าเงินเปโซช่วงปี 1980 ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบค่าแรงงานขั้นต่ำกับราคาของตอร์ติย่า ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเม็กซิกัน ที่มีราคา 13 เปโซต่อกิโล จะเห็นได้ว่าค่าแรงดังกล่าวเป็นค่าแรงที่ต่ำสำหรับการดำรงชีพพื้นฐาน

ค่าแรงงานขั้นต่ำในเม็กซิโก เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการเจรจาอัตราค่าจ้างโดยทั่วไป ตัวอย่างของค่าแรงงานตามอาชีพต่างๆ ได้แก่ ค่าจ้างของแรงงานในโรงงานระบบมาคิลาดอรา ซึ่งได้รับค่าจ้างประมาณ 5-7 เหรียญฯ ต่อวัน ช่างตัดผมจะได้รับประมาณ 5.64 เหรียญฯ ต่อวัน ช่างประปา 5.80 เหรียญฯ ต่อวัน แม่บ้านโรงแรม 5.25 เหรียญฯ ต่อวัน ยาม 5.36 เหรียญฯ ต่อวัน ช่างไฟฟ้า 5.91 เหรียญฯ ต่อวัน และบาร์เทนเดอร์ 5.49 เหรียญฯ ต่อวัน เป็นต้น

ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญของเม็กซิโกได้แก่ ความยากจนและการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2011 อัตราการว่างงานของเม็กซิโก มีอัตราส่วนโดยรวม ร้อยละ 6 ส่วนระดับความยากจนในเม็กซิโกนั้น มีผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 2,100 เปโซ หรือ 120 เหรียญฯ ต่อเดือนประมาณ 58 ล้านคน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Wednesday, November 23, 2011

Mexican Textile Industry recovers

อุตสาหกรรมสิ่งทอเม็กซิโกฟื้นตัวและเริ่มมีความแข่งขันเทียบเท่ากับจีน 

นายกสมาคมสิ่งทอแห่งเม็กซิโก (CANAINTEX) นาย Rodolfo García Muriel ได้รายงานว่า ภาวะอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกในปี 2010 ได้แสดงตัวเลขการฟื้นตัวที่ดี โดยผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.6 เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวเลขการขยายตัวที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจของเม็กซิโกโดยทั่วไป ที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 สำหรับปี 2010 นอกจากนี้แล้ว การส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 และ 5 ตามลำดับเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกของปี 2009 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 996 ล้านเหรียญสหรัฐ รายการสินค้าส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ กางเกงยีนส์ สูทสำเร็จรูปผ้าวูลล์ ถุงเท้า และเสื้อยืด แหล่งส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา โคลัมเบีย และจีน 

ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของภาคสิ่งทอเม็กซิโก มีผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยสองประการ ประการแรกคือการกระจายแหล่งส่งออก ในปัจจุบันเม็กซิโกมีแหล่งส่งออกสินค้าสิ่งทอกว่า 60 ประเทศ โดยได้มีการขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ การส่งออกไปยังภูมิภาคละตินอเมริกามีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30.2 ภูมิภาคยุโรปสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4 และภูมิภาคเอเชียสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.8 ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกสิ่งทอของเม็กซิโก ในสัดส่วนร้อยละ 66 

ปัจจัยอีกประการหนึ่ง ได้แก่ แผนการรณรงค์ภาคสิ่งทอเม็กซิกันที่มีชื่อว่า Mexico Fits ที่ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2009 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องคุณภาพของสินค้าสิ่งทอเม็กซิกัน และความพร้อมในการผลิตตามคำสั่งการออกแบบที่นำสมัย 

ภาคอุตสาหกรรามสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเม็กซิโก โดยการจ้างงานในภาคดังกล่าว มีแรงงานประมาณ 500,000 คน หรือร้อยละ 13 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต หนึ่งส่วนสี่ของแรงงานดังกล่าวจะทำงานในภาคสิ่งทอ อีกสามส่วนสี่ทำงานในส่วนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม 

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเม็กซิโก ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางที่ดีและในทางไม่ดีหลายประการ ในรอบ 10-15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเปิดตลาดเสรีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีนาฟต้าในปี 1994 ได้เกิดการผลิตแบบมาคีลาดอร่า นั่นคือ การใช้สิทธิประโยชน์ที่อนุมัติภายใต้โครงการดังกล่าวเพื่อนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ทำการผลิตแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกกลับคืนไปยังสหรัฐฯ การส่งออกเสื้อผ้าประเภทผ้าฝ้ายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าส่งออก 3 พันล้านเหรียญในปี 1995 เป็นมูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญในปี 2002 โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 9.4 พันล้านเหรียญในปี 2000 ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถส่งออกวัตถุดิบเส้นด้ายจากฝ้ายไปยังเม็กซิโกเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญในปี 1995 เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านเหรียญในปี 2002 ในปีต่อ ๆ มา เม็กซิโกได้กลายเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอันดับหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ แต่กลับมาเสียเปรียบให้กับประเทศจีนอย่างรวดเร็ว เมื่อจีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกในปี 2002 ในปี 2007 ประเทศจีนสามารถส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐฯ ได้เป็นร้อยละ 36 ของตลาดนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ ทั้งหมด ในขณะที่เม็กซิโกสามารถส่งออกได้เพียงร้อยละ 7 ทำให้เม็กซิโกตกมาเป็นแหล่งนำเข้าสำหรับสินค้าสิ่งทออันดับ 4 ของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2008 และ 2009 ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอของเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินของสหรัฐฯ อย่างแรงมากกว่าภาคการผลิตอื่นๆ การส่งออกสิ่งทอไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลงจาก 5.6 พันล้านเหรียญในปี 2008 เป็น 4.2 พันล้านเหรียญในปี 2009 อันเป็นผลให้มีการปิดโรงงานไปหลายร้อยแห่ง และได้มีไล่คนงานออกเป็นหลายหมื่นคน 

ปี 2010 เป็นปีที่ได้เริ่มเห็นผลประโยชน์จากการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ และปรับปรุงโรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ มูลค่าการลงทุนใหม่ประมาณ 2 พันล้านเหรียญฯ ที่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ดำเนินมาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แสดงผลในการขยายตัวร้อยละ 7.6 ของภาคอุตสาหกรรมฯ ในปีนี้ ตามที่นายกสมาคมสิ่งทอเม็กซิกันอ้างถึงข้างต้น นอกจากนี้แล้ว ได้มีการคาดคะเนเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกจะขยายตัวต่อไปอีกในอัตราร้อยละ 6 สำหรับปี 2011 


ตลาดสำหรับเครื่องนุ่งห่มภายในประเทศของเม็กซิโก 

ถึงแม้ว่าตลาดภายในประเทศของเม็กซิโกจะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการหดตัวของการส่งเงินกลับจากคนงานเม็กซิกันในสหรัฐฯ ตลาดภายในของเม็กซิโกยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคละตินอเมริกา โดยเม็กซิโกมีประชากรมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคฯ การขยายตัวของร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 41 จากปี 1998 ถึง 2008

ตลาดเครื่องนุ่งห่มในเม็กซิโกมีลักษณะของตลาดที่มีการแบ่งแยกสูง โดยบริษัทวิจัยตลาด Trendex Mexico ได้รายงานว่า มีบริษัทใหญ่คุมตลาดเครื่องนุ่งห่มในสัดส่วนร้อยละ 38.6 เพียง 11 บริษัท ซึ่งรวมถึง Suburbia (ร้อยละ 8.9) Liverpool/Fabricas (ร้อยละ 7.5) Bodega Aurrera (ร้อยละ 3.5) Coppel (ร้อยละ 3.5) Walmart de Mexico (ร้อยละ 3.4) และ Zara (ร้อยละ 2.4) ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart ได้เปิดร้านใหม่ถึง 174 แห่งในปี 2009 นอกจากนี้แล้ว กลุ่มธุรกิจด้านเครื่องนุ่งห่ม Cherokee, Gap และ Inditex (Zara) ได้เปิดร้านค้าใหม่ๆ เช่นกัน


โครงการ Mexico Fits


สมาคมสิ่งทอเม็กซิโกร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและกลุ่มบริษัทสิ่งทอเม็กซิกันจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการ Mexico Fits เมื่อปี 2008 เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความพร้อมด้านสิ่งทอของเม็กซิโก นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูง ตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริมให้ห้างสรรพสินค้า เช่น Suburbia, Comercial Mexicana, Soriana และ Liverpool มุ่งเน้นการขายยี่ห้อเม็กซิกัน เช่น ยี่ห้อ Kaltex, Yale และ Cannon ให้เท่าเทียมกับสินค้าอเมริกันที่เป็นสินค้าที่ห้างเหล่านี้นิยมส่งเสริม การนำดีไซน์เนอร์เม็กซิกันไปร่วมประกวดการออกแบบในงานแสดงสินค้าที่สหรัฐฯ การพาสมาชิกสมาคมสิ่งทอเดินทางไปพบกับผู้นำเข้าและตัวแทนธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในสหรัฐฯ การส่งเสริมการวิจัยและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการออกแบบสินค้าสิ่งทอใหม่ๆ เช่น การผลิตผ้าป้องกันไฟสำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม การออกแบบผ้าที่ทำการฆ่าเชื้อโรงไปในตัวสำหรับใช้ในภาคสุขอานามัย เป็นต้น


แนวโน้มการบริโภคที่เน้นเฟชั่นมากขึ้น 

ผลวิจัยตลาดของ Euromonitor ได้รายงานว่า ผู้บริโภคเครื่องนุ่งห่มเม็กซิกันได้พัฒนารสนิยม มีความตื่นตัวในด้านแฟชั่นมากขึ้น โดยการขายเครื่องประดับและเครื่องตกแต่งเสื้อผ้า เป็นภาคตลาดย่อยที่ได้ขยายตัวมากระหว่างปี 2007-2008 และคาดว่า การขายในภาคตลาดย่อยดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมประมาณ 560 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2013 ภาคตลาดย่อยอีกภาคหนึ่งที่ได้มีการขยายตัวสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้ากีฬา เนื่องจากค่านิยมการเป็นสมาชิกศูนย์ออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น และการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ ส่วนภาคตลาดย่อยที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงในปีนี้ และปีต่อไป ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าชั้นในและชุดนอน 

ชาวเม็กซิกันมีค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าประมาณ 195 เหรียญสหรัฐต่อหัวต่อปี โดยมีความนิยมในการซื้อเสื้อผ้าจากตลาดทั่วไป (street markets) ร้อยละ 33 ในห้างสรรพสินค้าประมาณร้อยละ 25 ซื้อจากร้านบูติ๊ก ร้อยละ 21 และในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 16 ปัญหาใหญ่สำรหรับการจำหน่ายปลีกสำหรับสินค้าเสื้อผ้า ได้แก่ การแข่งขันด้านราคากับเสื้อผ้าราคาถูกที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งการครองตลาดประมาณร้อยละ 56 ของยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด


การสอบสวนการทุ่มตลาดผ้าเดนิมจากประเทศจีน 

เมื่อปี 2009 ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแห่งเม็กซิโก (CANAIVE) ได้ทำการประท้วงในนามของสหภาพผู้ผลิตผ้าเดนิม (ยีนส์) กับกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโก เรียกร้องการสอบสวนการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าประเภทเดนิมจากประเทศจีน โดยได้อ้างว่า ราคาผ้าเดนิม 27 สตางค์ต่อตารางเมตรที่ผู้นำเข้าจากจีนเสนอขาย เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต จึงควรถือเป็นการทุ่มตลาด และควรเรียกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาดเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนในราคาต่ำเกินทุนดังกล่าว ได้มีผลทำให้โรงงานผลิตเส้นด้ายฝ้ายในเม็กซิโกต้องปิดไปหลายโรงงาน การนำเข้าผ้าเดนิมจากจีนได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า (ร้อยละ 236) ระหว่างปี 2007-2010 และในปัจจุบันได้มีการนำเข้าผ้าเดนิมจากจีน เทียบเท่ากับร้อยละ 26 ของผลผลิตภายใน 

ภายหลังการสอบสวนและรอให้ผู้ประท้วงแสดงหลักฐานของการทุ่มตลาดอย่างแน่ชัด มาเป็นเวลาสองปี กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ประกาศผลสรุปการสอบสวนฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2011 แจ้งผลว่า เนื่องจากการขาดหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าง จึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับการนำเข้าผ้าเดนิมจากประเทศจีน และคงการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสิ่งทอหมวดนี้เท่าเดิม ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้า


รายชื่อบริษัทสิ่งทอที่เป็นสมาชิก CANAINTEX: 
1. AMERICAN TEXTIL, S. A. DE C. V.
2. TEXTILES ROMATEX, S. A. DE C. V.
3. FARIEL, S. A. DE C. V.
4. TELAS Y TINTES DE MEXICO, S. A. DE C. V.
5. GRUPO MILLTEX, S. A. DE C. V.
6. ANAHUAC SOUTH CAROLINA ELASTIC, S. A. DE C. V.
7. ETIC ART, S. A. DE C. V.
8. ACABADOS LEORLEN S. A. DE C. V.
9. KALTEX, S. A. DE C. V.
10. TEJIDOS TEXTILES ESPECIALIZADOS, S. A. DE C. V.
11. GRUPO DIFOSA, S. A. DE C. V.
12. ERATEX, S. A. DE C. V.
13. TEXTURIZADOS Y TEJIDOS WINDSOR, S. A. DE C. V.



แหล่งข่าวอ้างอิง:

Wednesday, November 16, 2011

Apiculture: Honey exports from Mexico

การเลี้ยงผึ้งและการส่งออกน้ำผึ้งในเม็กซิโก

ประเทศเม็กซิโกมีความได้เปรียบในการผลิตน้ำผึ้งคุณภาพสูง เนื่องจากมีพันธุ์พืชที่ให้น้ำหวานเลี้ยงผึ้งหลากหลายชนิดถึง 40 กว่าประเภท นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงผึ้งเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยยุคอารยธรรมมายา และต่อมาได้รับการปรับปรุงพันธุ์ผึ้ง เมื่อชาวสเปนได้นำผึ้งจากยุโรปมาเสริมการผลิตน้ำผึ้งเป็นกิจกรรมด้านเกษตรอย่างจริงจัง

การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโกได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังโดยกระทรวงการเกษตรของเม็กซิโก ตั้งแต่ปี คศ. 1986 เป็นต้นมา โดยในช่วงการส่งเสริมเริ่มแรก ผู้เลี้ยงผึ้งเม็กซิกันสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 75,000 ตัน ในปัจจุบันเม็กซิโกมีความสามรถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 50,000 ตันต่อปี เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก ยูเครน รัสเซีย สหรัฐฯ และอาร์เจนตินา และส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก เทียบได้ประมาณร้อยละ 6 ของปริมาณน้ำผึ้งส่งออกระหว่างประเทศ ในปี 2010 เม็กซิโกมีการส่งออกน้ำผึ้งมูลค่า 84.7 ล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของประเภทหนึ่งของเม็กซิโก ผู้นำเข้าน้ำผึ้งจากเม็กซิโกที่สำคัญที่สุด คือประเทศเยอรมัน ในปี 2010 เม็กซิโกได้ส่งออกน้ำผึ้งไปยังเยอรมันมูลค่า 45.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 54 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งรวมของเม็กซิโก มีการคาดคะเนว่า การส่งออกน้ำผึ้นของเม็กซิโกในปี 2011 จะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3-5



การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโก นับว่าเป็นกิจกรรมด้านการเกษตรที่สำคัญ เนื่องจากมีการจ้างงานและเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านผู้มีรายได้ต่ำประมาณ 40,000 คน พื้นที่การเลี้ยงผึ้งในเม็กซิโกที่สำคัญอยู่ที่รัฐ Tamaulipas, Campeche, Yucatan, Jalisco, Chiapas, Veracruz, Oaxaca, Guerrero, Puebla, Quintana Roo และ Michoacan แหล่งผลิตน้ำผึ้งเพื่อการส่งออกที่สำคัญอยู่ที่รัฐยูคาตัน เนื่องจากมีองค์กรสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งที่เข้มแข็ง (Sociedad Apícola Maya) ที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่เยอรมันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา และในปี 2009 องค์กรดังกล่าวได้สร้างโรงงานบรรจุน้ำผึ้งใส่ขวดที่ทันสมัย มูลค่าการลงทุน 16 ล้านเปโซ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานโดยกระทรวงเกษตรของเม็กซิโก และได้รับการยอมรับด้านคุณภาพจากสหภาพยุโรป

ค่าเฉลี่ยการบริโภคน้ำผึ้งต่อหัวของชาวเม็กซิกันในปัจจุบัน ได้เพิ่มขึ้นจาก 190 กรัมต่อหัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็น 320 กรัมต่อหัวในปี 2010 เนื่องจากได้มีการนำน้ำผึ้งมาใช้เป็นสารเติมความหวานในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น ซีเรียล โยเกิต ขนมปัง ของหวาน รวมทั้งในสินค้าเครื่องสำอางค์

Monday, November 14, 2011

Phytosanitary measures for rice imports in Central America

ผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศประท้วงกฎระเบียบด้านสุขอนามัยอาหาร สำหรับการนำเข้าข้าวของคอสตาริกา

ภูมิหลังการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยกีดกันการนำเข้าข้าวในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียน ซึ่งนับวันจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียนมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลกในอนาคต องค์กรอาหารโลกได้คาดคะเนผลผลิตข้าวของภูมิภาคดังกล่าวสำหรับปี 2011 ปริมาณ 29.2 ล้านตัน ผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของภูมิภาคฯได้แก่ ประเทศบราซิล ซึ่งจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 13.5 ล้านตัน สำหรับปี 2011 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อน เปรูผลิตได้ 2.7 ล้านตัน โคลัมเบีย 1.9 ล้านตัน อาร์เจนตินา 1.5 ล้านตัน อุรุกวัย 1.5 ล้านตัน เวเนซุเอลา 900,000 ตัน เอควาดอร์ 1.4 ล้านตัน กวายานา 584,000 และโบลิเวีย 450,000 ตัน โดยกลุ่มประเทศอเมริกากลางและแคริเบียนมีผลิตรวมประมาณ 2.86 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตข้าวในเม็กซิโกสำหรับปี 2011 จะลดลงเป็นปริมาณเพียง 250,000 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและการลงทุนในการผลิตข้าวที่ลดลง

การค้าข้าวระหว่างประเทศโดยรวมในตลาดโลก มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 7 ของผลผลิตข้าวทั่วโลก หรือประมาณ 31 ล้านตัน ในปริมาณดังกล่าวภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริเบียนจะนำเข้าข้าวประมาณ 3.4 ล้านตันต่อปี โดยกลุ่มประเทศอเมริกากลางกับแคริเบียนเป็นผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ โดยนำเข้าประมาณ 2.1 ล้านตัน ส่วนผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญสำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ได้แก่ อุรุกวัยและบราซิล ที่มีการส่งออกประมาณ 900,000 และ 600,000 ตัน ตามลำดับ

ภูมิภาคละตินอเมริกาโดยรวมได้นำมาตรฐานด้านสุขอนามัย มาใช้เพื่อป้องกันผู้ผลิตข้าวภายในของแต่ละประเทศ ตามข้อกำหนดทที่องค์การค้าโลกอนุมัติ แต่บางประเทศมีการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยเกินความจำเป็น ยกตัวอย่าง เช่น เปรู โคลัมเบีย เอควาดอร์ คอสตาริกา ฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ ปานามา สาธารณรัฐดอมินิกัน และเม็กซิโก


อาร์เจนตินาและสหรัฐฯ ประท้วงกฏระเบียนด้านสุขอนามัยสำหรับการนำเข้าข้าวในคอสตาริกา

การกำหนดราคาข้าวภายในประเทศของคอสตาริกา และการเพิ่มข้อบังคับเกี่ยวกับการเสริมวิตามินในข้าว โดยได้กำหนดเพิ่มเติมว่าให้ทำการเสริมวิตามินในแหล่งผลิตข้าว และไม่อนุมัติให้ทำการเสริมวิตามินโดยผู้นำเข้าภายหลังการนำเข้ามาแล้ว ได้รับการประท้วงจากผู้นำเข้า ผู้ส่งออกต่างประเทศ และกลุ่มผู้บริโภค โดยเมื่อต้นปี 2011 ได้มีการกักกันข้าวปริมาณ 525 ตันที่ท่าเรือลิมอน ที่มีต้นกำเนิดจากอาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกวัย อันเป็นผลให้เอกอัคราชทูตอาร์เจนตินาประจำคอสตาริกาได้ยื่นหนังสือประท้วงกับรัฐบาลคอสตาริกาแจ้งว่า การได้ใช้มาตรการด้านสุขอนามัยของคอสตาริกา ได้มีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นระบบตามอารมย์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศตามที่องค์การค้าโลกกำหนด ทั้งนี้ กระทรวงการค้าคอสตาริการได้ตอบรับทราบข้อประท้วงดังกล่าว และได้แจ้งกลับว่า การกำหนดการเติมวิตามินใส่ข้าว เป็นมาตรการที่ถูกต้องตามข้อกำหนดการค้าด้านสุขภาพ

ผู้นำเข้าข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติดังกล่าว ได้แจ้งผู้สื่อข่าวว่า มาตรการกำหนดการเติมวิตามินในข้าว ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2002 แต่ไม่เคยได้รับการปฎิบัติจนกระทั่งเมื่อต้นปี 2011 หลังจากที่ตัวแทนผู้ผลิตข้าวคอสตาริกาได้เข้าพบกับและกดดันให้รัฐบาลรับซื้อข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ผู้ผลิตมีปัญหาในการส่งมอบและจัดเก็บข้าว ผู้ผลิตข้าวคอสตาริกาได้เพิ่มพื้นที่การผลิตในปี 2011 เป็น 81,000 เฮคเตอร์จาก 66,400 เฮคเตอร์ในปี 2010 โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวปี 2011 จะมีปริมาณประมาณ 281,000 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากผลผลิตปี 2010 ที่มีปริมาณ 250,849 ล้านตัน

มาตรการการกำหนดราคาซื้อข้าวจากผู้ผลิตภายในที่สูง เป็นมาตรการที่ได้รับการตักเตือนโดยองค์การค้าโลก โดยจัดถือได้ว่าเป็นมาตรการการอุดหนุนซึ่งต้องห้าม ในปี 2010 รัฐบาลคอสตาริกาได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ผลิตข้าว มูลค่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นจำนวนที่เกินปริมาณที่องค์การค้าโลกได้กำหนดไว้ถึงเจ็ดเท่า ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงเจนีวา พร้อมกับสมาชิกองค์การค้าโลกอีก 70 ประเทศ ได้กล่าวประท้วงนโยบายของรัฐบาลคอสตาริกาดังกล่าวอย่างแรงในการประชุมกลุ่มเกษตรเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มการนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าจากประเทศเหล่านี้ได้ในอนาคต

ราคาข้าวภายในที่รัฐบาลคอสตาริการับซื้อจากผู้ผลิตข้าวภายในประเทศจากเดือนมกราคม 2011 เป็นต้นไป ได้กำหนดไว้ที่ 39.30 เหรียญต่อกระสอบละ 73.6 กิโล ซึ่งเป็นราคาที่ได้ลดลงจากราคาเดิม 41.89 เหรียญฯ ซึ่งมีผลให้ราคาข้าวที่ขายแก่ผู้บริโภคลดลง 8 สตางค์ต่อกิโกกรัม เป็นราคา 1.35 เหรียญต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ผู้ผลิตข้าวคอสตาริกัน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตข้าวเป็นข้อตอบแทน ในฝ่ายตรงข้ามกลุ่มสนับสนุนผู้บริโภคในคอสตาริกา ได้รณรงค์ประท้วงการกำหนดราคาข้าวที่สูงกว่าราคาข้าวระหว่างประเทศ โดยได้แจ้งในรายงานเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้บริโภคข้าวในคอสตาริกามีค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อข้าวต่อปีมูลค่าประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และหากราคาข้าวภายในประเทศถูกกำหนดให้เท่ากับระดับราคาโลก ผู้บริโภคจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวได้ถึงปีละ 282 เหรียญ หรือร้อยละ 10 ของรายได้เฉลี่ย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.centralamericadata.com/en/article/main/Rice_Problem_In_Costa_Rica_Becomes_International_Problem?u=465f3b3f5
http://www.ias.ac.in/currsci/feb102008/303.pdf
http://www.fao.org/DOCREP/006/Y4751E/y4751e0t.htm#TopOfPage
http://www.fao.org/docrep/014/am491e/am491e00.pdf

Friday, October 28, 2011

Mexico-Central America Unified Trade Agreement

ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเม็กซิโกและกลุ่มประเทศอเมริกากลาง

เมื่อปี 2009 เม็กซิโกได้เริ่มการเจรจาในด้านเทคนิคเพื่อการรวมความตกลงเขตการค้าเสรีที่เม็กซิโกมีกับประเทศนิคารากัว (1998) และคอสตาริกา (1995) เข้ากับความตกลงที่มีกับกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ (North Triangle) ที่ได้ลงนามในปี 2001 ให้เป็นกรอบความตกลงเดียว การเจรจาในรายละเอียดด้านเทคนิคได้เสร็จสิ้นลงระหว่างการประชุมผู้นำประเทศ (Summit of the Tuxtla Mechanism) ครั้งที่ 13 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพการประชุม เมื่อวันที่ 16-17 ตุลาคม 2011 ที่เมือง Tuxtla รัฐ Chiapas การลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีฉบันเดียวใหม่นี้จะเกิดขึ้นในการประชุมผู้นำฯ ครั้งต่อไปในปีหน้า


การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของความตกลงการค้าเสรีฉบับเดียวดังกล่าว คือ การตกลงให้คู่สัญญาทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) เดียวกัน เพื่อการผนวกกระบวนการผลิตในพื้นที่ของคู่สัญญา ให้สามารถนำวัตถุดิบไม่ว่าจากประเทศใดประเทศหนึ่งไปใช้ในกระบวนการผลิตในอีกประเทศหนึ่งได้โดยถือว่ามาจากแหล่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและอาหาร เป็นต้น ประเทศที่ได้รับผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดทันทีได้แก่ ประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งในปัจจุบันต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกน้ำตาลไปยังเม็กซิโก จะสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำตาลไปยังเม็กซิโกได้มากขึ้น ในภาวะที่เม็กซิโกขาดแคลนน้ำตาล และได้เปิดโควต้าการนำเข้าน้ำตาลประมาณ 150,000 ตัน ทั้งนี้ เม็กซิโกมีผลผลิตน้ำตาลช่วง 2010/2011 ปริมาณ 5.18 ล้านตัน แต่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำตาลสำหรับตลาดภายประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับราคาจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ดีกว่า

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้ Summit of the Tuxtla Mechanism ได้แก่ แผนพัฒนา Puebla-Panama Plan (2001) ที่ได้เป็นพื้นฐานของโครงการความร่วมมือ Meso-American Project for Integration and Development ปี 2008 ซึ่งได้เอื้ออำนวยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระหว่างรัฐทางตอนใต้ของเม็กซิโก เพื่อการส่งออกไฟฟ้าจากเม็กซิโกไปยังกลุ่มประเทศอเมริกากลางผ่านเครือขายไฟฟ้าของกัวเตมาลา (Proyecto SIEPAC)

การค้าระหว่างเม็กซิโกกับกลุ่มประเทสอเมริกากลางมีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

Wednesday, October 26, 2011

Pirelli invests in tire factory in Mexico

บริษัท Pirelli ลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ในเม็กซิโก


ผู้ผลิตยางรถยนต์ที่สำคัญจากอิตาลี บริษัท Pirelli ได้แถลงข่าวการลงทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่เมืองสิเลา รัฐฮัวนาวฮัตโต ประเทศเม็กซิโก เมื่อกลางปี 2011 มูลค่าการลงทุน 210 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโรงงานดังกล่าวจะมีความสามารถในการผลิตยางได้ประมาณ 3-5 ล้านเส้นต่อปี กำลังการผลิตในขั้นต้น 10,500 เส้นต่อวัน จะจ้างคนงานใหม่ประมาณ 1,000 คน และจะเริ่มการผลิตยางรถยนต์เพื่อการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และประเทศอื่น ๆ ในต้นปี 2012

บริษัท Pirelli เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับห้าของโลก มีโรงงานทั้งหมด 24 โรงงานใน 12 ประเทศ สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ซึ่งมีบราซิลเป็นตลาดที่สำคัญ บริษัท Pirelli มีโรงงานผลิตยางอยู่ 5 แห่ง และอีก 1 โรงงานในอาร์เจนตินา ส่วนตลาดเม็กซิโกนั้น มีศักยภาพในการขยายตัวสูง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีนาฟต้า โดยยอดขายสำหรับภูมิภาคอมริกาเหนือของบริษัท Pirelli ได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 25 ในปี 2010 มีสัดส่วนของตลาดทั้งหมดของบริษัทฯ เป็นร้อยละ 10 มูลค่ายอดขาย ประมาณ 630 ล้านเหรียญฯ นอกจากการลงทุนในเม็กซิโกแล้ว บริษัท Pirelli ยังได้ขยายกำลังการผลิตในประเทศจีน โรเมเนีย และรัสเซีย ในปี 2011 นี้

ปัจจัยที่ดึงดูดการตัดสินใจของบริษัท Pirelli สำหรับลงทุนในเม็กซิโก เนื่องจากเห็นว่า เม็กซิโกมีความพร้องด้านสถาบันการศึกษาในรัฐฮัวนาวฮัตโต การฝึกแรงงานที่มีฝีมือมีความจำเป็นสำหรับการผลิตยางคุณภาพสูง การออกแบบเพื่อการผลิตยางรถยนต์ ต้องใช้ความรู้ด้านเภสัชประกอบกับความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ อีกทั้ง ยังต้องมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต ในขณะนี้ บริษัท Pirelli ได้เริ่มการฝึกวิศวกรเฉพาะด้าน 17 คน และช่างอีก 150 คน เพื่อรับหน้าที่ในการควบคุมการผลิตที่จะเริ่มในปี 2012

การนำเข้าและส่งออกยางรถยนต์ในเม็กซิโก

นาย Rubén López ผู้อำนวยการสมาคมผู้จัดจำหน่ายยางรถยต์แห่งเม็กซิโก (Andellac) ได้รายงานในงานแสดงสินค้า Expo ANDELLAC ครั้งที่ 37 ที่เมือง Acapulco เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2011 ว่า การขายยางที่ใช้แล้วจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการขายยางใช้แล้วที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณปีละ 2 ล้านเส้น รวมทั้งยังได้มีการลักลอบการนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการขายยางที่ผลิตในเม็กซิโกที่มียอดขายลดลงจากประมาณ 25 ล้านเส้นต่อปี เป็น 21 ล้านเส้นค่อปี ร้อยละ 80 ของยางรถยนต์ที่ขายภายในประเทศ เป็นยางสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล ส่วนที่เหลือเป็นสำหรับรถบรรทุก การขายยางรถยนต์ในเม็กซิโกเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยมียี่ห้อของยางที่ขายทั้งหมดประมาณ 100 ยี่ห้อ โดยส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ผู้ผลิตยางที่สำคัญในเม็กซิโกเป็นบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในเม็กซิโก มีบริษัท Bridgestone- Firestone ซึ่งมีโรงงานอยู่ 2 แห่ง ที่ Cuernavaca และ Monterrey บริษัท Continental ประเทศเยอรมันมีโรงงาน 1 แห่ง ที่ San Luis Potosi บริษัท Michellin มีโรงงานอยู่ที่รัฐ Queretaro บริษัท Corporación de Occidente ของ Cooper Tire สหรัฐ มีโรงงานอยู่หนึ่งแห่ง ส่วนผู้ผลิตยางที่มีเจ้าของเป็นเม็กซิกันมีเพียงบริษัท คือ บริษัท Hurela Tornel ก่อตั้งเมื่อปี 1937 ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ 3 แห่งใน Estado de Mexicoได้ถูกขายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท JK Tyre ประเทศอินเดียเมื่อปี 2008

เม็กซิโกพึ่งการนำเข้ายางรถยนต์จากต่างประเทศ โดยในปี 2010 ได้นำเข้ายางรถยนต์เป็นมูลค่ารวม 1,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ในสัดส่วนร้อยละ 43.48 การนำเข้าปี 2009 มูลค่า 1,347.6 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐฯ ในปี 2010 มีสัดส่วนการนำเข้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 51 มูลค่า 986.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ การนำเข้าจากจีนในสัดส่วนร้อยละ 18 มูลค่า 352 ล้านเหรียญสหรัฐ แหล่งนำเข้าอื่น ๆ ได้แก่ ประเทศบราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน การนำเข้ายางสำหรับรถบรรทุกมีมากกว่าการนำเข้ายางสำหรับรถโดยสารส่วนบุคคล

เม็กซิโกมีการส่งออกยางเล็กน้อย ในปี 2010 ได้มีการส่งออกมูลค่า 448 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐเป็นส่วนใหญ่

ภาวะอุตสากรรมผลิตยางในระดับโลก

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2009 ได้แสดงตัวให้เห็นในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกเป็นอันดับแรก โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตยาง พลาสติก และเหล็ก ก็ได้รับการกระตุ้นอย่างเงียบๆ อุตสาหกรรมการการผลิตยางรถยนต์เป็นกิจกรรมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง โดยวัฏจักรการผลิตยางมีความสลับซับซ้อนในหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่เกี่ยวข้องกับเกษตกรรายเล็กผู้ปลูกต้นยาง ไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมที่ต้องทำการแปรสภาพเพื่อส่งไปยังโรงงานที่ผลิตยางที่มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งการผลิตยางสังเคราะห์ กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีอย่างสูง จนถึงขั้นสุดท้ายของการจัดจำหน่าย ที่เกี่ยวข้องกับร้านขายยางรถยนต์รายเล็กที่มีกระจัดกระจายไปทั่วโลก

การผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกมีปริมาณประมาณ 1 พันล้านเส้น และมีโรงงานทั้งหมดประมาณ 400 แห่ง ผู้ผลิตยางที่สำคัญ 3 อันดับแรก มีสัดส่วนการครองตลาด ประมาณร้อยละ 60 ของตลาดทั้งหมด

ในสหรัฐฯ มีบริษัทผู้ผลิตยางประมาณ 100 แห่ง รายได้ต่อปีรวม 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีบริษัทสำคัญคือ Goodyear, Bridgestone, Michelin และ Cooper ที่ครองตลาดในสหรัฐฯ ในสัดส่วนร้อยละ 75 ยอดขายยางในสหรัฐฯ ในปี 2010 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ประมาณ 7 ล้านเส้น และได้มีการคาดว่าในปี 2011 จะมียอดขายประมาณ 275 ล้านเส้น

ความต้องการสำหรับยางรถยนต์ประเภทรถบรรทุกเล็กและใหญ่จากประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการผลิตยางในภาวะปัจจุบัน ได้มีการคาดคะเนว่า อัตราการขยายตัวสำหรับการผลิตยางรถยนต์จะขยายตัวมากกว่าการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ใน 10 ปีข้างหน้า อนาคตของการผลิตยางรถยนต์ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบ การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสำหรับการรีไซเคิ้ลยางที่ใช้แล้วเป็นสำคัญ ปัจจัยที่เป็นตัวกดในทางลดสำหรับการขยายตัวของการผลิตยาง ได้แก่ คุณภาพของยางที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีคงทนกว่าเก่า และการชลอตัวของการซื้อรถยนต์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง


Expo Andellac:




Monday, October 17, 2011

Rice in Mexico

สถานการณ์ข้าวภายในประเทศเม็กซิโก


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 สภาผู้ผลิตข้าวแห่งเม็กซิโก (Consejo Mexicano del Arroz) ได้แจ้งข่าวผลผลิตข้าวภายในประเทศเม็กซิโกประจำปี 2554 คาดการณ์ผลผลิตจำนวน 340,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปี 2010 ร้อยละ 17 แต่ยังคงเทียบได้เพียงประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเม็กซิโก ที่มีปริมาณความต้องการรวมประมาณปีละ 800,000 ตัน - 1 ล้านตันต่อปี

พื้นที่การเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของเม็กซิโกอยู่ในรัฐตอนกลางของเม็กซิโกของทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ฝั่งแปซิฟิกได้แก่ รัฐ Michoacan Nayarit Colima Sinaloa และ Jalisco ฝั่งแอทแลนติกได้แก่รัฐ Veracruz Campeche Tamaulipas และ Campeche การนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ได้มีจุดเริ่มต้นจากโรงสีข้าวในรัฐ Sinaloa ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ส่งออกข้าวสหรัฐ และประเภทของข้าวที่เป็นที่รู้จักสำหรับผู้บริโภคเม็กซิกัน แยกเป็นสองประเภทคือ ประเภท Sinaloa Long Grain และประเภท Morelos Short Grain โดยข้าวประเภท long grain มักจะเป็นข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ราคาของข้าว long grain ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และปากีสถานมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวที่ผลิตภายในประเทศถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้ตลาดของข้าวประเภท Morelos ที่ผลิตภายในประเทศเป็นที่นิยมน้อยลง รัฐบาลของเม็กซิโกได้เริ่มการรณรงค์ด้านโภชนาการและสุขภาพเมื่อต้นปี 2543 เพื่อส่งเสริมให้ชาวเม็กซิกันหันมาทานข้าวที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ได้มีผลเพิ่มอัตราการบริโภคข้าวต่อหัวโดยทั่วไป จากคนละ 5.8 กิโล เป็น 6.5 กิโลต่อปีในระหว่างปี 2542-2544

ประเทศเม็กซิโกนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ เป็นหลัก ประมาณร้อยละ 99 นอกจากสหรัฐฯ แล้วจะมีการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในปริมาณที่น้อยมากได้แก่ จากอุรุกวัย ไทย และอิตาลี เป็นต้น ประเภทของข้าวที่นำเข้าเป็นข้าวที่ยังมิได้สีในอัตราส่วนร้อยละ 75.94 กึ่งสีและสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 23.37 และข้าวหักและข้าวสีอื่นในอัตราร้อยละ 0.68

ในปี 2553 เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวโดยรวมมูลค่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปริมาณ 842,410 ตัน) โดยเป็นมูลค่าที่ลดลงจากปี 2552 ในอัตราร้อยละ 7.3 จากมูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปริมาณ 821,769 ตัน) โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 318.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราส่วนร้อยละ 99.57 และนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยนำเข้าจากประเทศอุรุกวัยมูลค่า 0.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1,560 ตัน) นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 3 มูลค่า 239,000 เหรียญสหรัฐฯ (222 ตัน) และนำเข้าจากอิตาลีเป็นอันดับ 4 มูลค่า 163,000 เหรียญสหรัฐฯ (84.5 ตัน)

สำหรับปี 2554 (ม.ค.–ก.ค.) เม็กซิโกได้นำเข้าข้าวเป็นมูลค่า 209.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวร้อยละ 11.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดนำเข้าหลัก ในมูลค่า 204.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามด้วยการนำเข้าจากประเทศอุรุกวัย มูลค่า 4.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งได้เพิ่มขึ้นจากช่วง ม.ค.–ก.ค. ปี 2553 ถึงร้อยละ 342.8 รวมทั้งเพิ่มการนำเข้าข้าวจากปากีสถาน มูลค่า 476,799 เหรียญสหรัฐฯ เทียบเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 2,052 จากช่วง ม.ค.–ก.ค. ปี 2553 ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 122,485 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32 จากช่วงเดียวกันของปี 2553

สาเหตุหลักที่มีการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ ในปริมาณและมูลค่าสูงเนื่องมาจากเป็นนำเข้าข้าวที่ยังมิได้สี ทำให้อัตราภาษีนำเข้าถูกและเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐฯ เพื่อให้มีการนำเข้าข้าวมาสีภายในประเทศ นอกจากนี้ประชากรของเม็กซิโกส่วนใหญ่ มิได้บริโภคข้าวเป็นหลัก แต่จะบริโภคข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดที่เรียกว่า ‘ตอติย่า’ เป็นอาหารหลัก มีการนำข้าวมาประกอบอาหารในลักษณะอาหารข้างเคียง ความคุ้นเคยกับข้าวประเภท long grain ของสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าข้าวของไทยมีจำกัดในเฉพาะกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับอาหารไทย หรืออาหารเอเชีย คนเอเชียที่อาศัยออยู่ในประเทศเม็กซิโก และร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนน้อยในประเทศ

เม็กซิโกได้สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยมาโดยตลอด แต่จะนำเข้าในปริมาณน้อย โดยมักจะเป็นการนำเข้าข้าวไทยจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีร้านอาหารไทยในเม็กซิโกไม่เกิน 10 ร้านที่ต้องใช้ข้าวไทยเพื่อจัดทำอาหาร โดยร้านอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะนำเข้าข้าวมาด้วยตัวเองในปริมาณน้อย หรือหาตัวแทนจำหน่ายข้าวจากตัวแทนจำหน่ายในเม็กซิโก โดยนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง

เม็กซิโกมีการส่งออกข้าวเล็กน้อย โดยในปี 2553 ได้มีการส่งออกเป็นมูลค่ารวม 3.49 ล้านตัน ปริมาณประมาณ 5,535 ตัน เป็นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และคิวบา เป็นสำคัญ

ราคาขายปลีกของข้าวในประเทศเม็กซิโก

ราคาขายปลีกของข้าวที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า สำหรับข้าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ หรือข้าวที่มีการสีภายในประเทศ จะจัดจำหน่ายอยู่ในอัตราราคาประมาณ 12-25 เปโซ ต่อ 1 กิโลกรัม ในขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทยมักจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอาหารพิเศษ (gourmet) หรืออาหารจากต่างประเทศ จะตั้งราคาอยู่ประมาณ 40-60 เปโซ ต่อ 1กิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 2.33 บาท = 1 เปโซ ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2554)


ระเบียบการนำเข้าข้าว

เมื่อเดือนเมษายน 2551 กระทรวงเศรษฐกิจเม็กซิโกได้ประกาศการยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าข้าว และได้ยกเลิกโควต้าชั่วคราวสำหรับการนำเข้าข้าวมาในประเทศเม็กซิโก อันเนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนข้าวในโลกที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยกเลิกอัตราค่าภาษีนำเข้าจากร้อย 10 สำหรับข้าวเปลือก และร้อยละ 20 สำหรับข้าวขาว

มาตรฐานสินค้าตามกฎระเบียบการนำเข้าเลขที่ NOM-028-FITO-1995 ของเม็กซิโก มีสาระสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

1.) เฉพาะสินค้าข้าวที่สีแล้ว (Polished Rice) ที่ส่งออกจากไทยไปยังประเทศเม็กซิโกจะต้องมีการ Fumigate จำนวน 2 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกก่อนบรรจุข้าวลงถุง และครั้งที่สองเมื่อบรรจุลงถุงแล้ว โดยจะต้องมีใบรับรองออกโดยภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย (กรมวิชาการเกษตร) เท่านั้น โดยระบุว่าได้มีการ Fumigate ทั้ง 2 ครั้งจริง ทั้งนี้ให้ระบุรายละเอียดในข้อที่ 8 ของแบบฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร

2.) สารเคมีที่ใช้ในการอบ Fumigate สามารถใช้สาร Methyl Bromide โดยให้มีระดับปริมาณการใช้สารฯ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการอบ อุณหภูมิระหว่างที่อบและความเข้มข้นของสาร Methyl Bromide

ทั้งนี้โดยให้ใส่ข้อมูลระยะเวลาอบ และอุณหภูมิระหว่างที่อบไว้ให้ครบถ้วนในข้อที่ 13 ของแบบ ฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร และให้ระบุความเข้มข้นของสาร Methyl Bromide เป็นมาตรา Metric ไว้ในข้อที่ 14 ของแบบฟอร์ม Phytosanitary Certificate ของกรมวิชาการเกษตร

3.) ด่านศุลกากรทางการเม็กซิโกตามที่ระบุใน NOM-028-FITO-1995 ที่อนุญาตให้ผ่านพิธีการนำเข้าข้าวจากไทย กำหนดให้ผ่านด่านศุลกากรตามท่าเรือต่อไปนี้ Tuxpan, Veracruz, Manzannillo และ Puerto de Altamira เท่านั้น

ระเบียบดังกล่าวมีความเคร่งครัด เนื่องจากประเทศเม็กซิโกถือว่าสินค้าข้างเป็นพืชผลที่อาจมีแมลงที่อาจมีทำลายพืชผลที่เป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ของประเทสศุง หากพบแมลงเพียงตัวอย่างเดียวจะมีคำสั่งให้ทำลายปริมาณการส่งออกของ shipment ทั้งหมด มิได้อนุญาตให้มีการส่งออกกลับไปยังต้นทาง และได้มีกรกณีตัวอย่างการนำเข้าจากไทยที่มิได้ดำเนินการตามระเบียของเม็กซิโกมาแล้ว จึงจำเป็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ถูกต้อง

ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายข้าวของประเทศเม็กซิโก:

1. CAMPBELLS DE MEXICO SA DE CV
Mrs. Jaqueline Santoyo
Km. 291.5 Carr. Mexico – Cd. Juarez
38260 Villagrán, Gto.
Jaqueline_santoyo@campbellsoup.com
www.campbells.com.mx
Tel: +52 (461) 618 5400 Ext. 5423
Fax: +52 (461) 618 5410

2. CENTENNIAL SA DE CV
Mr. Sergio García Pineda
Av. Del Cristo 101
Col. Xocoyahualco
Tlalnepantla, Mex 54080
compra@cen.casasaba.com
www.centennial.com.mx
Tel: +52 5374 0433 Ext. 2511
Fax: +52 5374 0433 ext. 2615

3. EMPACADOS SA DE CV
Mr. Raul Miranda
Los Angeles Ote 2200-C
Col. Mariano Escobedo
Monterrey N.L 64510
rmiranda@empacados.com
compras@empacados.com
www.empacados.com
Tel: +52(81)12 53 3222 Ext. 1006, 1007
Fax: +52(81) 12 53 3225

4. KELLOGG DE MEXICO
Km. 1 Carr. Campo Militar
Col. San Antonio de la Punta
Querétaro, Qro. 76135
Javier.ysunka@kellogg.com
www.kellogg.com.mx
Tel: +52(442) 211 1300 Ext. 1439
Fax: +52(442) 215 3020

5. MEXICANA DE VIVERES MSV SA DE CV
Mr. Martin Samano
Central de Abastos Bod F-46
Mexico D.F. 09040
masaveja@prodigy.net.mx
Tel +52(55)5694 0758
Fax: +52(55)5694 2746

5. MICHEL ONTIVEROS PABLO IGNACIO
Mr. Alejandro Rivera
Cam. Escuela de Agricultura 7620
Col. La Venta del Astillero
Zapopan jal. 45220
rivera@michel.com.mx
www.michel.com.mx
Tel: +52(33)36 82 04 40, 3682 0184 Ext. 243
Fax: +52(33)35 85 5579

6. PRODUCTOS VERDE VALLE
Mr. Manuel Flores Alvarez
Vallarta 5683, sector Juárez
Col. Santa María del Pueblito
Zapopan Jal. 45010
manuelfa@verdevalle.com.mx
gerardoot@verdevalle.com.mx
www.verde-valle.com.mx
Tel: +52(33)3540 2200 Ext. 2252, 2254
Fax: +52(33)3540 4234

7. SANA INTERNACIONAL S DE RL DE CV
Mrs. Eva Anaya
Miguel dela Madrid S/n
Parque Industrial
San Luis Rio Colorado, Son. 83455
Eva.anaya@sanainternacional.com
compras@sanainternacional.com
www.sanainternacional.com
Tel: +52(653) 534 5161 Ext. 114
Fax: +52(653) 534 5159

8. SURTIDORA ABARROTERA SA DE CV
Mr. Ignacio Sámano
Central de Abastos Bod. E-33
Zona Urbana Ejidal
México D.F. 09040
surtabar@prodigy.net.mx
Tel: +52(55) 5616 4626, 5616 4780 Ext. 40
Fax: +52(55) 5616 4649

9. ALIMENTOS Y CEREALES SA DE CV 
Mr. Luis Montemayor
Pedro Celestino Negrete 1325 Pte
Col. Industrial
Monterrey N.l. 64440
lemontemayor@graselrindemas.com
www.graselrindemas.com
Tel: +52(81)8375 5697 Ext. 25, 27
Fax: +52(81) 8375 4661

10. SUSHI PALMAS SA DE CV (SUSHI ITTO)
Mrs. Alma Mondragón
Cuauhtemoc 158
Col. Tizapan de San Angel
Mexico D.F. 01090
amondragon@alimentaria.com.mx
www.sushi-itto.com
www.sushi-palmas.com.mx
Tel: +52(55)5616 4626, 5616 4780 Ex. 54, 42
Fax: +52 (55) 5550 2532

11. Kume Importaciones S.A. de C.V.
Mr. C.P. Felipe Juarez Martinez
Matriz Mexico, D.fF.
Isabel La Catolica 409, Col. Obrera C.P. 06800
ventas@kume.com.mx
www.kume.com.mx
Del: Cuahtemoc, Mexico, D.F.
Tel: +52(55)5538 8337, 5519 3664
Fax: +52(55)5440 2498, 5538 8933

Wednesday, October 5, 2011

International Conference on Denomination of Origin and Geographical Indications, Guadalajara, 30 September 2011

การปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้าและการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

Organization for an International Geographical Indications Network-oriGIn (www.origin-gi.com) ก่อตั้งเมื่อปี 2003 เป็นองค์กรเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีสมาชิกประมาณ 200 องค์การ ที่เป็นตัวแทนของผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับการปกป้องตราชื่อแหล่งต้นกำเนิดต่างๆ รวม 2 ล้านคน จาก 40 กว่าประเทศ ได้จัดการประชุมสมาชิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5 และการสัมนาระหว่างประเทศเกี่ยวกับ การปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้า และการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร“International Conference on “Denominations of Origin and Geographical Indications” ที่เมืองกัวดาลาฮาร่า รัฐฮาลิสโก ประเทศเม็กซิโก เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2011 โดย Consejo Regulador del Tequila (CRT) แห่งเม็กซิโก ได้เป็นเจ้าภาพด้านสถานที่จัดการประชุม ที่ Art Museum Zapopan สรุปใจความสำคัญการประชุมได้ดังนี้

ประเทศเม็กซิโก

Mr. Ramón Gonzalez Figueroa นายกสภามาตรฐานเตกีลา (CRT) แห่งเม็กซิโก ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม oriGIn มาแล้วสองสมัย ได้เปิดงานสัมมนาฯ โดยกล่าวถึงความสำคัญด้านเศรษฐกิจของการปกป้องตราหรือชื่อบ่งชี้แหล่งกำเนิดของสินค้าทางภูมิภศาสตร์ (GIs) โดยการยกตัวอย่างความสำเร็จของการปกป้องการใช้ชื่อเตกีลาของเม็กซิโก ที่เป็นการรับรองให้แก่ผู้บริโภคไห้มีความมั่นใจในคุณภาพของเหล้าเตกีลา โดยมาตรฐานดังกล่าวมีกฎมาตรฐานสินค้าที่รัฐบาลของเม็กซิโกเป็นผู้กำหนดในด้านหนึ่ง และได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโดยหน่วงงานอิสระอีกด้านหนึ่ง

Mr. Alberto Cardenas สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้ว่าราชการรัฐฮาลิสโก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วุฒิสภาของเม็กซิโก กำลังรณรงค์กำหนดแผนงานระดับชาติ เพื่อการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อยกระดับการส่งเสริมอาหารเม็กซิกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีร้านอาหารเม็กซิกันอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง และผู้บริโภคยังมีความเข้าใจผิดระหว่างอาหารเม็กซิกันกับอาหารประเภท Tex-Mex

ในประเทศเม็กซิโก มีสินค้าที่ได้รับการปกป้องแหล่งต้นกำเนิดประเภท Denomination of Origin 13 ประเภท โดยเหล้าเตกีลา เป็นสินค้าที่มีความสำคัญและได้รับการพัฒนาในด้านการปกป้องต้นกำเนิดที่ก้าวหน้าที่สุด องค์กรจากประเทศเม็กซิโกที่เป็นสมาชิกกลุ่ม oriGIn มี 3 องค์กร คือ สภาผู้ผลิตพริก (Comité Estatal Sistema Producto Chile del Estado de Yucatán A.C.) สภาควบคุมมาตรฐานกาแฟ(Consejo Regulador Café Veracruz) และสภาควบคุมมาตรฐานเตกีลา (Consejo Regulador del Tequila-CRT)

ประเทศอิตาลี

Mr. Ricardo Desserti ตัวแทนกระทรวงเกษตรอิตาลี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารแจ้งข้อมูลกับผู้บริโภค เกี่ยวกับคุณค่าของ GIs ที่มีคุณค่านอกเหนือจากคุณค่าของคุณภาพอาหาร แต่รวมถึงการอนุรักษ์มรดกของชุมชนและท้องถิ่นอีกด้วย การส่งเสริมคุณค่าของ GIs จะต้องรักษาการพัฒนาและขยายตัว และไม่ได้มีเป็าหมายเพียงผู้ผลิตที่ใช้ GIs เท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย

ประเทศเปน

Mr. Federico Moncunill จากสมาคมแหล่งกำเนิดสินค้าประเทศสเปน ได้กล่าวถึงความสำคัญของ GIs สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ GIs ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเป็นปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมทั้ง GIs และการท่องเที่ยวร่วมกัน การโฆษณาเกี่ยวกับสินค้า GIs ในประเทศสเปนเน้นการจับต้องอารมย์ของผู้บริโภค (touch emotions) รวมทั้ง ความร่วมมือของเชฟที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาช่วยในการส่งเสริมสินค้าอาหารของสเปน ประเทศสเปนเป็นประเทศที่ได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับการส่งเสริม GIs อย่างมาก เช่น ไวน์ Navarra ขนม nougat จาก Fijon/Alicante ใส้กรอกและชีสประเภทต่าง ๆ เฮม Iberico น้ำมันมะกอก ฯลฯ

ประเทศโคลัมเบีย

Mr. Luis Fernando Samper ได้ยกตัวอย่างการส่งเสริมต้นกำเนิดของกาแฟจากเมือง Nariño ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเมืองที่ห่างไกลเกินความสนใจของนักท่องเที่ยว แต่สามารถประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจของต้นกำเนิดสินค้า โดยการสร้างเวปไซท์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนที่พึ่งรายได้จากการขายกาแฟในเขตนี้ กระบวนการที่ใช้ และความสำคัญของภูมิประเทศ ในลักษณะที่นำเสนอ virtual tour เกี่ยวกับเมือง Nariño ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงความสำคัญของต้นกำเนิดสินค้า

กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของไวน์ Napa Valley แคลิฟอร์เนีย และ Champagne จากฝรั่งเศส

การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GIs สำหรับเหล้าและไวน์มักจะมีปัญหาต่าง ๆ นานา อาทิ การปลอมแปลงสินค้า (counterfeiting) หรือการลักลอบขาย (piracy) ยกตัวอย่างเหล้า Champagne จากฝรั่งเศส ที่มียอดขาย 319.5 ล้านขวดใน 195 ประเทศในปี 2010 องค์การ Interprofessional Committee of Wine of Champagne ได้ห้ามการใช้ชื่อ California Champagne และห้ามการใช้ชื่อ Champagne ในสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น น้ำหอม ขนม รองเท้า ฯลฯ รวมทั้งได้ทำการสืบสวนและทำลายสินค้าที่ปลอมแปลง ระหว่างปี 2008-2010 ได้มีการปลอมเหล้าแชมเปนถึง 600,000 ขวด มูลค่าประมาณ 1 ล้านยูโรที่มาเฟียในอิตาลีพยายามที่จะขายในตลาดยุโรป

ส่วนในสหรัฐฯ นั้น ผู้ผลิตไวน์จากพื้นที่ Napa Valley ได้แสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอ เพื่อการจดทะเบียนการปกป้องการใช้เครื่องชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับการใช้ชื่อ Napa Valley และได้รวมตัวกันโดยอิสระเพื่อการรักษาคุณภาพและการปกป้องคุณค่าของการใช้ชื่อดังกล่าว โดยการฟ้องร้องกับศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ให้ห้ามผู้ผลิตอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ให้ใช้ชื่อนี้อย่างเด็ดขาด

กรณีตัวอย่างผลิตภัณฑ์เกษตร California Prune

สมาคม Prune Bargaining Association ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก 800 คน พื้นที่เพาะปลูก 60,000 เอเกอร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตากแห้ง 20 ราย และผู้บรรจุและจำหน่าย 20 ราย ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและโลโก้สำหรับ California Prunes โดยสมาคมดังกล่าวติดตามตรวจสอบคุณภาพของสินค้าพรุนที่ใช้ตราดังกล่าว เพื่อการคงรักษาระดับมาตรฐานของผู้ใช้ตราและได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในปีหนึ่งที่ผลผลิตลูกพรุนในแคลิฟอร์เนียไม่เพียงพอเพื่อการบรรจุขายและมีความจำเป็นต้องนำเข้าลูกพรุนจากแหล่งอื่นๆ สมาคมฯ ได้ระงับการใช้คำว่า “California” ในการบรรจุสินค้า สมาคมฯ ได้ค้นพบว่า มีประเทศที่สามได้พยายามปลอมแปลงการใช้ตราของ California Prunes โดยการใช้ California Plums แทน

สรุปปัญหาสำคัญในการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยสรุปแล้ว อุปสรรคปัญหาสำคัญของการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ความจำเป็นในการรักษาการลงทุนเพื่อการส่งเสริมและการตลาด การขาดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือดังกล่าว การรักษาระดับการผลิตของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด การแบ่งแยกประเภทของสินค้าที่ใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้มีความหลากหลาย และความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้เครื่องบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

Declaration of Guadalajara

OriGIn ได้ประกาศแถลงการณ์ผลการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องตราชื่อแหล่งกำเนิดสินค้าและการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Declaration of Guadalajara) ที่มีข้อความสำคญคือ
  • การประท้วงและเรียกร้องต่อ Internet Corporation for Assigned Names and Numbers (ICANN) และ WIPO เกี่ยวกับการจดทะเบียนใช้ชื่อโดเมนในอินเตอร์เน็ต โดยผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ GIs ที่ถูกต้อง ให้แก้ไขกฎระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด cyber squatting และควบคุมการใช้ชื่อโดเมนที่มีผลกระทบต่อสินค้า GIs อย่างถูกต้อง 
  • เรียกร้องและรณรงค์ให้มีโครงการพัฒนาที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาให้หันมาใช้ GIs เพื่อการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นที่กลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพในการพัฒนาอีกมาก 
  • เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศ มีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานสินค้า GIs แบบ voluntary standards ให้เป็นระบบมากขึ้น 
สมาชิกของกลุ่ม oriGIn ได้แก่ บราซิล บูคินาฟาโซ แคนาดา จีน โคลัมเบีย โครเอเชีย คิวบา ฝรั่งเศส เยอรมัน กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินเดีย อิตาลี จาเมคา เคนยา มองโกเลีย มอร็อคโก เม็กซิโก เปรู โปรตุเกส สเปน สวิสเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐ และเวเนซูเอลา

ความหมายของ”สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications หรือ GI) จาก http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_content&task=view&id=291&Itemid=248
“สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้ แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น มีดอรัญญิก ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ คอนยัค เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าวคุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ”
ข้อมูลเพิ่มเติม 
http://www.crt.org.mx/
http://www.origin-gi.com/index.php?option=com_content&view=article&id=214:29-30-september-2011-origin-v-general-assembly-and-international-conference&catid=13:origin-events&Itemid=116&lang=en

Wednesday, September 21, 2011

PAACE Automechanika 2011

งานแสดงรถยนต์ PAACE Automechanika 2011

ตัวแทนำจำหน่ายและผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ในประเทศเม็กซิโกได้ร่วมกับบริษัทจัดงานแสดงสินค้า Messe Frankfurt จัดงานแสดงสินค้า PAACE Automechanika 2011 ที่ศูนย์แสดงสินค้า Centro Banamex กรุงเม็กซิโก เมื่อวันที่ 18 -20 กรกฎาคม 2011 ได้มีบริษัทที่ผู้เข้าร่วมงานแสดงฯ 800 กว่าบริษัทจากในและต่างประเทศ และมีผู้เข้าชมงานแสดงฯ ประมาณ 21,000 คน

ผู้อำนวยการงานแสดงฯ นาย Eugene Carrillo ได้รายงานข่าวว่า งานในปีนี้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายจำนวนผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน และจำนวนผู้เข้าชมงาน ทั้งนี้ ได้มีการแสดงสินค้าและเสนอเทคโนโนโลยี่เกี่ยวกับรถยนต์ใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น การแสดงตัวอย่างรถ Beetle รุ่นใหม่ของบริษัท Volkswagen และการแสดงสินค้าใหม่ ๆ ของบริษัท Brembo, Bujías NGK, Denso, DAI, Gonher และ Robert Bosch เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว งานแสดง PAACE Automechanika ปีนี้ ได้มีการจัดอบรมประเภทต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้เข้าร่วมงานที่ส่วนใหญ่จะเป็นช่าง วิศวกร หรือคนงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสหากรรมรถยนต์ในเม็กซิโก อีกทั้ง  ยังได้สร้างโอกาศให้แก่นักธุรกิจในภาคดังกล่าว ได้พบปะ เจรจา และหาโอกาสการค้ามากมาย 

Auto Market in Costa Rica

ตลาดรถยนต์ในคอสตาริกา และข้อมูลบริษัท Purdy Motors

ตลาดจำหน่ายรถยนต์ในคอสตาริกา

ในปี 2010 คอสตาริกาได้นำเข้ารถยนต์จำนวน 23,468 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.68 จากปี 2009 ที่มีการนำเข้ารถยนต์รวม 16,801 คัน ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้ารถยนต์ที่ลดลง เนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อยละ -50.02 จากปี 2008 ที่ได้มีการนำเข้ารวม 33,394 คัน

รถยนต์ที่เป็นที่นิยมในประเทศคอสตาริกาได้แก่ ยี่ห้อ Toyata, Nissan, Hyundai, Mitsubishi, Kia, Honda, Daihatsu, Isuzu, Mazda, Hino และอื่น ๆ จากข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเมษายน ปี 2010 สามารถแยกส่วนแบ่งตามประเภทของรถยนต์ที่ขายได้ในตลาดคอสตาริกาเป็น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ร้อยละ 39 รถยนต์ประเภท SUV ร้อยละ 37 รถกระบะ ร้อยละ 12 รถบรรทุก ร้อยละ 5 และรถเมล์เล็ก ร้อยละ 3


ข้อมูลบริษัท Purdy Motors

บริษัท Purdy Motors ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1957 โดยเป็นตัวแทนการขายรถยนต์ให้กับบริษัทโตโยต้า ในปัจจุบันยี่ห้อที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายได้แก่ ยี่ห้อโตโยต้า ไดฮัตสุ ฮีโน่ และเล็กซัส เครือข่ายของร้านให้บริการรักษาและซ่อมแซมรถยนต์ที่มีอยู่ประมาณ 700 แห่ง เป็นธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ นอกจากการขายและบริการรถยนต์ในคอสตาริกาแล้ว บริษัท Purdy Motors ยังบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ด้านการบริการถยนต์ที่มีชื่อว่า MIDAS ทั่วภูมิภาคอเมริกากลางอีกด้วย

ในปี 2009 บริษัท Purdy Motors ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่ม Codaca ซึ่งเป็นผู้ประกอบรถบรรทุกยี่ห้อฮีโน่ในประเทศกัวเตมาลา มูลค่าการลงทุนประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเปิดตัวแทนการจำหน่ายรถบรรทุกยี่ห้อฮีโน่ในรัฐ Chihuahua ประเทศเม็กซิโก

ในปี 2010 บริษัท Purdy Motors มียอดขายรถยนต์ (ทั้งรถเก่าและใหม่) รวม 6,309 คัน หรือประมาณร้อยละ 27 ของยอดขายรถยนต์รวมในคอสตาริกา และสำหรับช่วงเดือน มค.-เม.ย. ปี 2011 ได้มียอดจำหน่ายรถยนต์รวม 2,136 คัน

ในปี 2011 บริษัท Purdy Motors ได้ขยายการลงทุน มูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายเครือข่ายการจำหน่ายรถยนต์ที่เมือง Pérez Zeledón ในภาคเหนือของประเทศคอสตาริกา

บริษัท Purdy Motors ได้ประเมินมูลค่าของตลาดสำหรับการจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ในคอสตาริกา ว่ามีมูลค่าประมาณ 60 ล้านเหรียญต่อปี


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.toyotacr.com/main.html
http://www.centralamericadata.com/es/article/home/Purdy_Codaca_Motor_vendera_camiones_Hino_en_Mexico


Wednesday, September 7, 2011

Eco-Labelling in Mexico

ตรารับรองมาตรฐานสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม ในเม็กซิโก

การออกตรารับรองมาตรฐานสินค้าและบริกการด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ‘eco-labelling’ เป็นมาตรการด้านการตลาดที่สำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าสามารถใช้ในการสร้างความเชื่อมมั่นให้แก่ผู้ซื้อหรือบริโภคในคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ในประเทศเม็กซิโก การออกตรารับรองประเภท eco-labelling มีชื่อเรียกที่แตกต่างจากสหรัฐฯ และแคนาดา เช่น Eco Certificación Ambiental, Etiqueta Ecologico หรือ Sello Verde เป็นต้น การออกตรารับรองมาตรฐานสินค้าหรือบริการด้านสิ่งแวดล้อมในเม็กซิโก ส่วนใหญ่เป็นกระบวนการที่ผู้ผลิตสินค้ายินยอมสมัครใจแสวงหาการรับรอบมาตรฐานมาใช้ด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นกระบวนการที่กำหนดบังคับไว้ในกฏหมายใด ๆ

รายงานการศึกษาของ Commission for Environmental Cooperation ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในกรอบความตกลงนาฟต้าได้แจ้งว่า ตราด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้ในเม็กซิโกมีทั้งหมด 64 ตรา โดยมี 11 ตราหมายที่มีต้นกำเนิดจากเม็กซิโกเอง และส่วนที่เหลือเป็นตรารับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่มีต้นกำเนิด หรือองค์กรผู้ออกตรารับรองจากประเทศอื่น ๆ อีก 11 ประเทศ ซึ่งรวมหลายตราหมายจากสหรัฐฯ ยุโรป และอเมริกาใต้

หมวดสินค้าที่มีการใช้ตรารับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในเม็กซิโก ได้แก่ สินค้าและบริการในภาคการก่อสร้าง สินค้าและบริการด้านพลังงาน สินค้าอาหารประเภทออร์แกนนิกส์ สินค้าอาหารประเภทอื่นๆ คุณภาพของบุคคลากร สินค้าขายปลีก ธุริกจยั่งยืน สิ่งทอ และการท่องเที่ยว เป็นต้น

ตรามาตรฐานสิ่งแวดล้อมในเม็กซิโก


ตรามาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่องค์กรภายในเม็กซิโกเป็นผู้กำหนด ตรวจสอบและรับรอง ได้แก่
  • FIDE เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.fide.org.mx 
  • FOMCEC เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านวัฒธรรมนิเวศวิทยา องค์กรที่รับผิดชอบคือ FOMCEC และ ITESM 
  • CERTIMEX เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ประมง และป่าไม้ องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.certimexsc.com 
  • Sello Verde เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่รักษาสิ่งแวดล้อม องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.sma.df.gob.mx 
  • Comercio Justo เป็นมาตรฐานสำหรับสินค้ายุติธรรม องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.comerciojusto.com.mx 
  • Cumpliemiento Ambiental เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.profepa.gob.mx 
  • Excelencia Ambiental เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.profepa.gob.mx 
  • Industria Limpia เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.profepa.gob.mx 
  • Calidad Ambiental Turistica เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.profepa.gob.mx 
  • Certificacion de Sustentabilidad en Ecoturismo เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.imnc.org.mx 
  • Playa Certificada เป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว องค์กรที่รับผิดชอบคือ www.imnc.org.mx 
ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในเม็กซิโก

รัฐบาลของเม็กซิโกให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยการยอมรับและนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดในระดับสากลมาปฏิบัติใช้ โดยรัฐบาลเม็กซิกันได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วในสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกยังได้มีบทบาทนำในการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ในการเจรจาการควบคุมการปล่อยแก๊ซคาร์บอนไดออกไซค์ และการเป็นเจ้าภาพผู้นำประเทศ United Nations Climate Change Conference ในปี 2010 เป็นต้น

เม็กซิโกได้ออกกฏหมายสิ่งแวดล้อม (Ley General del Equilibrium Ecológico y la Protección al Ambiente-LGEEPA) ในปี 1988 ที่มีพื้นฐานที่มาจากข้อปฏิบัติและบังคับของกฏหมายสหรัฐฯ ซึ่งรวมการลงโทษด้านอาญาสำหรับผู้ที่ละเมิดกฏหมายดังกล่าว หน่วยงานรัฐบาลสำคัญของเม็กซิโกที่ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (SEMARNAT) ก่อตั้งเมื่อปี 1982 และกระทรวงการพัฒนาสังคม (SEDESOL) ซึ่งก่อขึ้นตั้งในปี 1959 แต่ได้ขยายงานมาควบคุมสิ่งแวดล้อมในปี 1992 โดยมีอัยการสูงสุดด้านสิ่งแวดล้อม (Procuraduría Federal de Protección al Ambiente) ที่มีอำนาจในการเข้าตรวจสอบกิจการและโรงงานอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการภายใต้กรอบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประกาศใช้โดยสถาบันสิ่งแวดล้อม (INE-Instituto Nacional de Ecologia) ซึ่งได้ออกกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมรวมกว่า 200 ฉบับ มีกองกำลังผู้ตรวจสอบหนึ่งพันกว่าคน และได้ปิดโรงงานไปมากกว่า 400 แห่งแล้วตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา รัฐบาลของเม็กซิโกมีการกำหนดแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม (Programa Sectorial de Medio Ambiente y Recursos Naturales (PSMARN) 2007 – 2012) ระยะเวลา 6 ปีตามวาระของรัฐบาลแต่ละชุด

ในฐานะสมาชิกเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า เม็กซิโกได้ยกระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลง North American Agreement on Environmental Cooperation-NAAEC ที่ได้ก่อตั้งสถาบัน Commission for Environmental Cooperation-CEC ในปี 1994 เพื่อการปรับปรุงสภาวะสิ่งแวดล้อมร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก CEC ได้รายงานการทบทวนภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกเป็นระยะ ๆ และได้กำหนดข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด

นอกจากนี้แล้ว เม็กซิโกยังเป็นภาคีสนธิสัญญา Vienna Convention และ Convention on International Trade in Endangered Species (CITES) และความตกลง Montreal Protocol Agreements for the Protection of the Ozone Layer และ Basel Agreement Regulating the Movement of Hazardous and Household Wastes

การปกป้องสิทธิของผู้บริโภค

ประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ออกกฏหมายเพื่อการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ในปี 1975 และได้เปิดหน่วยงานที่รับการร้องเรียนโดยตรงจากประชาชน ที่มีชื่อว่า Profeco (Procuraduria Federal del Consumidor) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐบาลที่มีอำนาจอิสระจากอัยการสูงสุด ที่สามารถดำเนินการด้านกฏหมายเพื่อการปกป้องการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากธุรกิจที่ที่คตโกง มีที่อยู่การติดต่อคือ

PROFECO
Dirección General de Quejas y Conciliación
Av. José Vasconcelos
No. 208, Colonia Condesa, México 06140, D.F.
Tel: 01-800-468-8722

เอกสารอ้างอิง
 “North American free trade and the environment - environmental provisions of the North American Free Trade Agreement”
Mexico’s clean industry program
Environmental Labels in North America

Wednesday, August 31, 2011

Mexican Motorbikes selling to Latin America

มอเตอร์ไซค์จากเม็กซิโกขยายตลาดไปยังสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา


เมื่อปี 2008 บริษัท Elektra ของ Grupo Salinas แห่งเม็กซิโกได้เริ่มการประกอบมอเตอร์ไซค์ราคาย่อมเยายี่ห้อ Italika ในเม็กซิโกในปริมาณ 300,000 คันต่อปี โดยมีแผนการตลาดคือการขายผ่านเครือร้าน Elektra ที่ให้ลูกค้าผ่อนชำระซื้อสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านที่มี 1,100 แห่งในเม็กซิโก นอกจากนี้แล้ว ยังมีเครือข่ายของร้าน Elektra ในประเทศกัวเตมาลา ฮอนดูรัส เปรู อาร์เจนตินา และบราซิลอีกด้วย รวมทั้งการสั่งซื้อออนไลน์ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบมอเตอร์ไซค์ Italika นำเข้ามาจากประเทศจีนโดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า

ยอดขายมอเตอร์ไซค์ Italika ในตลาดเม็กซิโกมีปริมาณประมาณ 200,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 55 ของตลาดมอเตอร์ไซค์ในเม็กซิโกโดยรวม มอเตอร์ไซค์ Italika มีรูปแบบทั้งหมด 15 รุ่น แบ่งประเภทอย่างคร่าว ๆ ได้ 4 แบบ คือ แบบประหยัด แบบใช้ในงาน แบบสปอร์ และแบบช็อปเปอร์ มีราคาต่ำกว่า 10,000 ถึงสูงสุดประมาณ 21,500 เปโซ มอเตอร์ไซค์ Italika ได้รับการวิจารณ์ว่ามีคุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ความได้เปรียบด้านราคา และการเจาะเข้าถึงตลาดได้โดยตรงผ่านร้านอีเล็คตรอนนิกส์ของ Elektra ที่ให้ความสะดวกในการขอกู้เงินเพื่อการผ่อนชำระซื้อ รวมทั้งการโฆษณาการขายผ่านเครือข่ายโทรทัศน์ Televisa และธนาคาร Azteca ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจ Grupo Salinas ทำให้ประสบความสำเร็จในด้านการตลาดเมื่อเทียบกับมอเตอร์ไซค์ยี่ห้ออื่นๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ


ในปี 2011 บริษัท Italika จะมุ่งการเจาะเข้าตลาดของประเทศบราซิล โดยจะเน้นกลยุทธ์การขายผ่านเครือข่ายของ Walmart นอกเหนือจากเครือของร้านElektra ที่มีอยู่ 50 แห่งในบราซิล โดยการใช้รูปแบบการเสนอเครดิตที่สะดวกสะบายให้การลูกค้าผ่อนชำระ

ประเทศเม็กซิโกมีการนำเข้ามอเตอร์ไซค์ประมาณ 120,000 คันในปี 2009-2010 และในปี 2008 ได้มีการนำเข้าประมาณ 350,000 คัน โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญจากประเทศจีน บราซิล ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ


ยอดขายมอเตอร์ไซค์ในเม็กซิโกมีปริมาณรวมต่อปีประมาณหนึ่งแสนคัน แต่ตลาดภายในประเทศสำหรับปี 2009-2010 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและมียอดขายลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายปกติ โดยในปี 2010 มียอดขายรวมเพียง 66,195 คัน


ยี่ห้อของมอเตอร์ไซค์ที่เป็นที่ยอมรับในเม็กซิโก นอกจาก Italika ได่แก่ ยี่ห้อ BMW, Carabela, Harley-Davidson, Honda, Suzuki, Yamaha และ Bombardier BRP

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.economist.com/node/21526375
http://www.italika.com.mx/
http://www.elektra.com.mx/Elektra/Lineas.aspx?ICLAS=2702
http://www.amia.com.mx/motocicletas.html http://www.prnewswire.com/news-releases/motocicletas-italika-amplia-su-red-de-distribucion-para-incluir-tiendas-chedraui-y-distribuidores-propios-italika-124666968.html

Tuesday, August 30, 2011

Metalsa Autoparts Investment Project in Thailand

การลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยโดยบริษัท Metalsa S.A. de C.V.


บริษัท Metalsa S.A. de C.V. เป็นบริษัทเม็กซิกันที่ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกเบา รถบรรทุกประเภท CUV-SUV และ LCV รวมทั้งรถบบรรทุกขนาดกลางและหนักและรถเมล์

บริษัท Metalsa มีฐานะเป็นซัพพลายเออร์ระดับโลกของโวล์โว มีโรงงานผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ในหลายประเทศ เช่น ที่ประเทศอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา เยอร์มัน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเวเนซูเอลา

ในปี 2011 บริษัท Metalsa มียอกขายมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตสำหรับรถบรรทุกเบา ได้แก่ light duty frames, space frames, cradles, body structures, suspension structures, fuel tanks และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตสำหรับรถโดยสารขนาดใหญ่ และรถบรรทุกหนัก ได้แก่ medium & heavy trucks frames, bus frames, customized side rails & cross members

บริษัท Metalsa S.A. de C.V. เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจเม็กซิกันที่มีชื่อว่า Grupo Proeza ที่กิจกรรมด้านอื่น ๆ เช่น การผลิตน้ำผลไม้ การบริการด้านสารสนเทศ และการบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ รายได้จากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เป็นรายได้สำคัญของ Grupo Proeza โดยมีสัดส่วนของรายได้รวมเท่ากับร้อยละ 80 ตลาดที่สำคัญของบริษัทฯ ได้แก่ ตลาดอเมริกาเหนือหรือนาฟต้า ที่มีสัดส่วนความสำคัญเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวมของบริษัทฯ โดยในปี 2007 มียอดขายในสหรัฐ 370,000 หน่วย และในปี 2009 มียอดขายเท่ากับ 230,000 หน่วย และคาดว่าในปี 2012 จะมียอดขายเท่ากับ 300,000 หน่วย การขยายตัวของยอดขายสำหรับภูมิภาคเหนือในปี 2010 มีอัตราการขยายตัวเท่ากับร้อยละ 10 มากกว่าที่ได้คาดไว้ที่ประมาณ 5-7 และคาดจะขยายตัวอย่างเข้มแข็งต่อไปในปี 2011 และ 2012

สำหรับธุรกิจด้านชิ้นส่วนรถยนต์นั้น ตลาดในประเทศบราซิลมีความสำคัญมากกว่าตลาดในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 55 ของยอดขายรวม โดยบริษัท Metalsa มีโรงงานถึง 2 แห่งในประเทศบราซิล ที่ Campo Largo และที่ Orasco โดยชิ้นส่วนที่ผลิตในบราซิลได้แก่ siderails, frame assembly for commercial vehicles and pickup และ heavy truck assembly lines

จากพื้นฐานความสัมพันธ์เดิมที่บริษัท Metalsa มีกับบริษัทโวล์โว จึงมีความต้องการขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังภูมิภาคเอเชีย โดยผู้บริหารของบริษัท Metalsa ได้เดินทางไปเยือนประเทศไทยเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการเปิดโรงงานใหม่ในประเทศไทยเพื่อการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถบรรทุกขนาดหนักของโวล์โว และสำหรับรถบรรทุกขนาดกลาง หรือ 39 ตัน รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในประเทศไทย

นาย Juan Cortes ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจสำหรับภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และบราซิล ได้รายงานว่า บริษัท Metalsa ได้พิจารณาทั้งโอกาสการลงทุนในประเทศไทยและอินเดีย ซึ่งในประเทศอินเดียนั้น มีตลาดรองรับสินค้าของบริษัทฯ แต่ขาดเทคโนโลยีที่จะนำสินค้าของบรัษัทฯ ไปใช้ต่อ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่บริษัทฯ ประสงค์จะนำมาใช้ในการผลิต แต่มีโอกาสการเปิดตลาดใหม่ ประกอบการการยกเว้นภาษีการนำเข้าวัตถุดิบที่ประเทศไทยส่งเสริมสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นปัจจัยที่ดึงดูดความสนใจของบริษัทฯ

บริษัท Metalsa มีความต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท straight side rail, roll forming, plasma or laser cut, heat treatment, hole punching, paint offset, sequencing, ladder assembly, bolting, torque & weld, sequencing services และ bus modules assembly ซึ่งเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่บริษัทฯ ทำการผลิตอยู่แล้วในประเทศเม็กซิโก สหรัฐ บราซิล และอินเดีย

คาดว่าโรงงานที่จะเปิดในประเทศไทยจะสามารถผลิต 2,820 หน่วย ในปี 2013 จนขยายได้ถึง 13,620 หน่วยในปี 2016 ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าว จะต้องมีเขตพื้นที่ free zone เนื่องจากจะมีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตเพื่อการส่งออก โดยจะมีการนำเข้าเหล็ก และชิ้นส่วนบางประเภท เช่น สี stamping components vase side rail และ steel coils จากประเทศอินเดีย โดยจากปี 2015 เป็นต้นไป โรงงานในประเทศไทยจะทำการผลิต full side rail ได้เอง

โครงการลงทุนของบริษัทฯ คาดว่าจะมีมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสามารถแยกการลงทุนเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงแรก (22.3 ล้านเหรียญฯ ) จะเป็นการลงทุนเพื่อ
  • การซื้อที่ดิน 
  • การก่อสร้างอาคารโรงงาน 
  • การซื้อเครื่องจักร Soenen Punching Equipment 
  • Front & Rear Robotic Cut 
  • Rear Ramp Process 
  • Paint Line 
  • Off Set Stamping Press 
การลงทุนช่วงที่ 2 (7 ล้านเหรียญฯ) จะเป็นเดือนสิงหาคม 2011 เพื่อส่วนที่ติดตั้งระบบ Stamp Roll forming โดยคาดว่า โครงการลงทุนจะเริ่มดำเนินการได้จากการเริ่มการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2013

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม