Google Website Translator

Wednesday, March 16, 2011

Country Profile: Cuba 2011

ข้อมูลเศรษฐกิจคิวบา


ตั้งอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนเหนือ ที่จุดบรรจบของทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรแอตแลนติก คิวบาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสหรัฐอเมริกาภาคตะวันออก และหมู่เกาะบาฮามาส ทางทิศตะวันตกของเกาะเติร์กและหมู่เกาะเคคอสและประเทศเฮติ ทางทิศตะวันออกของเม็กซิโก และทางทิศเหนือของหมู่เกาะเคย์แมนและเกาะจาเมกา

1.2 ชื่อเป็นทางการ สาธารณรัฐคิวบา (ภาษาสเปน: República de Cuba)
1.3 เมืองหลวง/เมืองท่า/เมืองเศรษฐกิจสำคัญ/ สินค้าสำคัญในแต่ละเมือง

กรุงฮาวานา (เมืองหลวง) ประชากร 2.1 ล้าน โรงบรรจุอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เคมีและเภสัชอุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้างซ่อมเรือ ผลิตรถยนต์ เหล้า สิ่งทอ ยาสูบ กรุงฮาวานาเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของคิวบา

Santiago de Cuba เป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง มีประชากรประมาณ 5 แสนคน เป็นศูนย์บริการท่าเรือ เป็นท่าเรืออันดับสองของคิวบา

1.4 ขนาดพื้นที่ 110,861 ตารางกิโลเมตร (ขนาดใกล้เคียงกับประเทศเกาหลีเหนือ กัวเตมาลา ฮอรดูรัส)
1.5 ประชากร 11.38 ล้านคน
1.6 ทรัพยากรธรรมชาติ แร่โคบาล์ท นิเกิล์ เหล็ก โครเมี่ยม ทองแดง เกลือ ป่าไม้ และน้ำมัน
1.7 ประวัติศาสตร์

ชาวสเปนเดินทางมาถึงเกาะคิวบาครั้งแรกเมื่อ คศ. 1597 แต่ไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนักในระยะแรกเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีชาวอินเดียนอยู่น้อย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในเฮติ คิวบาจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปนแทนที่เฮติ ได้รับเอกราชจากสเปนในปี คศ.1868 โดยการสนับจากสหรัฐฯ แต่แล้วกลับตกมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ แทนจนถึงการยึดอำนาจภายใต้การปกครองระบบคอมมิวนิสต์โดยนายฟิเดล คาสโตรในปี คศ. 1959

เชื้อชาติ ร้อยละ 51 ของประชากรเป็น mulattos (เชื้อสายผสมระหว่างชนผิวขาวกับผิวดำ) ร้อยละ 37 เป็นผู้สืบเชื้อชายจากชาวสเปนโดยแท้จริง ร้อยละ 11 คนผิวดำ ร้อยละ 1 เชื้อสายจีน
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 72 ของประชาการทั้งหมด)
ภาษา ภาษาสเปน

1.8 ระบอบการปกครอง

มีการปกครองแบบระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำ นายราอูล คาสโตร ได้รับการเลือกตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2008 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี สภานิติบัญญัตมาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกของพรรค Partido Comunista de Cuba (PCC) มีสมาชิก 614 คน มีวาระ 5 ปีเช่นเดียวกัน ประเทศคิวบามีเขตพื้นที่การปกครอง 14 จังหวัด และเขตเทศบาลพิเศษ 1 เขต

1.9 ระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

มีเส้นทางถนน จำนวน 60,858 กิโลเมตร ทางเดินรถไฟ 8,598 กิโลเมตร และทางน้ำ 240 กิโลเมตร มีสนามบิน 136 แห่ง สนามบินระหว่างประเทศชื่อว่า Jose Marti International Airport ที่กรุงฮาวานา สายการบินประจำชาติ ชื่อว่า Cubana Airlines นอกจากระบบคมนาคมนมแล้ว ยังมีท่อส่งแก๊ซ 41 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำมัน 230 กิโลเมตร มีเรือเดินทะเลจดทะเบียนภายในประทเศ 5 ลำ และเรือเดินทะเลจากต่างประเทศอีก 6 ลำ จากไซปรัส 1 เนเธอร์แลนด์ อันติลส์ 1 และปานามา 4

2. ข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจโดยทั่วไป
2.1 ข้อมูลพื้นฐานของประเทศคิวบา

ตั้งแต่ปี คศ.1990 เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจคิวบา เพื่อเพิ่มบทบาทของตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เศรษฐกิจของคิวบายังคงประกอบด้วยการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ (state-owned) การเกษตรภาคเอกชน และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการร่วมทุนของต่างชาติในรูปแบบ joint venture เป็นสำคัญ การนำเข้าและส่งออกสินค้าของคิวบาดำเนินการโดย Cuban Enterprise และหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ National Registry of Exporters and Importers หน่วยงานเหล่านี้จะสามารถนำเข้าส่งออกสินค้าในรายการที่ได้ระบุไว้เท่านั้น หากมีการนำเข้าส่งออกสินค้านอกเหนือจากรายการเหล่านั้นจะต้องขออนุญาตต่อกระทรวงการค้าต่างประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดประมาณ 400 บริษัท ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจ บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ และบริษัทที่รัฐมีหุ้นบางส่วน ผู้ที่จะประกอบธุรกิจกับคิวบาจะต้องลงนามในสัญญากับบริษัทที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การค้าระหว่างประเทศของคิวบาดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจและ joint venture บริษัทนำเข้าสินค้าที่สำคัญของคิวบาได้แก่ บริษัท Alimport ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรของรัฐบาล

ตลาดในคิวบาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดสำหรับการนำเข้าเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว และตลาดเพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศ ประกอบด้วยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรและวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมี Cuban Enterprise เป็นผู้ดำเนินการหลัก

เงินที่ใช้ในคิวบามี 2 ประเภท คือ คิวบาเปโซ และ convertible peso (เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า chavito) เงินคิวบาเปโซเป็นสกุลเงินที่ใช้ได้เฉพาะภายในประเทศ ไม่มีมูลค่าสำหรับการเงินระหว่างประเทศ และไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้ ในปี คศ. 1993 รัฐบาลคิวบาให้ประชาชนถือเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในประเทศอย่างถูกกฎหมายได้ มีการใช้จ่ายเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการที่เป็นธุรกิจ‘ luxury’ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ต่อมาในปี 1994 คิวบาประกาศใช้เงิน convertible peso เพื่อใช้แทนเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังสามารถถือเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ในการแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ หากแลกด้วยเงินสหรัฐฯ จะต้องเสียค่าคอมมิสชั่นร้อยละ 10

สรุปข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจคิวบา

2.2 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

คิวบามีเงินทุนสำรองประเทศมูลค่า 4.847 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.3 โครงสร้างการผลิตภายในประเทศคิวบา

ภาคบริการมีสัดส่วนความสำคัญในผลผลิตแห่งชาติร้อยละ 72.9 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 22.7 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 4.2

2.4 ข้อมูลด้านการลงทุนในประเทศ

ประเทศคิวบาได้รับการลงทุนจากต่างประเทศในปี คศ. 2010 มูลค่า 4.847 พันล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนจากต่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคิวบา ภายหลังจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการล่มสลายของรัสเซีย ปัจจุบัน คิวบามีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มีกิจกรรมที่เกิดผลกำไรและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดในปี 2001 คิวบาออกกฎหมายเกี่ยวกับความร่วมมือและสัญญาของธุรกิจโรงแรม นอกจากนี้ คิวบามีการประกันแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยกฎหมายเพื่อปกป้องและคุ้มครองความปลอดภัยของนักลงทุน นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนสามารถโอนรายได้และดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนได้โดยไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม การลงทุนดังกล่าวยังอาจถูกเวนคืนและได้รับเงินชดเชยหากเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสังคมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ปัจจุบันมีนักลงทุนจาก 46 ประเทศลงทุนในกิจการต่าง ๆ 32 สาขา ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจากยุโรป เช่น สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส สาขาหลักที่มีการลงทุนได้แก่ การท่องเที่ยว เหมืองแร่ พลังงาน และธุรกิจด้านการสื่อสาร

3. ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของคิวบา
3.1 ภาพรวมสถานการณ์ทางการค้าของประเทศคิวบา

ในปี คศ. 2010 คิวบามีมูลค่าการส่งออกรวม 3.31 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการส่งออกในปี 2009 ร้อยละ 15 คู่ค้าการส่งออกที่สำคัญได้แก่ ประเทศจีน ในสัดส่วนร้อยละ 25.7 แคนาดาร้อยละ 20.3 สเปนร้อยละ 6.8 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 4.5 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ น้ำตาล นิเกิล์ ยาสูบ ปลา ผลิตภัณฑ์ยา ส้ม และกาแฟ

การนำเข้าในปี 2010 มีมูลค่า 10.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 15 เช่นเดียวกัน โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเวนูซูเอลา ร้อยละ 30.5 (เป็นสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเครื่องจักร) รองลงมามีการนำเข้าจากประเทศจีนร้อยละ 15.5 สเปนร้อยละ 8.3 และสหรัฐฯ ร้อยละ 6.9 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมัน อาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสารเคมี

3.2 นโยบาย/มาตรการทางการค้า ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี

คิวบาใช้ระบบ Harmonized 8 หลักในการระบุรายการสินค้า อัตราภาษี MFN ของคิวบาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15 (ระหว่าง 5-40%) และอัตราภาษีทั่วไปไม่เกินร้อยละ 17 การคำนวณภาษีของคิวบาใช้การคำนวณแบบ ad valorem และไม่มีการเก็บภาษีส่งออก

คิวบาไม่มีข้อจำกัดสำหรับการนำเข้าในแต่ละกรณี เช่น โควตา หรือใบอนุญาตนำเข้า แต่มีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับการนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าจำพวกอาหารและยา เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ และ personal and domestic use products นอกจากนี้ ยังมีมาตรการควบคุมสุขอนามัยพืชที่เข้มงวดสำหรับการนำเข้าส่งออกพืชและส่วนประกอบ ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมมี The National Standardization Office (NC) เป็นผู้ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า ใบรับรองสินค้า การควบคุมคุณภาพ มาตรวัดสินค้า การบริการด้านเอกสารและการตรวจสอบคุณภาพสินค้า

3.3 ความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ

คิวบาได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าระหว่างประเทศ ในปี คศ. 1995 และในปี คศ. 1999 คิวบาได้เข้าเป็นสมาชิก The Latin American Association of Integration (ALADI) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน และในปี คศ. 2005ได้ลงนามในความตกลงด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Trade and Economic Cooperation Agreement) กับประเทศในกลุ่ม CARICOM สำหรับความตกลงในระดับทวิภาคีนั้น คิวบามีความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศปานามา รัสเซีย เวเนซูเอล่า โบลเวีย และยังมีความตกลงพิเศษกับประเทศเวียดนามเพื่อการนำเข้าข้าว อีกด้วย

4. ข้อมูลทางการค้ากับประเทศไทย
4.1 ภาพรวมสถานการณ์/ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างคิวบากับไทย

ไทยและคิวบาได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม คศ. 1958 รัฐบาลคิวบาได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย โดยเริ่มเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม คศ. 2003 ปัจจุบันมีนาง Maria Luisa Fernandez Equilaz เป็นเอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย สำหรับฝ่ายไทย รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกเป็นเอกอัครราชทูตประจำคิวบาอีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี คศ. 2003 ได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำสาธารณรัฐคิวบาขึ้น โดยมีนาย Jorge Manuel Vera Gonzalez ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์

4.2 มูลค่าการค้าของไทยกับคิวบา

ในปี คศ. 2010 การค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับคิวบามีมูลค่ารวม 3.441 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2009 ร้อยละ 20 และลดลงจากปี 2008 ร้อยละ 64 โดยในปี 2010 ไทยเป็นฝ่ายได้ปรียบดุลการค้ามูลค่า 772,899 เหรียญสหรัฐ ไทยมีการส่งออกไปยังคิวบาในปี คศ. 2010 มูลค่า 2.107 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2009 ร้อยละ 32 การนำเข้าจากคิวบาในปี 2010 มีมูลค่า 1.334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2009 ร้อยละ 10

4.3 สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังประเทศคิวบา และสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากคิวบา

สินค้าที่ไทยส่งออกไปคิวบา คือ อาหารทะเล เครื่องซักผ้าและชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ข้าว ท่อยาง และยางรถยนต์ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากคิวบา ซีการ์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยา เลือด และเศษเหล็ก
4.4 สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยสำหรับประเทศคิวบา

ผลิตภัณฑ์กระดาษ สินค้าพลาสติก และผักผลไม้ เคยส่งออกได้ำจำนวนมากมาปี คศ. 2008 แต่ต่อมาในปี 2009 และ 2010 ไม่ได้มีการนำเข้าสินค้าสามรายการดังกล่าว

4.5 ข้อตกลง/ความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับคิวบา

ในปี คศ. 2000 ไทยและคิวบาได้ลงนามใน MOU โดยคิวบาได้สัญญาว่าจะซื้อข้าวจากไทย และได้เสนอการแลกเปลี่ยนข้าวกับน้ำตาลและสินค้าไบโอเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องงดังกล่าว

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2003 ไทยและคิวบาได้ลงนามในความตกลงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-คิวบา (Thailand-Cuba Joint Commission) จัดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง คือ 15 มีนาคม 2004 ที่กรุงเทพฯ และ 13-14 กุมภาพันธ์ 2006 ที่ประเทศคิวบา ในการประชุมครั้งล่าสุด มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้า ได้แก่ การจัดทำ Joint Work Plan เพื่อกำหนดเป้าหมายและกรอบเวลาในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกัน ฝ่ายคิวบาได้เสนอให้กำหนดเป้าหมายในการขยายการค้าจาก 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกำหนดเป้าหมายให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นสองเท่า ในปี 2010 สินค้าสำคัญที่ไทยต้องการให้บรรลุเป้าหมายได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ภายในบ้าน สินค้าอุตสาหกรรม อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่คิวบาต้องการเสนอสินค้าประเภทวัคซีน

ไทยได้จัดคณะผู้แทนเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่คิวบาระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม- 5 พฤศจิกายน คศ.2002 แต่ไม่มีภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว ในการนี้ ผู้แทนฝ่ายไทย ได้เข้าพบหน่วยงานราชการและเอกชนที่สำคัญ เช่น กระทรวงการค้าต่างประเทศ และบริษัท CIMEX Corporation เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน คิวบาจะเริ่มนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยอีกครั้ง และสนใจที่จะส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมายังไทย และภาคเอกชนคิวบาสนใจนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในโรงแรม เครื่องปรับอากาศ สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ในบ้านจากไทย

มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าคิวบา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม คศ. 2004 ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2006 นาง Maria Luisa Fernandez Equilaz เอกอัครราชทูตสาธารณรรัฐคิวบาประจำประเทศไทยได้เข้าพบกับประธานกรรมการหอการค้าไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยและคิวบา โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการจัดคณะผู้แทนทางธุรกิจระหว่างกัน ร่วมประชาสัมพันธ์เผยแพร่งานแสดงสินค้าของแต่ละประเทศ และไทยยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและคิวบา

4.6 ปัญหา/อุปสรรค/ประเด็นทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับคิวบา

ไทยประสบอุปสรรคในการส่งออกข้าวไปยังคิวบา อุปสรรคที่สำคัญคือปัญหาเรื่องการชำระเงิน เนื่องจากคิวบาต้องการขอเครดิตระยะยาว และธนาคารในประเทศไทยไม่สามารถรับรอง L/C ที่ออกโดยธนาคารคิวบาได้ เนื่องจากคิวบาถูกจัดอันดับโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในเรื่องการเมือง ทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องหาธนาคารจากประเทศที่ 3 เป็นผู้รับรอง L/C หรือส่งออกข้าวโดยผ่านประเทศที่ 3 ซึ่งทำให้สินค้ามีต้นทุนสูงขึ้น

4.7 การท่องเที่ยวในประเทศคิวบา

มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศคิวบา ปี คศ. 2008 จำนวน 2,316,000 คน ภาคการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก แต่ยังขาดการลงทุนในการสร้างโรงแรม ในขณะนี้ รัฐบาลของคิวบาต้องการส่งเสริมให้มีการสร้างสนามกอลฟ์ และท่าเรือสำหรับเรือสำราญ

5. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยราชการ/ รัฐวิสาหกิจไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทางการค้าของประเทศนั้น

5.1 กระทรวงการค้าต่างประเทศคิวบา
website: http://america.cubaminrex.cu/

5.2 หอการค้าคิวบา
website: www.camaracuba.cu

6. รายชื่อ ที่ติดต่อหน่วยงานส่งเสริมการค้าของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทย

สถานทูตคิวบาประจำประเทศไทย
Mela Mansion Apt. 3C, 5 สุขุมวิท 27
ถนนสุขุมวิท คลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-665-2803
โทรสาร : 02-661-6560
E-mail: cubaemb1@loxinfo.co.th

No comments: