Google Website Translator

Wednesday, July 13, 2011

Mining in Mexico

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในเม็กซิโก
Mexico Mining (1895-1910), Source: mx.kalipedia.com 

ภูมิหลังอุตสาหกรรเหมืองแร่ในเม็กซิโก

สภาพธรณีวิทยาที่สะสมแร่ธาตุหลากหลายชนิดจากการระเบิดภูเขาไฟในประวัติการณ์ เป็นเหตุให้ประเทศเม็กซิโกมีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการทำเหมืองแร่มาแต่โบราณ อารยธรรมเก่าแก่ก่อนการยึดครองแผ่นดินของชาวสเปนมีความนิยมในแร่ทองสำหรับเครื่องประดับของผู้ปกครอง และการใช้ทองแดงสำหรับการทำอาวุธ แต่การทำเหมืองอย่างเป็นระบบได้ริเริ่มในยุคสมัยของราชอาณาจักรสเปนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะเพื่อการส่งออกแร่เงินไปสมทบเงินคลังของกษัตริย์สเปน

ในช่วงปี 1960-70 รัฐบาลเม็กซิกันได้ควบคุมการผลิตแร่โดยการถือครองความเป็นเจ้าของของเหมืองแร่ทั้งหมด เพื่อผลประโยชน์ด้านรายได้จากการทำเหมืองเพื่อสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาล จนกระทั่งช่วงปี 1980 จึงได้เริ่มขายกิจกรรมการทำเหมืองแต่คืนให้แก่ภาคเอกชน

พื้นที่การทำเหมืองแร่ในเม็กซิโก กระจุกตัวในพื้นที่ภาคกลางออกไปทางเหนือเล็กน้อย 3 อันได้แก่ รัฐโซโนรา ซากาเต็กกัส ชิวาวา ดูรังโก โคว์วิลลา และซานลุยโปโตซี

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเหมืองแร่

รัฐธรรมนูญของเม็กซิโกกำหนดว่า แร่ธาตุทุกประเภทที่ขุดค้นพบในผืนแผ่นดินเม็กซิกันเป็นทรัพสมบัติแห่งชาติ ได้รับการควบคุมโดยกฏหมายการลงทุน หน่วยงานที่ควบคุมภาคเหมืองแร่ ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ Secretaría de Economía และกระทรวงทรพัยากรและสิ่งแวดล้อม Secretaría de Medio Ambiente y Recursos Naturales (SEMARNAT) โดยรัฐบาลของเม็กซิโกอนุมัติให้ภาคเอกชนรับสัมปทานเพื่อการสำรวจขุดเจาะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นเฉพาะสำหรับน้ำมัน แร่กัมมันตรังสี และเกลือ อายุของสัมปทานการสำรวจเหมืองแร่มีอายุ 6 ปี และไม่สามรถต่ออายุได้ อายุของสัมปทานการขุดเหมืองแร่มีอายุ 50 ปี ซึ่งต่ออายุได้อีก 50 ปี จึงนับว่าเป็นสภาพแวดล้อมสำหรับการทำเหมืองที่เอื้ออำนวยกิจกรรมการทำเหมือง

นอกจากหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองได้รวมตัวกันในรูปสภาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ Mexican Chamber of Mines (CAMIMEX).และสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ ผู้ชำนายด้านโลหกรรมและนักธรณีวิทยา Association of Mining Engineers, Metallurgists and Geologists of Mexico และมีการเปิดเผยผลสำรวจสภาพธรณีวิทยา Mexican Geological Survey ให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและต่างชาติที่มีความสนใจทำการสำรวจหาแหล่งการทำเหมือง

ความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหมืองแร่ในเม็กซิโก

ในปี 2010 เม็กซิโกมีความสำคัญในการผลิตแรเงิน และทองคำเพิ่มขึ้น โดยได้แซงหน้าการผลิตเงินของเปรู กลายเป็นผู้ผลิตเงินที่สำคัญที่สุด นอกจากแร่เงินแล้ว เม็กซิโกยังเป็นผู้ผลิตอันดับสองของโลกสำหรับการผลิตแร่บิสมัท และ fluorspar ในปี 2008 เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 สำหรับ fuller’s earth และ strontium อันดับ 6 สำหรับแร่เหล็ก สังกะสี แคดเมียม เบไรท์ กราฟไฟท์ และ เพอร์ไลท์ อันดับ 7 สำหรับการผลิตสารหนู ไดโทไมท์ โมลิปดินัม ปูนขาว ยิปซัมและเกลือ อันดับ 8 สำหรับการผลิตแมงกานีส และอันดับ 10 สำหรับการผลิตเฟล์ดสปาร์ และกำมะถัน อันดับ 11 สำหรับการผลิตดินและกรวด อันดับ 12 สำหรับการผลิตซีเมนต์ และทองแดง

ถึงเม้ว่ามูลค่าของรายได้จากภาคเหมืองแร่จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ของผลผลิตแห่งชาติ แต่รายได้จากการส่งออกแร่ เป็นรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญเป็นอันดับสามรองจากการส่งออกน้ำมัน และการรับโอนเงินกลับจากต่างประเทศ และมากกว่ารายได้จากการท่องเที่ยว ประธานสภาเหมืองแร่งแห่งเม็กซิโกได้ประมาณการรายได้จากภาคเหมืองแร่สำหรับปี 2010 ว่าจะมีมูลค่าเกิน 13 พันล้านเหรยีญสหรัฐ ทั้งนี้ การลงทุนในภาคเหมืองแร่ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่าน ๆ มา โดยในช่วงระหว่างปี 2007-12 คาดว่ามูลค่าการลงทุนรวมสำหรับภาคเหมืองแร่จะเท่ากับ 21 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีการจ้างแรงงานประมาณ 2.9 แสนคน โดยปี 2008 ภาคเหมืองแร่ในเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตการณ์การเงิน และราคาของแร่หลายประเภทที่ลดลง เป็นผลให้มีการยกเลิกการแรงงานประมาณ 14,000 คน

แร่เงิน

เดิมเม็กซิโกเป็นผู้ผลิตแร่เงินเป็นอันดับสองของโลกรองจากเปรู แต่ในปี 2010 ผลผลิตเงินของเม็กซิโกมากกว่าของเปรู เนื่องจากการเปิดเหมืองใหม่ ปริมาณการผลิตเงินในปี 2010 เท่ากับ 141.8 ล้านออนซ์ (4,411 ตัน) บริษัทผู้ผลิตแร่เงินที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ บริษัท Fresnillo Plc. ผลผลิตแร่เงินของบริษัทฯ ในปี 2010 เท่ากับ 35.9 ล้านออนซ์ ในปี 2010 เม็กซิโกได้ส่งออกแร่เงินเป็นมูลค่า 2.54พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปี 2009 ร้อยละ 80

เม็กซิโกได้เพิ่มการผลิตแร่เงินอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาโดยมีอัตราเฉลี่ยการขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี โดยในปี 2009 มีผลผลิตแร่เงินปริมาณ 3,553 ตัน เพิ่มจากปี 2008 ร้อยละ 9 ปริมาณผลผลิตเงิน 3,236 ตัน และสภาเหมืองแร่แห่งเม็กซิโกได้คาดว่า จะมีการขยายการผลิตแร่เงินใน 5 ปีข้างหน้าในอัตราร้อยละ 14

พื้นที่การทำเหมืองเงินที่สำคัญของเม็กซิโกอยู่ในพื้นที่ของรัฐ Zacatecas, Durango, Chihuahua, Guanajuato และ Queretaro เหมือง Fresnillo ของบริษัท Fresnillo Plc. ในรัฐ Zacatecas เป็นแหล่งแร่เงินที่ให้ผลผลิตเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณ 33.5 ล้านออนซ์ ในปี 2010 ได้มีการเปิดเหมืองใหม่ Peñasquito โดยบริษัท Goldcorp ในรัฐ Zacatecas ที่มีกำลังการผลิตแร่เงิน 28 ล้านออนซ์ เพิ่มจากการผลิตแร่ทองคำ สังกะสีและเหล็ก เหมืองเงินที่สำคัญรองลงมาได้แก่ เหมือง Tayuhua ผลผลิต 4 ล้านออนซ์ La Colorada ผลผลิต 3.96 ล้านออนซ์ Tizapa ผลผลิต 3.95 ล้านออนซ์ ส่วนบริษัทที่ผลิตเงินที่สำคัญนอกจาก Fresnillo Plc. มีบริษัท Industrias Penoles และกลุ่ม Grupo Mexico

แร่ทองคำ

ประเทศเม็กซิโกมีแหล่งแร่ทองคำสำรองปริมาณ 1,400 ตัน และในปี 2010 มีผลผลิตปริมาณ 72.6 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่เพิ่มจากปี 2009 ที่ผลิตได้ 62 ตัน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้อยรายที่สามารถขยายการผลิตได้ในปริมาณมาก การส่งออกทองคำในปี 2009 มูลค่าการส่งออกแร่ทองคำในปี 2010 เท่ากับ 5.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากปี 2009 ร้อยละ 44

สภาเหมืองแร่แห่งเม็กซิโกได้คาดว่า การผลิตแร่ทองคำจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 30 ใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากการสำรวจและการเปิดเหมืองใหม่เพิ่มขึ้น

การผลิตทองคำในเม็กซิโกมาจากเหมืองแร่ 18 แห่ง เป็นผลพลอยได้ข้างเคียงจากการขุดเหมืองเงินและทองแดง เหมืองแร่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ของรัฐ Sonora, Durango และ Chihuahua เหมืองแร่ที่ผลิตทองคำได้มากที่สุดคือ เหมือง La Herradura ในรัฐ Sonora รองลงมาได้แก่ เหมือง La Cienega ที่รัฐ Durango บริษัทเหมืองแร่ที่ผลิตทองที่สำคัญที่สุดได้แก่ บริษัท Industrias Penoles, Goldcorp, Luismin และ Dowa Mining

แร่ตะกั่วและสังกะสี

ผลผลิตแร่ตะกั่วทั่วโลกในปี 2010 มีปริมาณรวม 4 .09 ล้านตัน ในปี 2010 เพิ่มจากปี 2009 ร้อยละ 6.2 โดยมีประเทศผู้ผลิตที่เพิ่มกำลังการผลิตอันได้แก่ ประเทศจีน เม็กซิโก และรัสเซีย ซึ่งเพิ่มการผลิตได้มากกว่าส่วนที่ได้ลดหายไปจากประเทศไอร์แลนด์ เปรูและสหรัฐฯ ราคาตะกั่วโลกในปี 2010 มีราคาเฉลี่ย 0.97 เซ็นต์ตอลิบรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากปี 2009 การผลิตแร่ตะกั่วในประเทศม็กซิโกในปี 2010 มีปริมาณ 192,620 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 78 ผู้ผลิตแร่ตะกั่วที่สำคัญสำหรับเม็กซิโกมาจากเหมือง Peñasquito ของบริษัท Goldcorp Inc.

สำหรับแร่สังกะสีนั้น ได้มีผลผลิตรวมทั่วโลก 12.3 ล้านตันในปี 2010 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากปี 2009 เนื่องจากการเพิ่มผลผลิตของประเทศจีน ออสเตรเลีย อินเดีย เม็กซิโก และรัสเซีย ผลผลิตของประเทศเม็กซิโกในปี 2010 มีปริมาณเท่ากับ 570,000 ตัน โดยมีผลผลิตสำคัญมาจากเหมือง Peñasquito ของบริษัท Goldcorp Inc. แต่บริษัทผู้ผลิตแร่สังกะสีที่สำคัญของเม็กซิโกได้แก่ บริษัท Industrias Peñoles

แร่ทองแดงและโมลิบดินัม

เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตทองแดงเป็นอันดับ 12 ของโลก และมีผลผลิตแร่ทองแดงในปี 2010 เท่ากับ 270,136 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปี 2009 ผู้บริโภคแร่ทองแดงที่สำคัญของโลกได้แก่ ประเทศจีนและอินเดีย ที่นับวันมีความต้องการแร่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอีเล็กทรอนนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า เหมืองทองแดงที่สำคัญของเม็กซิโก ได้แก่ เหมือง Cananea ที่ได้หยุดการผลิตมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว เนื่องจากความขัดแย้งกับสหภาพแรงงาน ได้เปิดทำการผลิตใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2010 โดยคาดว่าจะเร่งกำลังการผลิตได้เต็มกำลังในต้นปี 2011 และได้รับการลงทุนปรังปรุงเหมืองเพื่อขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวหนึ่งสำหรับระยะ 5 ปีข้างหน้า ในปี 2011 นั้นมีบริษัทเหมืองแร่ทองแดง 3 แห่งที่ลงทุนขยายการผลิตเป็นมูลค่ารวม 3,884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อการเพิ่มกำลังการผลิตรวม 525 ล้านตัน

สำหรับแร่โมลิบดินัมนั้น เม็กซิโกมีผลผลิตในปี 2010 เท่ากับ 10,846 ตัน เพิ่มจากปี 2009 ร้อยละ 6.7 ทั้งนี้ราคาของแร่โมลิดิบนัมที่ 10.91 เหรียญฯ ต่อลิบรา ในปี 2010 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับราคาในปี 2009 เหมืองผลิตโมลิบดีนัมที่สำคัญในเม็กซิโก ได้แก่ เหมือง La Caridad ของบริษัท Mexicana de Cobre ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม Grupo Mexico ในปี 2010 นั้น กลุ่ม Grupo Mexico ได้ขยายกำลังการผลิตแร่โมลิบดินัม โดยการเปิดเหมืองใหม่ในพื้นที่ Cananea ซึ่งจะมีกำลังการผลิตแร่โมลิบดินัมเท่ากับ 2,000 ตันต่อไป

ถ่านหิน

ได้มีการคาดคะเนปริมาณถ่านหินสำรองของเม็กซิโกในปี 2007 ว่ามีปริมาณรวม 1,211 ล้านตัน โดยมีแหล่งสำคัญอยู่ในรัฐโควิลล่า เม็กซิโกมีผลผลิตแร่ถ่านหินในปี 2010 รวม 14,286 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2009 ร้อยละ 9.5 ผลผลิตดังกล่าวนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ มีสัดส่วนผลผลิตเทียบกับความต้องการใช้ถ่านหิน (ประมาณ 7 ล้านตัน)ได้ร้อยละ 58 ส่วนที่ขาดแคลนนั้นต้องนำเข้าจากประเทศสหรัฐฯ แคนาดา โคลัมเบีย และออสเตรเลีย เป็นสำคัญ ผู้ผลิตถ่านหินที่สำคัญของเม็กซิโกเป็นบริษัท Mission Energy จากสหรัฐฯ ซึ่งได้ซื้อกิจการเหมืองถ่านหินจากบริษัท Minera Carbonifera Rio Escondido (MICARE) ซึ่งเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ และได้รับการแปรูปให้ภาคเอกชนลงทุนซื้อเมื่อปี 1992

การลงทุนด้านเหมืองแร่ในเม็กซิโก

สภาอุตสาหกรรมเหมืองแร่แห่งเม็กซิโกได้คาดคะเนว่า ภาคเหมืองแร่จะขยายตัวต่ออย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 6.43 ในระยะเวลา 5 ปีจากปี 2011 เป็นต้นไป โดยจะมีมูลค่ารวมประมาณ 156.6 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2015 ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาโครงการสำรวจแร่ที่แนวหน้าหลายร้อยโครงการทั่วประเทศเม็กซิโก ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากความต้องการแร่ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน และการลงทุนจากต่างประเทศด้านเหมืองแร่ที่เพิ่มขึ้น ในปี 2010 เม็กซิโกเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจในการสำรวจขุดเจาะเหมืองแร่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ หรือเทียบได้เท่ากับร้อยละ 6 ของการลงทุนด้านเหมืองแร่โลกในปี 2010 เป็นมูลค่า 641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทด้านเหมืองแร่ที่สำคัญของเม็กซิโก

Grupo Mexico เป็นบริษัทเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก เป็นบริษัทผู้ผลิตแร่ทองแดงที่สำคัญเป็นอันดับสามของโลก เป็นผู้ผลิตแร่โมลิบดินัมเป็นอันดับสอง เป็นผู้ผลิตอันดับที่สี่สำหรับแร่เงิน และเป็นผู้ผลิตอันดับที่แปดสำหรับแร่สังกะสี กลุ่มเม็กซิโกมีแหล่งเหมืองแร่สำคัญในรัฐโซโนรา ซานหลุยโปโตซี และชิวาวา มีเหมืองรวมทั้งสิ้น 13 แห่ง เหมืองแร่ทองแดงที่สำคัญมีชื่อว่า เหมือง Cananea เป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนในผลผลิตแร่ทองแดงเป็นร้อยละ 87.5 ของผลผลิตแร่ทองแดงทั้งประเทศ ผลผลิตทองแดงของกลุ่มเม็กซิโกในปี 2010 มีปริมาณรวมประมาณ 7 แสนตัน มีการลงทุนในการขุดทองแดงในประเทศเปรูกับบริษัท Southern Copper Corporation และในสหรัฐฯ กับบริษัท ASARCO รัฐอาริโซนา นอกจากนี้แล้ว กลุ่มเม็กซิโกยังมีธุรกิจด้านการเดินรถไฟ (Ferromex) อีกด้วย รายได้ของกลุ่มฯ โดยรวมในปี 2010 มีมูลค่า 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลกำไร 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Industrias Penoles, S.A. de C.V เป็นผู้ผลิตแร่เงินที่สำคัญในระดับโลก นอกจากแร่เงินแล้วยังมีผลผลิตที่สำคัญสำหรับแร่บิสมัทและโซเดียมซัลเฟต แหล่งที่ตั้งของเหมืองอยู่ที่รัฐโซโนร่า ชิวาวา ฮวนาวัตโต ซาคาเต็กกัส และเกเรโร่ มีบริษัทในเครือกว่า 50 บริษัท และจ้างงานประมาณหมื่นคน เหมืองที่สำคัญที่สุดของบริษัทฯ ได้แก่ เหมือง Fresnillo ในรัฐซาคาเต็กกัส

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Secreteria de Economia
http://www.camimex.org.mx/index.php
USGS Minerals Commodity Summaries 2011 (US Geological Survey)
http://www.infomine.com/countries/SOIR/mexico/welcome.asp
http://www.prlog.org/11548678-new-market-research-report-mexico-mining-report-2011.html

No comments: