Google Website Translator

Monday, April 30, 2012

Mexico's Pet Food Imports Procedures

ขั้นตอนการนำเข้าอาหารสัตว์ในเม็กซิโก 

เม็กซิโกไม่ยอมรับการนำเข้าอาหารสัตว์จากไทยโดยตรง เนื่องจากกระทรวงเกษตร-ปศุสัตว์และการประมงเม็กซิโก (SAGARPA) ถือว่า มาตรฐานการตรวจสอบสุขภาพสัตว์ (zoo sanitary code) ระหว่างไทยและเม็กซิโกแตกต่างกัน หรือยังได้รับการรับรองมาตรฐานร่วมกัน และโดยที่การควบคุมเกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์-สารเคมี-สารชีวภาพ-ยา และผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับการเลี้ยงสัตว์ อยู่ภายใต้กฎระเบียบมาตรฐานสุขภาพสัตว์ในเม็กซิโก ฉะนั้น การค้การผลิตและการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ สารเคมี-สารชีวภาพ หรือยาที่ใช้กับสัตว์ รวมทั้งการนำเข้าสัตว์เป็นของไทยไปยังเม็กซิโก จึงไม่สามารถทำการส่งออกจากไทยไปยังเม็กซิโกได้โดยตรง แต่จะต้องทำการนำเข้าผ่านสหรัฐอเมริกา โดยสินค้า/สัตว์ดังกล่าว จะต้องมีเอกสารรับรองสุขภาพสัตว์ที่ถูกต้องจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ การส่งออกอาหารสัตว์จากไทยผ่านสหรัฐฯ จะได้รับการตีฉลากที่ถูกต้องตามมาตรฐานอาหารสัตว์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับสำหรับเม็กซิโก 


ข้อกำหนดมาตรฐานสุขภาพสัตว์ของเม็กซิโก อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานมาตรฐานและสุขอนามัยอาหารสัตว์ (SENASICA) ของกระทรวงเกษตร-ปศุสัตว์และการประมงเม็กซิโก (SAGARPA) ได้แจ้งแนวทางเกี่ยวกับการนำอาหารสัตว์เข้าเม็กซิโกผ่านสหรัฐฯ ดังนี้ 
  1. ผู้นำเข้าต้องแสดงใบรับรองมาตรฐานสุขอนามัยอาหารสัตว์ของประเทศต้นกำเนิดสินค้า ที่แจ้งชื่อที่อยู่ของผู้ส่งออกและชื่อผู้นำเข้าสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องแนบเอกสารที่รับรองว่าสินค้าอาหารสัตว์นำเข้านั้น ไม่มีส่วนประกอบโปรตีนสัตว์เคี่ยวเอื้อง (ruminant) หรือส่วนประกอบของสัตว์เคี่ยวเอื้องใดๆ ทั้งนี้ เม็กซิโกห้ามการนำเข้าเนื้อสัตว์หรือส่วนประกอบของสัตว์เคี่ยวเอื้องทุกอย่าง หากสินค้าอาหารสัตว์นำเข้ามีส่วนประกอบของเนื้อไก่ ต้องมีการรับรองว่าส่วนประกอบเนื้อไก่ดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการความร้อนขั้นต่ำ 115 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 30 นาที และต้องรับรองว่า สินค้าอาหารสัตว์ที่นำเข้านั้นๆ ไม่ได้สัมผัสกับสัตว์หรือสินค้าที่ติดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายใดๆ 
  2. ผู้นำเข้าจะต้องมีตัวอย่างสินค้าให้หน่วยงานของเม็กซิโกสามารถทำการตรวจสอบคุณภาพได้ 
  3. เมื่อหน่วยงานตรวจสอบของเม็กซิโกได้แจ้งผลการตรวจสินค้าผ่านแล้ว ผู้นำเข้าจะต้องขอหมายเลขทะเบียนอนุมัติการนำเข้าสินค้า ที่ระบุวันที่ได้รับอนุมัติสินค้ากับ SENASICA/SAGARPA 
  4. ผู้นำเข้าจะต้องขอจดทะเบียนกิจการเป็นผู้นำเข้าอาหารสัตว์ กับกองทะเบียน DSCP-SENASICA 
  5. ในกรณีย์ที่อาหารสัตว์นำเข้ามีส่วนประกอบของไขมันของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant) ผู้นำเข้าต้องแสดงสำเนาใบแจ้งการตรวจคุณภาพจากหน่วยงานอิสระที่รับรองว่ามีส่วนเจือปนไขมันของสัตว์เคี้ยวเอื้องน้อยกว่าร้อยละ 0.15 
  6. เอกสารประกอบอื่น ๆ ได้แก่ 

  • ใบรับรอง zoo sanitary certificate ที่แจ้งข้อกำหนดทางเทคนิคที่ระบุ ส่วนประกอบและสัดส่วนส่วนของประกอบ ข้อแจกแจงเกี่ยวกับกระบวนการผลิต และคำอธิบายรูปแบบของสินค้า 
  • ใบรับรองว่าสินค้าอาหารสัตว์ดังกล่าว ได้รับอนุมัติการจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฏหหมายในประเทศต้นกำเนิด 
  • เอกสารจากผู้ส่งออก แจ้งแหล่งต้นกำเนิดสินค้า ประเทศนำปลายทางนำเข้า หมายเลขสินค้าและวันที่ผลิต วันบรรจุสินค้า วันหมดอายุสินค้า หรือวันที่แนะนำการบริโภค 
หน่วยงานมาตรฐานและสุขอนามัยอาหารสัตว์ (SENASICA) ของกระทรวงเกษตร-ปศุสัตว์และการประมงเม็กซิโก (SAGARPA) มีระบบการตรวจสอบเอกสารออนไลน์ สำหรับสุขอนามัยสัตว์และการนำเข้าที่เรียกว่า Módulo de Consulta de Requisitos Zoosanitarios para la importación หรือ MRCRZI ซึ่งเป็นระบบที่ผู้นำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การนำเข้าสัตว์ อาหารสัตว์ สามารถตรวจสอบผ่านอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวเองว่า ต้องเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ประกอบสำหรับใบอนุญาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารสัตว์จากไทยผ่านสหรัฐฯ คือ 098-14-85-THA-USA และกฏระเบียบที่ใช้ควบคุมเรื่องสุขภาพอาหารโดยทั่วไป ได้แก่ NOM-012-ZOO-1993 


เป็นข้อสังเกตได้ว่า ระบบมาตรฐานสุขภาพสัตว์โดยรวมของเม็กซิโก ซึ่งควบคุมสินค้าหลากหลายประเภท มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อเป็นมาตรฐานที่ควบคุมการดำเนินการของผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตสารเคมีสารชีวภาพและยา รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ในเม็กซิโก เพื่อการควบคุมป้องกันการระบาด หรือการติดเชื้อของโรคสัตว์อันตรายเป็นสำคัญ และการควบคุมการนำเข้าอาหารสัตว์เป็นประเด็นที่แยกการควบคุมออกมาให้อยู่ภายใต้หน่วยงาน SENASICA ทั้งนี้ เม็กซิโกมีการนำเข้าอาหารสัตว์ (รหัสสินค้า 2309) ในปี 2010 มูลค่ารวม 244.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยร้อยละ 78 เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 181 ล้านเหรียญฯ แหล่งนำเข้าอาหารสัตว์รองลงมาได้แก่ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 11) จีน (ร้อยละ 4) และอังกฤษ (ร้อยละ 3) 



ส่วนการส่งออกอาหารสัตว์ของไทยในปี 2010 มีมูลค่า 802 ล้านเหรียญฯ ตลาดส่งออกอาหารสัตว์ที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่นมูลค่า 250 ล้านเหรียญฯ และสหรัฐฯ มูลค่า 103 ล้านเหรียญฯ ในปีนั้น

No comments: